คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15204/2557

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ศาลพิพากษาให้โจทก์และ ด. ร่วมกันใช้ค่าสินไหมทดแทนพร้อมด้วยค่าฤชาธรรมเนียมแก่ผู้เสียหาย ตามคดีซึ่งคดีถึงที่สุดแล้ว เมื่อโจทก์ได้ใช้เงินให้แก่ผู้เสียหายไปตามคำพิพากษาแล้ว ย่อมรับช่วงสิทธิของเจ้าหนี้ไล่เบี้ยเอาแก่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 8 ในฐานะทายาทผู้สืบสิทธิของเจ้ามรดกผู้ทำละเมิดตามสัญญารถร่วมได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 229 (3) กรณีมิใช่โจทก์ฟ้องร้องบังคับตามสิทธิเรียกร้องอันมีต่อเจ้ามรดก เพราะสิทธิเรียกร้องของโจทก์เกิดขึ้นหลังจากเจ้ามรดกถึงแก่ความตายไปแล้ว จึงนำอายุความตามมาตรา 1754 วรรคสาม มาใช้บังคับไม่ได้ สิทธิเรียกร้องนี้ไม่มีกฎหมายบัญญัติอายุความไว้ จึงต้องถือว่ามีอายุความสิบปีตามมาตรา 193/30 เมื่อสิทธิไล่เบี้ยของโจทก์เพิ่งมีขึ้นนับแต่วันที่โจทก์ได้ชำระค่าสินไหมทดแทนเป็นต้นไป การนับอายุความจึงต้องเริ่มนับแต่ขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้ตาม มาตรา 193/12 ซึ่งเป็นวันที่โจทก์ได้ชำระหนี้ให้แก่ผู้เสียหายตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น
หนังสือสัญญาค้ำประกันซึ่งจำเลยที่ 9 ทำไว้ให้แก่โจทก์เพื่อเป็นประกันสัญญารถร่วมระหว่างโจทก์กับผู้ตายอยู่ในเล่มเดียวกับหนังสือสัญญารถร่วม มีข้อความระบุว่า จำเลยที่ 9 ยอมรับผิดต่อโจทก์กรณีผู้ตายทำสัญญารถร่วมไว้กับโจทก์ตามหนังสือสัญญาลงวันที่ 28 มิถุนายน 2526 ซึ่งกำหนดเวลาของสัญญารถร่วมระบุไว้ในข้อ 9 ว่า สัญญาฉบับดังกล่าวมีอายุจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2526 โดยไม่ปรากฏว่าเมื่อครบกำหนดแล้วผู้ตายไปต่อสัญญารถร่วมในปีต่อมา หรือหลังจากผู้ตายถึงแก่ความตายและจำเลยที่ 1 ไปต่อสัญญารถร่วม จำเลยที่ 9 ได้ไปทำสัญญาค้ำประกันการต่อสัญญารถร่วมให้ไว้แก่โจทก์อีก หรือยินยอมให้หนังสือสัญญาค้ำประกันที่ทำไว้มีผลต่อไป อีกทั้งในหนังสือสัญญาค้ำประกันก็ไม่มีข้อความระบุว่าหากมีการต่อสัญญารถร่วมให้ถือว่าการค้ำประกันของจำเลยที่ 9 มีผลต่อไปด้วย ซึ่งสัญญาค้ำประกันเป็นสัญญาที่ผู้ค้ำประกันมีความรับผิดแต่เพียงฝ่ายเดียว การตีความจึงต้องเป็นไปโดยเคร่งครัด ความผูกพันตามสัญญาค้ำประกันของจำเลยที่ 9 ย่อมสิ้นไปเมื่อสัญญารถร่วมครบกำหนดในวันที่ 31 ธันวาคม 2526 เมื่อเหตุรถคันพิพาทชนกับรถคันอื่น เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 17 เมษายน 2537 จำเลยที่ 9 จึงไม่ต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งเก้าร่วมกันชำระเงิน 12,668,852 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 11,784,979.10 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 9 ให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นพิพากษาใหม่ตามรูปคดี
ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้ศาลชั้นต้นรวมสั่งเมื่อมีคำพิพากษาใหม่
จำเลยทั้งเก้าฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า จำเลยที่ 1 เป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมาย และเป็นผู้จัดการมรดกของนายทรง ผู้ตาย จำเลยที่ 2 ถึงที่ 8 เป็นบุตรจำเลยที่ 1 กับผู้ตาย เมื่อปี 2526 ผู้ตายทำสัญญารถร่วมกับโจทก์นำรถคันพิพาทหมายเลขทะเบียน 10 – 0261 สิงห์บุรี เข้าร่วมในกิจการรับส่งคนโดยสารกับโจทก์ ในเส้นทางเดินรถสายสุพรรณบุรี – โคกสำโรง สัญญามีผลถึงวันที่ 17 ธันวาคม 2538 เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2532 ผู้ตายถึงแก่ความตาย ต่อมาวันที่ 17 เมษายน 2537 รถคันพิพาทเกิดอุบัติเหตุชนกับรถคันหมายเลขทะเบียน 4 อ – 8572 กรุงเทพมหานคร ที่อำเภอทองแสนขัน จังหวัดอุตรดิตถ์ เป็นเหตุให้ผู้โดยสารถึงแก่ความตายและได้รับบาดเจ็บ ผู้เสียหายจากอุบัติเหตุดังกล่าวได้เป็นโจทก์ยื่นฟ้องโจทก์เป็นจำเลยที่ 3 ต่อศาลชั้นต้น ในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 6790/2542 เรียกค่าสินไหมทดแทน ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาให้โจทก์และนายอดิเรกร่วมกันใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้เสียหาย คดีถึงที่สุด วันที่ 30 มีนาคม 2543 โจทก์นำเงิน 11,784,979.20 บาท ไปวางต่อศาลชั้นต้นเพื่อชำระหนี้ตามคำพิพากษา และได้ทวงถามให้จำเลยทั้งเก้าชำระเงินดังกล่าวแก่โจทก์ จำเลยทั้งเก้าไม่ชำระโจทก์จึงฟ้องคดีนี้ เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2544
