คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2311/2536

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ที่ดินซึ่งเป็นที่สำหรับพลเมืองใช้เป็นทุ่งเลี้ยงสัตว์ร่วมกันมาก่อน ย่อมมีสภาพเป็นที่ดินอันเป็นสาธารณประโยชน์ของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1304(2) โดยไม่จำต้องออกเป็นพระราชกฤษฎีกาประกาศเขตที่ดินเพื่อสงวนไว้เป็นที่ดินสาธารณะ ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการหวงห้ามที่ดินรกร้างว่างเปล่าอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน พ.ศ. 2478 มาตรา 4,5 อีก โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองเข้าไปยึดถือครอบครองที่ดินของรัฐอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน อันเป็นการฝ่าฝืนประมวลกฎหมายที่ดินฯ มาตรา 9,108 ทวิ ศาลที่มีอำนาจชำระคดีอาญาย่อมมีอำนาจที่จะวินิจฉัยว่า ที่ดินตามฟ้องเป็นที่ดินของรัฐอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันหรือไม่ เพราะเป็นองค์ความผิดตามบทมาตราที่โจทก์อ้าง ไม่จำต้องเสนอเป็นคดีแพ่งให้ศาลวินิจฉัยชี้ขาดเสียก่อน จึงไม่เป็นการพิพากษาเกินไปจากที่โจทก์กล่าวในฟ้อง ส่วนการที่จะได้มีการดำเนินการตามกฎกระทรวงฉบับที่ 26(พ.ศ. 2516) ซึ่งออกตามความในพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดินหรือไม่ ไม่เกี่ยวข้องหรือกระทบต่ออำนาจฟ้องของโจทก์ แม้ระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น จะมีพระราชกฤษฎีกาถอนสภาพที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันในท้องที่ตามฟ้องก็ตาม ก็เพียงแต่มีผลทำให้ที่ดินที่จำเลยเข้าไปยึดถือครอบครองนั้น ไม่มีสภาพเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับประชาชนใช้ร่วมกันต่อไปตั้งแต่วันที่พระราชกฤษฎีกาดังกล่าวใช้บังคับเท่านั้น มิใช่เป็นกฎหมายที่บัญญัติให้การเข้าไปยึดถือ ครอบครองที่ดินของรัฐซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับประชาชนใช้ร่วมกันไม่เป็นความผิดต่อไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 2

