คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1059/2537

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

หลังจากทำสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทแล้วมารดาโจทก์ได้ครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทตลอดมา จำเลยที่ 1 ไม่เคยเข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทเลย ต่อมามารดาโจทก์ยกที่ดินพิพาทให้โจทก์ แม้การซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างมารดาโจทก์กับจำเลยที่ 1และการยกให้ที่ดินพิพาทระหว่างมารดาโจทก์กับโจทก์จะไม่ได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ แต่โจทก์ก็ได้ครอบครองที่ดินพิพาทโดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของสืบต่อจากมารดาโจทก์เป็นเวลากว่า 20 ปี โจทก์ย่อมได้กรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทโดยการครอบครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382การที่จำเลยที่ 1 จดทะเบียนยกที่ดินพิพาทให้จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบุตรโดยตามพฤติการณ์ ส่อให้เห็นว่าจำเลยทั้งสองกระทำการโดยไม่สุจริตเป็นทางให้โจทก์ผู้อยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้อยู่ก่อนแล้วเสียเปรียบ โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนการให้ที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยทั้งสองได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1300 คำขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันส่งมอบโฉนดที่ดินพิพาทคืนแก่โจทก์นั้นตามบทบัญญัติ ประมวลกฎหมายที่ดินฯ มาตรา 78 และกฎกระทรวงฉบับที่ 7(พ.ศ. 2497) บัญญัติไว้แล้วว่าจะต้องดำเนินการอย่างไรโจทก์สามารถปฏิบัติตามและได้รับผลตามความประสงค์ของโจทก์อยู่แล้วโดยไม่จำเป็นต้องอาศัยคำสั่งศาลให้จำเลยทั้งสองส่งมอบโฉนดที่ดินพิพาทแต่อย่างใด จึงต้องยกคำขอในส่วนนี้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า ที่ดินโฉนดเลขที่ 9208 ตำบลสร้อยฟ้า (บางเลา)อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี เดิมเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 1ต่อมาเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2510 จำเลยที่ 1 ได้ขายที่ดินดังกล่าวให้นางท้อ มารดาโจทก์ แต่มิได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่นางท้อได้ครอบครองทำประโยชน์นับแต่วันซื้อขายเป็นต้นมา จนกระทั่งปี 2513 นางท้อได้ยกที่ดินตามโฉนดดังกล่าวให้โจทก์ซึ่งโจทก์ก็ได้เข้าครอบครองโดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของสืบต่อมาจากนางท้อจนถึงปัจจุบัน เป็นเวลา 20 ปีเศษแล้ว ต่อมาในเดือนมกราคม 2532 จำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนที่ดินโฉนดดังกล่าวให้จำเลยที่ 2 เป็นการกระทำโดยไม่สุจริตทำให้โจทก์ซึ่งเป็นบุคคลผู้อยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิได้อยู่ก่อนเสียเปรียบ ขอให้พิพากษาว่า ที่ดินโฉนดเลขที่ 9208 ดังกล่าวตกเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์โดยการครอบครอง ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันไปทำการเพิกถอนนิติกรรมการจดทะเบียนโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 9208 ระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 เสียหากจำเลยทั้งสองไม่กระทำก็ให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันส่งมอบโฉนดที่ดินดังกล่าวให้โจทก์
