แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายใดจะเป็นเหตุในลักษณะคดีหรือไม่ ต้องพิจารณาเป็นเรื่องๆ ไป ข้อเท็จจริงใดที่รับฟังต้องฟังถึงจำเลยคนอื่นเช่นเดียวกัน ย่อมเป็นเหตุในลักษณะคดี สำหรับคดีนี้พยานหลักฐานที่ใช้วินิจฉัยจำเลยที่ 5 แตกต่างจากจำเลยที่ 6 คำให้การในชั้นสอบสวนของจำเลยทั้งสองแยกกันเป็นคนละส่วนและมีข้อที่แตกต่างกัน รวมทั้งพยานอื่นที่เกี่ยวข้องกับจำเลยทั้งสองด้วย ดังนั้น พยานหลักฐานที่จะใช้วินิจฉัยความผิดของจำเลยที่ 5 จึงแตกต่างไปจากจำเลยที่ 6 มิใช่พยานชุดเดียวกันทั้งหมด จึงไม่เป็นเหตุในลักษณะคดี
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๘๓ , ๓๔๐ , ๓๔๐ ตรี และให้จำเลยทั้งหกร่วมกันคืนหรือใช้ราคาทรัพย์จี้เลี่ยมทอง ราคา ๑,๐๐๐ บาท แก่ผู้เสียหายที่ ๑ กับนับโทษของจำเลยที่ ๓ ถึงที่ ๖ ในคดีนี้ต่อจากโทษของจำเลยที่ ๒ ที่ ๑ ที่ ๔ และที่ ๓ ในคดีอาญาหมายเลขดำที่ ๒๘๐๗/๒๕๔๐ ของศาลชั้นต้น
จำเลยที่ ๑ ให้การปฏิเสธ หลังจากสืบพยานโจทก์เสร็จ จำเลยที่ ๑ ขอให้การใหม่เป็นรับสารภาพ
จำเลยที่ ๒ ที่ ๔ ที่ ๕ และที่ ๖ ให้การปฏิเสธ แต่จำเลยที่ ๔ ที่ ๕ และที่ ๖ รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยที่ ๑ ที่ ๔ และที่ ๓ ในคดีที่โจทก์ของให้นับโทษต่อ
จำเลยที่ ๓ ให้การรับสารภาพและรับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยที่ ๒ ในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยทั้งหกมีความผิดตามประมวลกฎหมายมาตรา ๓๔๐ วรรคสอง , ๓๔๐ ตรี ประกอบด้วยมาตรา ๘๓ จำคุกคนละ ๒๔ ปี จำเลยที่ ๑ ให้การรับสารภาพในชั้นจับกุม ชั้นสอบสวน และชั้นพิจารณาหลังจากที่โจทก์สืบพยานเสร็จแล้ว จำเลยที่ ๒ ที่ ๔ ที่ ๕ และที่ ๖ ให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวน เป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้าง จำเลยที่ ๓ ให้การรับสารภาพในชั้นจับกุม ชั้นสอบสวน และชั้นพิจารณา เป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอย่างมาก มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้จำเลยที่ ๑ หนึ่งในสาม ลดโทษให้จำเลยที่ ๒ ที่ ๔ ที่ ๕ และที่ ๖ คนละหนึ่งในสี่ และลดโทษให้จำเลยที่ ๓ กึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๘ จำเลยที่ ๑ คงจำคุก ๑๖ ปี จำเลยที่ ๒ ที่ ๔ ที่ ๕ และที่ ๖ คงจำคุกคนละ ๑๘ ปี และจำเลยที่ ๓ คงจำคุก ๑๒ ปี ให้จำเลยทั้งหกร่วมกันคืนจี้เลี่ยมทองตามฟ้องแก่ผู้เสียหายที่ ๑ หรือใช้ราคาทรัพย์ ๑,๐๐๐ บาท ส่วนคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษจำเลยที่ ๓ ถึงที่ ๖ ในคดีนี้ต่อนั้น ปรากฏว่าคดีดังกล่าวยังไม่ได้พิพากษา ไม่อาจนับโทษต่อได้ ให้ยกคำขอส่วนนี้
