แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
พยานโจทก์ซึ่งเป็นผู้จัดการแผนกเงินกู้และเป็นผู้รับมอบอำนาจให้ฟ้องคดีแทนเบิกความตอบคำถามค้านและคำถามติงว่า ข้อตกลงระหว่างโจทก์กับจำเลยในเรื่องที่จำเลยนำตั๋วสัญญาใช้เงินพิพาทมาขายลดให้โจทก์นั้นเป็นการตกลงกันปากเปล่า และโจทก์ก็ไม่ได้นำเรื่องการขายลดมาลงในสมุดบัญชีเงินสดรายวันในวันที่มีการขายลดแต่เพิ่งจะนำมาลงบัญชีหลังจากนั้นเกือบหนึ่งเดือน ดังนี้ เป็นเรื่องที่คู่กรณีไม่น่าจะตกลงกันเพียงวาจา หากแต่ควรทำเป็นสัญญามีหลักฐานให้ปรากฏด้วยตัวหนังสือเนื่องจากตั๋วสัญญาใช้เงินพิพาทมีจำนวนเงินสูงมากถึงสองล้านบาทเศษ และการที่โจทก์ไม่ได้มีการลงรายการเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้ในบัญชีเงินสดประจำวันในวันเดียวกัน ก็เป็นข้อพิรุธได้ว่า ได้มีการตกลงกันจริงหรือไม่นอกจากนี้ข้อเท็จจริงยังปรากฏด้วยว่า ลายมือชื่อของผู้ออกตั๋วสัญญาใช้เงินพิพาทซึ่งเป็นภาษาไทย และโจทก์อ้างว่าเป็นลายมือที่แท้จริงของจำเลยนั้นมีลักษณะแตกต่างจากลายมือชื่อภาษาไทยของจำเลยซึ่งทำขึ้นก่อนหน้านี้ประมาณหกปี และจำเลยก็ไม่ได้ลงลายมือชื่อเป็นภาษาไทยมานานแล้ว ในการติดต่อธุรกิจกับโจทก์ จำเลยลงลายมือชื่อเป็นภาษาอังกฤษเสมอมา การที่โจทก์มิได้ตรวจสอบหรือทักท้วงในการที่จำเลยลงลายมือชื่อเป็นภาษาไทยในตั๋วสัญญาใช้เงินพิพาทอันเป็นลายมือชื่อต่างภาษากับลายมือชื่อตัวอย่างของจำเลยที่ให้ไว้กับโจทก์ทั้งที่มูลค่าแห่งหนี้มีจำนวนสูง ดังนี้ พยานหลักฐานของโจทก์ซึ่งมีภาระการพิสูจน์จึงยังไม่มีน้ำหนัก ข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่า จำเลยขายลดตั๋วสัญญาใช้เงินพิพาทไว้กับโจทก์.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า โจทก์กับจำเลยได้ตกลงกันให้จำเลยขายลดตั๋วสัญญาใช้เงินกับโจทก์ในวงเงินไม่เกิน 2,500,000 บาท พร้อมกำหนดอัตราดอกเบี้ย และจดทะเบียนจำนองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินโฉนดเลขที่ 49646 ตำบลแสมดำ (บางบอน) อำเภอบางขุนเทียนกรุงเทพมหานคร ไว้กับโจทก์ เพื่อเป็นประกันหนี้ที่เกิดจากการขายลดตั๋วสัญญาใช้เงินของจำเลย 1,000,000 บาท และจำเลยมีเงินฝากไว้กับโจทก์ จำนวน 500,000 บาท ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 14 ต่อปี ยอมให้หักกลบลบหนี้ได้ ต่อมา จำเลยได้นำตั๋วสัญญาใช้เงินมาขายลดไว้กับโจทก์ จำนวน 2,351,000 บาท กำหนดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 19 ต่อปีครบกำหนดชำระแล้ว จำเลยผิดนัด โจทก์ได้มีหนังสือทวงถามแต่จำเลยเพิกเฉย โจทก์จึงได้นำเงินฝากพร้อมดอกเบี้ยจำนวน 524,667.81 บาทมาหักกลบลบหนี้แล้ว ปรากฏว่าจำเลยคงค้างเงินต้นและโจทก์ได้ทวงถามจำนวนหนี้ที่ค้างและบอกกล่าวบังคับจำนอง จำเลยเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินให้โจทก์จำนวน 2,496,001 บาท พร้อมดอกเบี้ย หากจำเลยไม่ชำระให้ยึดทรัพย์จำนองและทรัพย์สินอื่นของจำเลยออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้โจทก์จนกว่าจะครบถ้วน
