คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2645/2536

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ฎีกาของโจทก์มี 3 ข้อ กล่าวคือ ข้อ 1. เป็นคำฟ้อง คำให้การของจำเลยทั้งสอง คำพิพากษาศาลชั้นต้น และคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ข้อ 2. โจทก์นำคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นมาเขียนไว้เกือบทั้งหมด และข้อ 3.โจทก์เขียนไว้ในฎีกาเพียงว่า “โจทก์ขอถือเอาคำอุทธรณ์ของโจทก์เป็นส่วนหนึ่งของคำฎีกาโจทก์” กับท้ายฎีกาของโจทก์ระบุว่า ดังนั้นขอศาลฎีกาได้โปรดพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าเสียหายจำนวน395,147 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ฎีกาของโจทก์เช่นนี้เป็นฎีกาที่โจทก์มิได้โต้แย้งคัดค้านว่าศาลอุทธรณ์พิพากษาไม่ชอบและโจทก์ไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์เพราะเหตุใด คำอุทธรณ์ของโจทก์ที่โจทก์ขอถือเป็นส่วนหนึ่งของคำฎีกาโจทก์นั้นก็เป็นการคัดค้านเฉพาะคำพิพากษาศาลชั้นต้น ไม่อาจนำมาเป็นคำคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ได้ ฎีกาของโจทก์จึงเป็นฎีกาที่มิได้ยกข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายขึ้นอ้างอิงไว้โดยชัดแจ้ง ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคแรก (เดิม)ศาลฎีกาไม่อาจรับวินิจฉัยฎีกาของโจทก์ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ประสงค์จะให้เช่าที่ดินของจำเลยที่ 1บริเวณริมถนนกำแพงเพชร 2 แต่จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 ไม่ตรวจสอบให้ดีเสียก่อนว่าที่ดินที่จะให้เช่าอยู่ในแนวเขตที่จะแบ่งให้ใช้สร้างถนนรัชดาภิเษก หรือไม่จำเลยที่ 2 ได้ออกประกาศให้เช่าที่ดินดังกล่าวซึ่งอยู่ในแนวเขตที่จะแบ่งให้ใช้สร้างถนนรัชดาภิเษก ทั้งนี้ ด้วยความประมาทเลินเล่อของจำเลยทั้งสอง เป็นเหตุให้โจทก์หลงเชื่อ และโจทก์ได้เข้าทำสัญญาเช่าที่ดินกับจำเลยที่ 1 เพื่อใช้เป็นที่จอดรถและอู่ซ่อมรถโดยเสียค่าเช่าที่ดินเป็นรายปี ปีละ 56,100 บาท โจทก์ได้ปลูกสร้างอาคารอู่ซ่อมรถตามแบบที่ได้รับอนุญาตในที่ดินที่เช่าเสียค่าก่อสร้างเป็นเงิน 300,000 บาท แต่โจทก์ต้องรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างภายหลังและไม่อาจใช้ที่ดินที่เช่าได้เพราะเป็นที่ดินอยู่ในเขตที่จำเลยที่ 1จะแบ่งให้ใช้สร้างถนนรัชดาภิเษกดังกล่าวและถูกเวนคืนตามพระราชบัญญัติเวนคืน การกระทำของจำเลยทั้งสองทำให้โจทก์เสียหาย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าเสียหายจำนวน395,147 บาท ให้แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การว่า ที่ดินที่คณะกรรมการของจำเลยที่ 1 แบ่งให้ทำถนนรัชดาภิเษกไม่ใช่แปลงเดียวกันกับที่ให้โจทก์เช่าและไม่ได้ถูกเวนคืน โจทก์บอกเลิกสัญญาเช่าเพราะโจทก์เข้าใจผิดเองว่าที่ดินถูกเวนคืนแล้วจำเลยทั้งสองจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า ให้จำเลยที่ 1 ใช้เงินจำนวน 100,000 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 2 คำขอนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์และจำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ชดใช้เงิน28,000 บาท ให้แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2528 เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปรากฏว่าฎีกาของโจทก์มี 3 ข้อกล่าวคือ ข้อ 1. เป็นคำฟ้อง คำให้การของจำเลยทั้งสอง คำพิพากษาศาลชั้นต้นและคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ข้อ 2. โจทก์นำคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นมาเขียนไว้เกือบทั้งหมดและข้อ 3. โจทก์เขียนไว้ในฎีกาเพียงว่า “โจทก์ขอถือเอาคำอุทธรณ์ของโจทก์เป็นส่วนหนึ่งของคำฎีกาโจทก์” กับท้ายฎีกาของโจทก์ระบุว่า ดังนั้น ขอศาลฎีกาได้โปรดพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าเสียหายจำนวน 395,147 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ เห็นว่า ฎีกาของโจทก์เช่นนี้ เป็นฎีกาที่โจทก์มิได้โต้แย้งคัดค้านว่าศาลอุทธรณ์พิพากษาไม่ชอบ และโจทก์ไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์เพราะเหตุใด คำอุทธรณ์ของโจทก์ที่โจทก์ขอถือเป็นส่วนหนึ่งของคำฎีกาโจทก์นั้นก็เป็นการคัดค้านเฉพาะคำพิพากษาศาลชั้นต้น ไม่อาจนำมาเป็นคำคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ได้ฎีกาของโจทก์จึงเป็นฎีกาที่มิได้ยกข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายขึ้นอ้างอิงไว้โดยชัดแจ้ง ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 249 วรรคแรก (เดิม) ศาลฎีกาไม่อาจรับวินิจฉัยฎีกาของโจทก์ได้
พิพากษายกฎีกาของโจทก์ ให้คืนค่าธรรมเนียมศาลชั้นฎีกาทั้งหมดให้โจทก์ ส่วนค่าทนายความในชั้นฎีกาของจำเลยที่ 1 ให้เป็นพับ

Share