จำเลยที่ ๕ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค ๘ พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ ๕ และที่ ๖ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นรับฟังเป็นยุติว่า ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยทั้งหกมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๔๐ วรรคสอง , ๓๔๐ ตรี ประกอบด้วยมาตรา ๘๓ จำเลยที่ ๕ ยื่นอุทธรณ์เพียงคนเดียว จำเลยอื่นไม่อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค ๘ พิพากษายกฟ้องจำเลยที่ ๕ และเห็นว่าพยานโจทก์ในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ ๕ และที่ ๖ เป็นไปทำนองเดียวกันไม่อาจแยกรับฟังได้ เป็นเหตุในลักษณะคดี จึงพิพากษายกฟ้องจำเลยที่ ๖ ด้วย คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ข้อแรกว่า จำเลยที่ ๕ ร่วมกระทำความผิดฐานปล้นทรัพย์ตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่า การกระทำที่จำเลยที่ ๕ ถูกฟ้อง มีอัตราโทษขั้นต่ำให้จำคุกเกินกว่าห้าปีขึ้นไป ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๗๖ แม้จำเลยจะให้การรับสารภาพ ศาลจะต้องฟังพยานหลักฐานจนกว่าจะพอใจว่าจำเลยได้กระทำผิดจริง จำเลยที่ ๕ นอกจากจะให้การปฏิเสธแล้ว ตามทางนำสืบโจทก์ไม่มีพยานปากใดยืนยันว่าจำเลยที่ ๕ ร่วมกระทำความผิด คงมีแต่คำรับสารภาพในชั้นจับกุมตามเอกสารหมาย จ.๑๕ และคำรับสารภาพในชั้นสอบสวนตามเอกสารหมาย จ.๒๓ ซึ่งเป็นพยานบอกเล่า แม้จะรับฟังเป็นพยานได้แต่ก็มีน้ำหนักน้อย เมื่อโจทก์ไม่มีพยานหลักฐานอื่นที่จะนำมารับฟังประกอบกับคำรับสารภาพให้เชื่อว่าจำเลยที่ ๕ กระทำผิดจริง ย่อมไม่อาจพิพากษาลงโทษจำเลยที่ ๕ ได้ ศาลอุทธรณ์ภาค ๘ พิพากษาชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต่อไปมีว่า มีเหตุในลักษณะคดีที่จะพิพากษาให้มีผลไปถึงจำเลยที่ ๖ ซึ่งมิได้อุทธรณ์ด้วยหรือไม่ เห็นว่า ข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายใดจะเป็นเหตุในลักษณะคดีหรือไม่ต้องพิจารณาเป็นเรื่องๆ ไป ข้อเท็จจริงใดที่รับฟังต้องฟังถึงจำเลยคนอื่นเช่นเดียวกัน ย่อมเป็นเหตุในลักษณะคดี สำหรับคดีนี้พยานหลักฐานที่ใช้วินิจฉัยจำเลยที่ ๕ แตกต่างจากจำเลยที่ ๖ คำให้การในชั้นสอบสวนของจำเลยทั้งสองแยกกันเป็นคนละส่วนและมีข้อที่แตกต่างกัน รวมทั้งพยานอื่นที่เกี่ยวข้องกับจำเลยด้วย เช่นผู้เสียหายทั้งสองเบิกความว่า รถยนต์ตามภาพถ่ายหมาย จ.๓ และ จ.๘ เป็นรถยนต์ที่ใช้ในการปล้นทรัพย์ จำเลยที่ ๖ ให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวนตามเอกสารหมาย จ.๒๔ ว่า จำเลยที่ ๖ เป็นผู้เช่ามาจากร้าน กม.๓ รถเช่า ค่าเช่าวันละ ๑,๒๐๐ บาท จำเลยที่ ๓ เป็นผู้ออกค่าเช่า และโจทก์ยังส่งคำให้การชั้นสอบสวนของนางสาวเปรมฤทัย ยอดแสงจันทร์ ตามเอกสารหมาย จ.๑๑ สัญญาเช่าซื้อรถยนต์ที่คนร้ายใช้ในการปล้นทรัพย์ตามเอกสารหมาย จ.๑๐ และสัญญาเช่ารถยนต์ในระหว่างเกิดเหตุมีจำเลยที่ ๖ เป็นผู้เช่าตามเอกสารหมาย จ.๑๓ ประกอบคำแถลงรับข้อเท็จจริงของจำเลยที่ ๖ อีกด้วย ดังนั้น พยานหลักฐานที่จะใช้วินิจฉัยความผิดของจำเลยที่ ๕ จึงแตกต่างไปจากจำเลยที่ ๖ มิใช่พยานชุดเดียวกันทั้งหมด จึงไม่เป็นเหตุในลักษณะคดี ที่ศาลอุทธรณ์ภาค ๘ พิพากษาให้มีผลไปถึงจำเลยที่ ๖ นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ ๖ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๔๐ วรรคสอง , ๓๔๐ ตรี ประกอบด้วยมาตรา ๘๓ เมื่อลงโทษและลดโทษตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้นแล้ว คงจำคุก ๑๘ ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค ๘ .