จำเลยให้การว่า จำเลยไม่เคยขอวงเงินเพื่อขายลดตั๋วสัญญาใช้เงินกับโจทก์ ไม่เคยนำตั๋วสัญญาใช้เงินพิพาทตามฟ้องไปขายลดแก่โจทก์ลายมือชื่อที่ปรากฏในตั๋วสัญญาใช้เงินดังกล่าวแตกต่างจากลายมือชื่อที่โจทก์กล่าวอ้างว่าเป็นของจำเลย จำเลยได้ทำสัญญาจำนองจริง แต่หาใช่ทำเพื่อเป็นประกันหนี้จากการขายลดตั๋วสัญญาใช้เงินไม่ จำเลยไม่เคยยินยอมให้เอาเงินฝากของจำเลย ซึ่งเป็นตั๋วสัญญาใช้เงินจำนวน500,000 บาท เป็นประกันการชำระหนี้ที่จำเลยมีต่อโจทก์หรือยอมให้โจทก์หักกลบลบหนี้ โจทก์คิดดอกเบี้ยผิดพลาด ตั๋วสัญญาใช้เงินดังกล่าวจึงไม่มีมูลหนี้ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยชำระเงินให้โจทก์จำนวน2,496,001 บาท พร้อมดอกเบี้ย หากไม่ชำระให้ยึดทรัพย์จำนองและทรัพย์สินอื่นของจำเลยออกขายทอดตลาดชำระหนี้จนครบ
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า จำเลยเป็นลูกค้าโจทก์ประเภทขายลดตั๋วเงิน จำเลยจำนองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างไว้กับโจทก์เป็นหลักประกันในวงเงิน 1,000,000บาท ตามเอกสารหมาย จ.4 และ จ.5 และจำเลยฝากเงินจำนวน 500,000 บาทไว้กับโจทก์ โดยโจทก์ได้ขายตั๋วสัญญาใช้เงินให้แก่จำเลย ตามเอกสารหมาย จ.6 จำเลยได้ให้ตัวอย่างลายมือชื่อของจำเลยไว้กับโจทก์เป็นภาษาอังกฤษ ตามเอกสารหมาย จ.7 ตั๋วสัญญาใช้เงินพิพาท ตามเอกสารหมาย จ.8 ปรากฏลายมือชื่อผู้ออกตั๋วเป็นภาษาไทย ปัญหาในชั้นแรกคงมีว่า จำเลยได้ขายลดตั๋วสัญญาใช้เงินพิพาทดังกล่าวให้แก่โจทก์หรือไม่ โจทก์มีนายฐากูร ชิตเมธา ผู้จัดการแผนกเงินกู้ของโจทก์และเป็นผู้รับมอบอำนาจให้ฟ้องคดีแทนโจทก์ เบิกความว่า จำเลยฝากเงินไว้กับโจทก์จำนวน 500,000 บาท โดยโจทก์ขายตั๋วสัญญาใช้เงินลงวันที่12 ตุลาคม 2527 คือเอกสารหมาย จ.6 ให้แก่จำเลย ทั้งจำเลยได้ให้ตัวอย่างลายมือชื่อเป็นภาษาอังกฤษไว้กับโจทก์ ดังปรากฏตามเอกสารหมาย จ.7 ต่อมาวันที่ 2 สิงหาคม 2528 จำเลยได้นำตั๋วสัญญาใช้เงินพิพาท ตามเอกสารหมาย จ.8 มาขายลดให้แก่โจทก์แล้วไม่ชำระเงินตามกำหนด ขณะเดียวกันพยานก็ตอบคำถามค้านและคำถามติงว่า การที่โจทก์ให้จำเลยออกตั๋วสัญญาใช้เงินเพื่อขายลดให้โจทก์ภายในวงเงิน2,500,000 บาท นั้น เป็นการตกลงกันปากเปล่า และโจทก์ไม่ได้ลงบัญชีในสมุดบัญชีเงินสดรายวันว่ามีการขายลดตั๋วสัญญาใช้เงินของจำเลยแล้วเพราะจำเลยไม่ได้นำดอกเบี้ยมาชำระในวันนั้น