ย่อยาว

คดีทั้งสองสำนวน ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษารวมกันโดยให้เรียกจำเลยในสำนวนแรกว่า จำเลยที่ 1 และเรียกจำเลยในสำนวนหลังว่าจำเลยที่ 2
โจทก์ทั้งสองสำนวนฟ้องว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้บุกรุกเข้าไปยึดถือครอบครองก่นสร้างที่ดินของรัฐ ซึ่งเป็นที่ดินสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ประชาชนใช้ร่วมกัน โดยจำเลยทั้งสองมิได้มีสิทธิครอบครอง และมิได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 9, 108 ทวิ และให้จำเลยทั้งสองและบริวารออกจากที่ดินของรัฐด้วย
จำเลยทั้งสองสำนวนให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 9, 108 ทวิ (ที่ถูก มาตรา108 ทวิ วรรคสอง) ลงโทษจำคุกคนละ 2 เดือน และปรับคนละ 2,000 บาทพิเคราะห์ถึงพฤติการณ์แห่งคดี และสภาพแห่งความผิดประกอบกับไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้งสองเคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน จึงเห็นสมควรรอการลงโทษจำคุกจำเลยทั้งสองไว้มีกำหนด 1 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 56 หากจำเลยไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 29, 30 และให้จำเลยทั้งสองและบริวารออกจากที่ดินของรัฐ
จำเลยทั้งสองสำนวนอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน
จำเลยทั้งสองสำนวนฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีนี้ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาจำเลยทั้งสองเฉพาะปัญหาข้อกฎหมาย ข้อเท็จจริงจึงฟังเป็นยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 และที่คู่ความนำสืบรับกันว่า ที่ดินที่จำเลยทั้งสองเข้ายึดถือครอบครอง ก่นสร้างเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินบริเวณทุ่งเขาพระ ตำบลหนองบัว อำเภอหนองบัว จังหวัดนครสวรรค์เป็นที่ดินสำหรับพลเมืองใช้เป็นทุ่งเลี้ยงสัตว์ร่วมกันมาก่อนอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ประชาชนใช้ร่วมกันซึ่งทางราชการได้ขึ้นทะเบียนไว้เป็นที่ดินของรัฐ ประเภทสาธารณประโยชน์ตั้งแต่ปี 2492 ปรากฏตามแผนที่เอกสารหมาย จ.12 ต่อมาปี 2511 ทางราชการต้องการออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง แต่มีราษฎรส่วนหนึ่งคัดค้านไม่ยอมออกไปจากที่ดินบริเวณดังกล่าว เมื่อปี 2524 นายกรัฐมนตรีได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อพิจารณาปัญหาข้อพิพาทในที่ดินจนกระทั่งปี 2530 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้กันที่ดินดังกล่าวไว้เป็นทุ่งเลี้ยงสัตว์ส่วนหนึ่ง อีกส่วนหนึ่งให้จัดสรรแบ่งแก่ราษฎรซึ่งอยู่ในที่ดินบริเวณนั้นเพื่อเป็นการแก้ปัญหาข้อพิพาทที่ดินส่วนนี้ ต่อมาได้มีพระราชกฤษฎีกาถอนสภาพที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันท้องที่ตำบลหนองบัว อำเภอหนองบัว จังหวัดนครสวรรค์ พ.ศ. 2533 ที่ดินที่จำเลยทั้งสองยึดถือครอบครองก็อยู่ในส่วนที่มีพระราชกฤษฎีกาถอนสภาพที่ดินดังกล่าวที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่า ที่ดินตามแผนที่เอกสารหมาย จ.12ยังถือไม่ได้ว่าเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันเพราะยังไม่ได้ออกเป็นพระราชกฤษฎีกาและประกาศในราชกิจจานุเบกษาตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการหวงห้ามที่ดินรกร้างว่างเปล่าอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน พ.ศ. 2478 มาตรา 4, 5 และที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2วินิจฉัยว่า ที่ดินแปลงพิพาทดังกล่าวเป็นที่สาธารณประโยชน์ทุ่งเลี้ยงสัตว์ที่ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกัน จำเลยทั้งสองไม่มีสิทธิครอบครอง ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 192 วรรคแรก เพราะเป็นอำนาจของศาลในคดีแพ่งที่จะเป็นผู้วินิจฉัยชี้ขาดตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 26 (พ.ศ. 2516) ออกตามความในพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. 2497 การที่โจทก์ดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งสองก่อนที่จะดำเนินการตามกฎกระทรวงฉบับดังกล่าว จึงไม่มีอำนาจฟ้องนั้น เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า ที่ดินตามแผนที่เอกสารหมาย จ.12 เป็นที่ดินสำหรับพลเมืองใช้เป็นทุ่งเลี้ยงสัตว์ร่วมกันมาก่อน จึงมีสภาพเป็นที่ดินอันเป็นสาธารณประโยชน์ของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1304(2) หาจำต้องออกเป็นพระราชกฤษฎีกาประกาศเขตที่ดินเพื่อสงวนไว้เป็นที่ดินสาธารณะไม่คำพิพากษาฎีกาที่จำเลยอ้าง ข้อเท็จจริงไม่ตรงกับคดีนี้เมื่อโจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองเข้าไปยึดถือครอบครอง ก่นสร้างที่ดินของรัฐอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันเป็นการฝ่าฝืนประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 9, 108 ทวิ ศาลที่มีอำนาจชำระคดีรวมทั้งศาลอุทธรณ์ภาค 2 ย่อมมีอำนาจที่จะวินิจฉัยว่า ที่ดินตามฟ้องเป็นที่ดินของรัฐอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันหรือไม่ เพราะเป็นองค์ความผิดตามบทมาตราที่โจทก์อ้างหาใช่เรื่องที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาเกินไปจากที่โจทก์กล่าวในฟ้องดังฎีกาของจำเลยไม่ ส่วนกฎกระทรวงฉบับที่จำเลยอ้างข้อ 2ตอนท้ายที่ระบุว่า “…ถ้ามีผู้คัดค้าน ให้อธิบดีรอการออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงไว้จนกว่าจะได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดของศาลแสดงว่า ผู้คัดค้านไม่มีสิทธิในที่ดินนั้น” มีความหมายว่าการพิสูจน์สิทธิของผู้คัดค้านเป็นเพียงเงื่อนไขในการออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงเท่านั้น หาได้กำหนดว่าจะต้องเสนอเป็นคดีแพ่งเพื่อให้ศาลวินิจฉัยชี้ขาดไม่ การฟ้องจำเลยทั้งสองในคดีนี้จึงเป็นการพิสูจน์สิทธิในที่ดินไปในตัว เท่ากับได้ดำเนินการตามกฎกระทรวงฉบับดังกล่าวแล้ว ทั้งการที่จะดำเนินการตามกฎกระทรวงฉบับดังกล่าวหรือไม่ หาเกี่ยวข้องหรือกระทบต่ออำนาจฟ้องของโจทก์ไม่ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง ฎีกาข้อนี้ของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น จำเลยทั้งสองฎีกาในข้อต่อไปว่า ในระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้น มีพระราชกฤษฎีกาถอนสภาพที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันในท้องที่ตำบลหนองบัว อำเภอหนองบัว จังหวัดนครสวรรค์ พ.ศ. 2533การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงไม่เป็นความผิดตามฟ้องอีกต่อไป เห็นว่าจำเลยมีความผิดฐานเข้าไปยึดถือครอบครองที่ดินของรัฐซึ่งเป็นที่ดินสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับประชาชนใช้ร่วมกันโดยมิได้รับอนุญาต หรือมีสิทธิครอบครองตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 9,108 ทวิ วรรคสอง แม้ต่อมาจะมีพระราชกฤษฎีกาถอนสภาพที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันในท้องที่ดังกล่าวพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวเพียงแต่มีผลทำให้ที่ดินที่จำเลยเข้าไปยึดถือครอบครองนั้นไม่มีสภาพเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับประชาชนใช้ร่วมกันอีกต่อไปตั้งแต่วันที่พระราชกฤษฎีกาดังกล่าวใช้บังคับเท่านั้น มิใช่กฎหมายที่บัญญัติให้การเข้าไปยึดถือครอบครองที่ดินของรัฐซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับประชาชนใช้ร่วมกันไม่เป็นความผิดต่อไป ตามมาตรา 2 แห่งประมวลกฎหมายอาญาฎีกาของจำเลยทั้งสองในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น ส่วนที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่าคณะกรรมการพิจารณาปัญหาข้อพิพาทในที่ดินไม่จัดให้จำเลยทั้งสองเข้าซื้อที่ดินที่จำเลยทั้งสองครอบครองอยู่ก่อน เป็นการขัดต่อมติของคณะรัฐมนตรีนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า ถึงอย่างไรก็ไม่มีผลเปลี่ยนแปลงคำวินิจฉัยของศาลเป็นอย่างอื่นได้ ฎีกาข้อนี้จึงไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัย ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาชอบแล้ว”
พิพากษายืน

Share