คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15201/2558

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ข้อกำหนดในพินัยกรรมที่มิได้กำหนดให้บุคคลใดได้รับทรัพย์มรดก เพียงแต่ให้ผู้จัดการมรดกจ่ายเงินช่วยเหลือแก่ผู้มีชื่อตามความจำเป็น นับว่าเป็นการไม่กำหนดตัวบุคคลแน่นอนให้เป็นผู้รับพินัยกรรม ทั้งระบุไว้ไม่ชัดแจ้งจนไม่อาจที่จะทราบแน่นอนได้ว่าให้ทรัพย์สินแก่บุคคลหนึ่งบุคคลใดจำนวนมากน้อยเพียงใดตามแต่ใจของผู้ร้องและผู้คัดค้านที่ 1 ซึ่งเป็นผู้จัดการทรัพย์มรดก จึงตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 1706 (2) และ (3) และเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาเห็นสมควรอาศัยอำนาจตาม ป.วิ.พ. มาตรา 247 ประกอบมาตรา 246 ยกขึ้นวินิจฉัยตามมาตรา 142 (5)
แม้ข้อกำหนดในพินัยกรรมตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 1706 (2) และ (3) แต่พินัยกรรมในส่วนที่เจ้ามรดกแสดงเจตนาตั้งผู้จัดการมรดกยังคงสมบูรณ์ หาตกเป็นโมฆะไปด้วยไม่

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องจากศาลชั้นต้นมีคำสั่งเมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2554 ตั้งนางกรรณภรณ์ ผู้ร้อง เป็นผู้จัดการมรดกของนายมิลินท์ ผู้ตาย
ผู้คัดค้านทั้งสามยื่นคำร้องขอให้ถอนผู้ร้องออกจากการเป็นผู้จัดการมรดกและตั้งผู้คัดค้านที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย
ผู้ร้องยื่นคำคัดค้าน ขอให้ยกคำร้องขอ
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ถอนนางกรรณภรณ์ ผู้ร้อง จากการเป็นผู้จัดการมรดกของนายมิลินท์ ผู้ตาย คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับว่า ให้ยกคำร้องขอของผู้คัดค้านทั้งสามค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ
ผู้คัดค้านทั้งสามฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้คัดค้านทั้งสามว่า มีเหตุผลสมควรถอนผู้ร้องออกจากการเป็นผู้จัดการมรดกหรือไม่ พิเคราะห์แล้ว ทรัพย์มรดกตามพินัยกรรม มีอยู่ 5 รายการ ได้แก่ 1) อาคารเลขที่ 321, 321/1 และ 323 พร้อมที่ดินโฉนดเลขที่ 2741, 2742, 2743 ตำบลถนนสี่พระยา กรุงเทพมหานคร โดยเจ้ามรดกมีกรรมสิทธิ์รวมอยู่ 1 ใน 4 ส่วน 2) อาคารพร้อมที่ดินโฉนดเลขที่ 4868 ตำบลพัทยาใต้ อำเภอหนองปรือ จังหวัดชลบุรี 3) บ้านพร้อมที่ดินโฉนดเลขที่ 13725 ตำบลหัวหมาก ถนนรามคำแหง อำเภอบางกะปิ กรุงเทพมหานคร 4) เงินฝากในธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สาขาหัวหมาก 2 บัญชี 5) เงินฝากในธนาคารออมสิน สาขาถนนเพชรบุรี 2 บัญชี ทรัพย์มรดกทั้ง 5 รายการดังกล่าว เจ้ามรดกกำหนดในพินัยกรรมเพียงว่าทรัพย์รายการที่ 1 หากมีการขายทรัพย์กรรมสิทธิ์รวมเกิดขึ้น หรือในกรณีที่ยังไม่มีการขายเกิดขึ้น ให้นำเงินส่วนที่ได้จากการขายหรือเงินค่าเช่าและผลประโยชน์ ฝากเข้าบัญชีเงินฝากของเจ้ามรดกในธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สาขาหัวหมาก ทรัพย์รายการที่ 2 ที่ 3 ให้นำเงินที่ได้จากการขายหรือให้เช่า ฝากเข้าบัญชีเงินฝากของเจ้ามรดกในธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สาขาหัวหมาก เช่นเดียวกัน โดยให้ผู้ร้องและผู้คัดค้านที่ 1 ซึ่งเจ้ามรดกระบุชื่อในพินัยกรรมให้เป็นผู้จัดการทรัพย์มรดกดังกล่าว มีอำนาจเพียง 1) ตรวจสภาพทรัพย์และผลประโยชน์ของทรัพย์รายการที่ 1 กับรับเงินค่าเช่าและผลประโยชน์อันเป็นดอกผลของทรัพย์ หรือราคาที่ได้จากการขายทรัพย์ดังกล่าวตามส่วนของเจ้ามรดกรวมทั้งทรัพย์รายการที่ 2 ที่ 3 ฝากเข้าบัญชีเงินฝากของเจ้ามรดกในธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สาขาหัวหมาก 2) ถอนและนำเงินจากบัญชีเงินฝากของเจ้ามรดกในธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สาขาหัวหมาก ทั้ง 2 บัญชี และในธนาคารออมสิน สาขาถนนเพชรบุรี อีก 2 บัญชี มาบำรุงรักษาผู้ที่อยู่อาศัยร่วมกัน โดยระบุชื่อบุคคลที่มีสิทธิได้รับเงินช่วยเหลือจากกองมรดกตามความจำเป็น และให้อำนาจผู้ร้องและผู้คัดค้านที่ 1 คนใดคนหนึ่งมีสิทธิพิจารณาไม่ให้ความช่วยเหลือบุคคลดังกล่าวได้ โดยบุคคลนั้น ๆ ไม่มีสิทธิฟ้องร้องผู้ร้องหรือผู้คัดค้านที่ 1 เห็นว่า ตามข้อความในพินัยกรรมเจ้ามรดกมิได้กำหนดบุคคลใดเป็นทายาทที่จะได้รับทรัพย์มรดกตกทอดโดยพินัยกรรม อันจะสามารถเรียกว่าผู้รับพินัยกรรมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 6 ลักษณะ 1 บทเบ็ดเสร็จทั่วไป หมวด 1 การตกทอดแห่งทรัพย์มรดก มาตรา 1603 วรรคสาม ข้อความตามพินัยกรรมมีลักษณะเป็นพินัยกรรมที่ตั้งผู้ปกครองทรัพย์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 6 ลักษณะ 3 หมวด 4 ซึ่งจะมีได้แต่การทำพินัยกรรมยกทรัพย์มรดกให้แก่บุคคลผู้หย่อนความสามารถ เช่น ผู้เยาว์ คนไร้ความสามารถ คนเสมือนไร้ความสามารถ หรือบุคคลซึ่งต้องรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลเพราะเหตุวิกลจริตตามมาตรา 1687 วรรคหนึ่ง เท่านั้น เมื่อพินัยกรรมไม่กำหนดให้มีทายาทเป็นผู้รับมรดกตกทอด มีเพียงกำหนดตัวบุคคลผู้มีสิทธิจะได้รับผลประโยชน์ในดอกผลจากทรัพย์มรดก ส่วนผู้ร้องและผู้คัดค้านที่ 1 ซึ่งพินัยกรรมระบุให้เป็นผู้จัดการมรดกก็ไม่มีอำนาจจัดการแบ่งปันทรัพย์มรดกให้แก่บุคคลตามพินัยกรรม มีหน้าที่เพียงรวบรวมเงินดอกผลของทรัพย์มรดกหรือเงินที่ได้จากการขายทรัพย์มรดกมาฝากเข้าบัญชีเงินฝากของเจ้ามรดกในธนาคาร และนำเงินจากบัญชีเงินฝากของเจ้ามรดกในธนาคารมาบำรุงรักษาผู้อยู่อาศัยร่วมกัน และช่วยเหลือบุคคลที่ระบุชื่อตามความจำเป็น โดยบุคคลดังกล่าวไม่มีสิทธิฟ้องร้องผู้ร้องและผู้คัดค้านที่ 1 ที่สำคัญพินัยกรรมของเจ้ามรดกยังมีข้อกำหนดให้ผู้ร้องและผู้คัดค้านที่ 1 ในฐานะผู้จัดการทรัพย์มรดก มีสิทธิตั้งผู้จัดการแทนตนสืบต่อไปได้สุดแต่จะเห็นสมควร อันทำให้ก่อนผู้ร้องและผู้คัดค้านที่ 1 และบุคคลที่ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้จัดการจากผู้ร้องและผู้คัดค้านที่ 1 ถึงแก่ความตายสามารถแต่งตั้งหรือมอบหมายบุคคลอื่นทำหน้าที่ดังกล่าวต่อไปได้ไม่มีที่สิ้นสุด ข้อกำหนดดังกล่าวในพินัยกรรมเจ้ามรดกมิได้กำหนดให้โอนทรัพย์มรดกแก่บุคคลใดเพียงแต่กำหนดให้จ่ายเงินช่วยเหลือแก่ผู้มีชื่อตามความจำเป็นเท่านั้นซึ่งนับว่าเป็นการไม่กำหนดตัวบุคคลแน่นอนให้เป็นผู้รับพินัยกรรม ทั้งระบุไว้ไม่ชัดแจ้งจนไม่อาจที่จะทราบแน่นอนได้ว่าให้ทรัพย์สินแก่บุคคลหนึ่งบุคคลใดจำนวนมากน้อยเพียงใดตามแต่ใจของผู้ร้องและผู้คัดค้านที่ 1 จึงตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1706 (2) และ (3) และเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ที่ศาลฎีกาเห็นสมควรอาศัยอำนาจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 247 ประกอบมาตรา 246 ยกขึ้นวินิจฉัย ตามมาตรา 142 (5) แต่อย่างไรก็ตาม แม้ข้อกำหนดในพินัยกรรมที่เจ้ามรดกไม่กำหนดตัวบุคคลแน่นอนเป็นผู้รับพินัยกรรมและระบุไม่ชัดแจ้งว่าให้ทรัพย์สินแก่บุคคลหนึ่งบุคคลใดจำนวนมากน้อยเพียงใดตามแต่ใจของผู้ร้องและผู้คัดค้านที่ 1 จะตกเป็นโมฆะ แต่พินัยกรรมในส่วนที่เจ้ามรดกแสดงเจตนาตั้งผู้ร้องและผู้คัดค้านที่ 1เป็นผู้จัดการมรดกยังคงสมบูรณ์อยู่ ทั้งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา1713 วรรคท้าย ก็บัญญัติให้ศาลตั้งผู้จัดการมรดกตามข้อกำหนดพินัยกรรม แต่เมื่อผู้คัดค้านที่ 1 เคยตกลงถอนตัวจากการเป็นผู้จัดการมรดกโดยจะไม่เข้ายุ่งเกี่ยวกับการจัดการมรดกของผู้ร้องอีกต่อไป ผู้คัดค้านทั้งสามจึงมายื่นคำร้องขอให้ตั้งผู้คัดค้านที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายอีกหาได้ไม่ สำหรับผู้ร้องซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกตามพินัยกรรมย่อมมีสิทธิและหน้าที่ที่จะทำการอันจำเป็นเพื่อให้การเป็นไปตามคำสั่งแจ้งชัดหรือโดยปริยายแห่งพินัยกรรมและเพื่อจัดการมรดกโดยทั่วไปหรือเพื่อแบ่งปันทรัพย์มรดกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1719 แม้มาตรา 1728 จะกำหนดให้ผู้ร้องต้องทำบัญชีทรัพย์มรดกให้เสร็จสิ้นภายในกำหนดเวลาตามที่กฎหมายระบุไว้ก็ตาม แต่ทรัพย์มรดกที่ยังไม่ได้จัดการมีอยู่เพียงรายการเดียว คือ บ้านพร้อมที่ดินโฉนดเลขที่ 13725 ตำบลหัวหมาก อำเภอบางกะปิ กรุงเทพมหานคร เนื้อที่ 208 ตารางวา เท่านั้น ซึ่งมิได้มีข้อยุ่งยากแก่การจัดการแต่อย่างใด การที่ผู้ร้องมิได้จัดทำบัญชีทรัพย์มรดกภายในเวลาที่กฎหมายกำหนดและมิได้เรียกประชุมทายาทหรือผู้มีส่วนได้เสีย กรณียังไม่พอที่จะถือว่าผู้ร้องเพิกเฉยไม่ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะผู้จัดการมรดก ส่วนที่ผู้คัดค้านทั้งสามอ้างว่า ผู้ร้องไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดในพินัยกรรมที่ให้ผู้คัดค้านที่ 1 มีอำนาจร่วมถอนเงินในบัญชีของธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สาขาหัวหมาก นั้น เมื่อข้อกำหนดดังกล่าวในพินัยกรรมเป็นโมฆะดังวินิจฉัยข้างต้นเสียแล้ว ผู้คัดค้านทั้งสามจึงไม่อาจอ้างสิทธิตามข้อกำหนดดังกล่าวได้กรณียังไม่เป็นเหตุเพียงพอที่จะถอดถอนผู้ร้องจากการเป็นผู้จัดการมรดก ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share