โจทก์เพิ่งลงบัญชีในวันที่ 27 สิงหาคม 2528 จึงเห็นได้ในประการแรกว่า ข้อตกลงระหว่างโจทก์กับจำเลยในเรื่องการขายลดตั๋วสัญญาใช้เงิน ซึ่งมีจำนวนเงินสูงมากเช่นนี้ คู่กรณีไม่น่าที่จะตกลงกันเพียงวาจา หากแต่ควรทำเป็นสัญญามีหลักฐานให้ปรากฏด้วยตัวหนังสือให้ชัดแจ้ง แม้จะมีสายงานทางการประกอบธุรกิจการค้าเป็นที่น่าไว้วางใจกันเพียงใดก็ตาม การที่โจทก์ไม่ได้มีการลงรายการเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้ในบัญชีเงินสดประจำวันของโจทก์ ก็เป็นเหตุประกอบให้มีข้อพิรุธสงสัยว่า ได้มีการตกลงกันดังกล่าวถึงตั๋วสัญญาใช้เงินพิพาทจริงหรือไม่ นอกจากนี้ยังปรากฏข้อเท็จจริงด้วยว่า ลายมือชื่อตัวอย่างของจำเลยตามเอกสารหมาย จ.7 มีลักษณะตรงกันกับลายมือชื่อของจำเลยที่อยู่ด้านหลังเอกสารหมาย จ.6 นั่นเอง แต่เมื่อพิจารณาเปรียบเทียบลายมือชื่อตัวอย่างของจำเลยกับลายมือชื่อผู้ออกตั๋วสัญญาใช้เงินพิพาท ซึ่งโจทก์กล่าวอ้างว่าเป็นลายมือชื่ออันแท้จริงของจำเลยนั้น เป็นที่เห็นได้ชัดเจนว่า ลายมือชื่อตัวอย่างของจำเลยเป็นลายมือชื่อสะกดด้วยอักขรวิธีภาษาอังกฤษ ส่วนลายมือชื่อผู้ออกตั๋วสัญญาใช้เงินพิพาท อ่านได้ความเป็นภาษาไทย มีลักษณะการเขียนคล้ายคลึงกับลายมือชื่อผู้รับเงินในเอกสารหมาย จ.21 และลายมือชื่อด้านหลังเช็คเอกสารหมาย จ.26 แต่ก็มีลักษณะผิดแผกแตกต่างกันกับลายมือชื่อของจำเลยที่จำเลยยอมรับ ตามเอกสารหมาย จ.32 ซึ่งทำขึ้นตั้งแต่ปี 2522 จำเลยจึงยืนยันว่าลายมือชื่อผู้ออกตั๋วสัญญาใช้เงินพิพาท ไม่ใช่ของจำเลยจำเลยไม่ได้ลงลายมือชื่อเป็นภาษาไทยมานานแล้ว จำเลยติดต่อธุรกิจกับโจทก์ก็ใช้ลายมือชื่อเป็นภาษาอังกฤษเสมอมา ซึ่งก็ปรากฏในท้องสำนวนเช่นกันว่า จำเลยลงลายมือชื่อเป็นภาษาอังกฤษโดยตลอดยิ่งกว่านั้น ในประการที่โจทก์ฟ้องและนำสืบว่า จำเลยขายลดตั๋วสัญญาใช้เงินพิพาทซึ่งเป็นของโจทก์โดยลงลายมือชื่อจำเลย แต่เป็นลายมือชื่อต่างภาษากับลายมือชื่อตัวอย่างของจำเลยที่ได้ให้ไว้กับโจทก์โดยที่โจทก์มิได้มีการตรวจสอบหรือทักท้วงในกรณีผิดแผกแปลกไปจากสภาพปกติธรรมดาเช่นนี้แต่ประการใด ทั้ง ๆ ที่มูลค่าแห่งการก่อหนี้ก็เป็นจำนวนสูง ก็ย่อมแสดงเหตุและผลให้ปรากฏว่าข้อเท็จจริงน่าจะเป็นไปตามที่จำเลยนำสืบต่อสู้มากกว่า ศาลฎีกาจึงเห็นว่า พยานหลักฐานของโจทก์ซึ่งมีภาระหน้าที่ในการพิสูจน์คดีเท่าที่นำสืบมา ยังหามีน้ำหนักมากกว่าพยานหลักฐานของจำเลยไม่ ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยมาศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาจำเลยข้อนี้ฟังขึ้น คดีไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาข้ออื่นของจำเลยต่อไป”
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง.