แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
โจทก์บรรยายฟ้องว่า บิดาโจทก์แบ่งทรัพย์สินรวมทั้งเงินสดให้โจทก์ส่วนหนึ่ง ต่อมาเมื่อวันที่ 2 เมษายน 2517 บิดาโจทก์นำเงินสดในส่วนของโจทก์ไปซื้อที่ดินแทนโจทก์ในราคา 30,000,000 บาท และในวันนั้นเองบิดาโจทก์ได้ขายฝากที่ดินดังกล่าวแทนโจทก์ในราคา15,000,000 บาท มีกำหนด 1 ปี กำหนดสินไถ่ไว้ 16,800,000 บาทและโจทก์ได้ชำระดอกเบี้ยแก่ผู้ซื้อฝากตลอดมาต่อมาเมื่อวันที่ 28มิถุนายน 2520 อันเป็นวันกำหนดการไถ่ถอนโจทก์ไถ่ถอนการขายฝากในจำนวนเงินแปลงดังกล่าวไปในราคา 44,864,000 บาท การที่บิดาโจทก์ซื้อที่ดินในราคา 30,000,000 บาท ถือได้ว่าซื้อแทนโจทก์เป็นค่าใช้จ่ายที่โจทก์ซื้อมา หรือเป็นทุนของโจทก์ในการซื้อที่ดินโจทก์จึงหักค่าใช้จ่ายได้ตามความจำเป็นและสมควร จำเลยให้การว่าคำให้การของโจทก์ในชั้นตรวจสอบจากคำอุทธรณ์และจากหนังสือขอความเป็นธรรมในการประเมินภาษีของโจทก์ โจทก์อ้างแต่เพียงว่าบิดาโจทก์ยกที่ดินให้โจทก์ในระหว่างการขายฝากซึ่งที่ดินตกเป็นของผู้ซื้อแล้ว ไม่เคยอ้างว่าบิดาโจทก์ซื้อที่ดินและขายฝากที่ดินแทนโจทก์ดังนี้ ข้อเท็จจริงระหว่างโจทก์และจำเลยที่โต้แย้งกันนี้ จะต้องวินิจฉัยจากพยานหลักฐานของทั้งสองฝ่ายเสียก่อน ศาลฎีกามีอำนาจยกคำสั่งและคำพิพากษาของศาลล่างทั้งสอง ให้ศาลชั้นต้นทำการพิจารณาเริ่มจากการสืบพยานโจทก์จำเลยแล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดีได้.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เจ้าพนักงานประเมินแจ้งให้โจทก์เสียภาษีเงินได้ประจำปี พ.ศ. 2520 เพิ่มจำนวน 13,998,603.22 บาท โดยหักค่าใช้จ่ายในการซื้อที่ดินให้เพียง 20,000,000 บาท มิได้หักให้จำนวน30,000,000 บาท อันเป็นทุนที่โจทก์ซื้อมาจากผู้มีชื่อ จึงอุทธรณ์การประเมิน คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์มีคำวินิจฉัยให้ยกอุทธรณ์ของโจทก์ ขอให้เพิกถอนการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ ให้เจ้าพนักงานประเมินทำการประเมินใหม่ โดยหักค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่โจทก์มีสิทธิหักได้เสียให้ถูกต้อง
จำเลยทั้งสี่ให้การว่า โจทก์ซื้อที่ดินพิพาทในราคา 15,126,000บาท ตามหลักฐานที่จดทะเบียนไว้ ณ กรมที่ดิน ต้นทุนซื้อที่ดินจึงมีจำนวน 15,126,000 บาท สมควรตามประมวลรัษฎากร มาตรา 45ประกอบพระราชกฤษฎีกา ฉบับที่ 11 มาตรา 8 ทวิ ซึ่งหักค่าใช้จ่ายตามมาตรา 65 ทวิ และ 65 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร คือ จำนวน 15,126,000บาท ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายกคำพิพากษาและคำสั่งศาลชั้นต้นที่สั่งรับคำฟ้องและอนุญาตให้โจทก์นำค่าขึ้นศาลมาชำระภายใน 30 วัน กับยกคำร้องที่โจทก์ขอชำระค่าขึ้นศาล กับคืนค่าขึ้นศาลทั้งสองศาลแก่โจทก์
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…ศาลอุทธรณ์ยังไม่ได้รับพิจารณาและพิพากษาไปตามประเด็นแห่งคดี ครั้นศาลฎีกาเห็นสมควรที่จะพิจารณาพิพากษาต่อไป ก็ปรากฎว่า ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้งดสืบพยานทั้งโจทก์และจำเลย ซึ่งพิเคราะห์แล้ว โจทก์บรรยายฟ้องว่า บิดาโจทก์มีความประสงค์จะให้โจทก์แยกครอบครัว จึงได้แบ่งทรัพย์สินรวมทั้งเงินสดให้โจทก์ส่วนหนึ่ง ต่อมาเมื่อวันที่ 2 เมษายน 2517 บิดาโจทก์นำเงินสดในส่วนของโจทก์ไปซื้อที่ดินตามฟ้องแทนโจทก์ในราคา 30,000,000บาท และในวันเดียวกันนั้นเองบิดาโจทก์ได้ขายฝากที่ดินตามฟ้องไว้กับมูลนิธิมหามกุฎราชวิทยาลัยในราคา 15,000,000 บาท มีกำหนด 1 ปีกำหนดสินไถ่ไว้จำนวน 16,800,000 บาท เป็นการขายฝากแทนโจทก์ภายหลังจากขายฝากแล้ว โจทก์ไม่ได้ไถ่ถอนตามกำหนด แต่โจทก์ชำระดอกเบี้ยแก่ผู้ซื้อตลอดมาและผู้ซื้อยอมให้โจทก์ไถ่ถอนคืนได้โจทก์จึงไถ่ถอนคืนเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2520 ในจำนวนเงิน20,000,000 บาท และในวันเดียวกันนั้นเองโจทก์ขายที่ดินให้แก่บริษัทไทยเคหะการโยธา จำกัด ในราคา 44,864,000 บาท การที่บิดาโจทก์ซื้อที่ดินตามฟ้องมาจากพระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าภาณุพันธ์ยุคล ในราคา 30,000,000 บาท ถือได้ว่าซื้อแทนโจทก์เป็นค่าใช้จ่ายที่โจทก์ซื้อมาหรือเป็นทุนของโจทก์ในการได้ที่ดินตามฟ้องมา โจทก์จึงหักค่าใช้จ่ายได้ตามความจำเป็นและสมควร ฝ่ายจำเลยให้การว่าคำให้การของโจทก์ในชั้นตรวจสอบจากคำอุทธรณ์และจากหนังสือขอความเป็นธรรมในการประเมินภาษีของโจทก์นั้น โจทก์กล่าวอ้างแต่เพียงว่าบิดาโจทก์ยกที่ดินตามฟ้องให้โจทก์ในระหว่างการขายฝาก-ซึ่งที่ดินตกไปเป็นของผู้ซื้อแล้ว โจทก์ไม่เคยกล่าวอ้างว่า บิดาโจทก์ซื้อที่ดินและขายฝากที่ดินแทนโจทก์เป็นการแตกต่างกับข้อเท็จจริงดังที่กล่าวในฟ้อง เห็นว่า ข้อเท็จจริงที่โต้แย้งกันระหว่างโจทก์ และจำเลยดังกล่าว จะต้องวินิจฉัยจากพยานหลักฐานของทั้งสองฝ่ายเสียก่อน การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้งดสืบพยานของทั้งสองฝ่าย จึงไม่ชอบ”
พิพากษายกคำสั่งและคำพิพากษาศาลล่างทั้งสอง ให้ศาลชั้นต้นทำการพิจารณาเริ่มจากการสืบพยานของโจทก์และจำเลย แล้วทำการพิพากษาไปใหม่ตามรูปคดี สำหรับค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ ให้ศาลชั้นต้นรวมสั่งเมื่อมีคำพิพากษาใหม่.