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งเก้าว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ เห็นว่า ศาลพิพากษาให้โจทก์และนายดิเรกร่วมกันใช้ค่าสินไหมทดแทนพร้อมด้วยค่าฤชาธรรมเนียมแก่ผู้เสียหาย ตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 6790/2542 คดีถึงที่สุดแล้ว เมื่อโจทก์ได้ใช้เงินแก่ผู้เสียหายไปตาม
คำพิพากษาแล้ว ย่อมรับช่วงสิทธิของเจ้าหนี้ไล่เบี้ยเอาแก่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 8 ในฐานะทายาทผู้สืบสิทธิตามสัญญารถร่วมได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 229 (3) กรณีมิใช่โจทก์ฟ้องร้องบังคับตามสิทธิเรียกร้องอันมีต่อเจ้ามรดก เพราะสิทธิเรียกร้องของโจทก์เกิดขึ้นหลังจากเจ้ามรดกถึงแก่ความตายไปแล้ว จึงนำอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 วรรคสาม มาใช้บังคับไม่ได้ สิทธิเรียกร้องนี้ไม่มีกฎหมายบัญญัติอายุความไว้ จึงต้องถือว่ามีอายุความสิบปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 เมื่อสิทธิไล่เบี้ยของโจทก์เพิ่งมีขึ้นนับแต่วันที่โจทก์ได้ชำระ
ค่าสินไหมทดแทนเป็นต้นไป การนับอายุความจึงต้องเริ่มนับแต่ขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้
ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/12 คือ วันที่ 30 มีนาคม 2543 ซึ่งเป็นวันที่โจทก์ได้ชำระหนี้ให้แก่ผู้เสียหายตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น โจทก์นำคดีมาฟ้อง เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2544 ยังไม่พ้นสิบปีนับแต่โจทก์มีสิทธิเรียกร้องเอาแก่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 8 ฟ้องของโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ
ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของจำเลยทั้งเก้าฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยประการต่อไปมีว่า จำเลยที่ 9 ต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์ในฐานะผู้ค้ำประกันหรือไม่ เห็นว่า หนังสือสัญญาค้ำประกันซึ่งจำเลยที่ 9 ทำไว้ให้แก่โจทก์เพื่อเป็นประกันสัญญารถร่วมระหว่างโจทก์กับผู้ตายอยู่ในเล่มเดียวกับหนังสือสัญญารถร่วม อยู่ในหน้า 28 ถึงหน้า 30 มีข้อความระบุว่า จำเลยที่ 9 ยอมรับผิดต่อโจทก์กรณีผู้ตายทำสัญญารถร่วมไว้กับโจทก์ตามหนังสือสัญญาลงวันที่ 28 มิถุนายน 2526 ซึ่งกำหนดเวลาของสัญญารถร่วมระบุไว้ในข้อ 9 ว่า สัญญาฉบับดังกล่าวมีอายุจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2526 โดยไม่ปรากฏว่าเมื่อครบกำหนดแล้วผู้ตายไปต่อสัญญารถร่วมในปีต่อมา หรือหลังจากผู้ตายถึงแก่ความตายและจำเลยที่ 1 ไปต่อสัญญารถร่วม จำเลยที่ 9 ได้ไปทำสัญญาค้ำประกันการต่อสัญญารถร่วมให้ไว้แก่โจทก์อีก หรือยินยอมให้หนังสือสัญญาค้ำประกันที่ทำไว้มีผลต่อไป อีกทั้งในหนังสือสัญญาค้ำประกัน ก็ไม่มีข้อความระบุว่าหากมีการต่อสัญญารถร่วมให้ถือว่าการค้ำประกันของจำเลยที่ 9 มีผลต่อไปด้วยแต่อย่างไร ซึ่งสัญญาค้ำประกันเป็นสัญญาที่ผู้ค้ำประกันมีความรับผิดแต่เพียงฝ่ายเดียว การตีความจึงต้องเป็นไปโดยเคร่งครัด ความผูกพันตามสัญญาค้ำประกันของจำเลยที่ 9 ย่อมสิ้นไปเมื่อสัญญารถร่วม ครบกำหนดในวันที่ 31 ธันวาคม 2526 เมื่อเหตุรถคันพิพาทชนกับรถคันหมายเลขทะเบียน 4 อ – 8572 กรุงเทพมหานคร เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 17 เมษายน 2537 จำเลยที่ 9 จึงไม่ต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์ พิพากษาให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 8 ชำระเงินจำนวน 11,784,979.10 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันที่ 30 มีนาคม 2543 เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 29 มีนาคม 2544) ต้องไม่เกิน 883,872.42 บาท ทั้งนี้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 8 ไม่ต้องรับผิดเกินทรัพย์มรดกของนายทรง ที่ตกได้แก่ตน ให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 8 ร่วมกันชำระค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความรวม 50,000 บาท
ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 9 ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 9 ทั้งสามศาลให้เป็นพับ

Share