จำเลยที่ 1 ให้การว่า จำเลยที่ 1 มิได้ทำสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทให้นางท้อสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทไม่ได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตกเป็นโมฆะ จำเลยที่ 1 ได้ถือประโยชน์ครอบครองมาโดยตลอดและโอนที่ดินพิพาทให้จำเลยที่ 2โดยสุจริต ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ให้การและฟ้องแย้งว่า จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นบิดาได้ครอบครองและเก็บประโยชน์ในที่ดินพิพาทตลอดมาและได้ยกให้จำเลยที่ 2 โดยสุจริต นางท้อไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท โจทก์เป็นฝ่ายบุกรุกเข้าไปปลูกโรงเรือนในที่ดินพิพาททำให้จำเลยที่ 2ได้รับความเสียหาย ขอให้ยกฟ้อง และบังคับให้โจทก์รื้อถอนโรงเรือนและสิ่งปลูกสร้างออกจากที่ดินพิพาท หากไม่รื้อถอนให้ชำระค่าเสียหายแก่จำเลยที่ 2 เดือนละ 500 บาท จนกว่าจะรื้อถอนเสร็จ
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งโดยยืนยันตามฟ้องเดิม ขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า ที่ดินโฉนดเลขที่ 9208 ตำบลสร้อยฟ้า (บางเลา) อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี เนื้อที่ 4 ไร่3 งาน ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์โดยการครอบครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 ให้เพิกถอนนิติกรรมการจดทะเบียนโอนที่ดินระหว่างจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ของที่ดินโฉนดเลขที่ 9208 ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันส่งมอบโฉนดที่ดินดังกล่าวคืนแก่โจทก์ ยกฟ้องแย้งจำเลยที่ 2
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยทั้งสองฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองให้ฎีกาในข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันในเบื้องแรกได้ความว่า นางท้อ ฉัยยา มารดาโจทก์เป็นพี่สาวจำเลยที่ 1มีบิดามารดาเดียวกันส่วนจำเลยที่ 2 เป็นบุตรจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2510 จำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาขายที่ดินพิพาทตามโฉนดเอกสารหมาย จ.1 ให้นางท้อพี่สาวในราคา 20,000 บาทปรากฏตามหนังสือสัญญาซื้อขายเอกสารหมาย จ.2 แต่มิได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ต่อมาปี 2514 จำเลยที่ 1 นำที่ดินพิพาทกับที่ดินของนางท้ออีก 1 แปลง คือที่ดินตามโฉนดเอกสารหมาย จ.7ไปจำนองกับธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ จำกัด สาขาโพธารามรวมเป็นเงิน 40,000 บาท หลังจากนั้นจำเลยที่ 1 เป็นผู้ชำระดอกเบี้ยและไถ่ถอนจำนองและคืนโฉนดที่ดินเอกสารหมาย จ.7 ให้นางท้อ ส่วนโฉนดที่ดินพิพาทเอกสารหมาย จ.1 จำเลยที่ 1 ไม่คืนแต่ไปจดทะเบียนยกให้จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบุตร ปัญหาต้องวินิจฉัยตามที่จำเลยทั้งสองฎีกาข้อแรกว่า โจทก์ได้กรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทโดยการครอบครองหรือไม่นั้นในข้อนี้จะต้องพิจารณาก่อนว่าฝ่ายโจทก์หรือฝ่ายจำเลยเป็นผู้ยึดถือครอบครองฝ่ายโจทก์นอกจากตัวโจทก์และนางท้อมารดาโจทก์จะเบิกความว่า เมื่อปี 2510 จำเลยที่ 1ขายที่ดินพิพาทให้นางท้อในราคา 20,000 บาท ได้ทำหนังสือสัญญาซื้อขายกันไว้แต่มิได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ จำเลยมอบโฉนดและที่ดินที่ซื้อขายให้นางท้อยึดถือครอบครอง ต่อมาปี 2514จำเลยที่ 1 ขอยืมโฉนดที่ดินพิพาทกับที่ดินของนางท้ออีก 1 แปลงไปจำนองธนาคารเพื่อนำเงินไปชดใช้ให้แก่ผู้ที่ได้รับความเสียหายกรณีจำเลยที่ 1 ขับรถยนต์เกิดอุบัติเหตุ ในเรื่องขายที่ดินพิพาทนั้นนอกจากพยานโจทก์ทั้งสองเบิกความยืนยันแล้ว โจทก์ยังมีหนังสือสัญญาซื้อขายตามเอกสารหมาย จ.2 เป็นพยานสนับสนุน ซึ่งจำเลยที่ 1ก็เบิกความตอบคำถามค้านทนายโจทก์ว่าตนเป็นผู้เขียนกรอกข้อความลงในเอกสารดังกล่าวและลงชื่อไว้ ซึ่งต่างกับที่จำเลยที่ 1ให้การต่อสู้ว่าตนมิได้ทำขึ้น ประกอบกับสัญญาซื้อขายเอกสารหมาย จ.2มีข้อความตามที่นางท้อพยานโจทก์เบิกความจึงทำให้น้ำหนักคำพยานโจทก์ที่ว่าจำเลยที่ 1 ขายที่ดินพิพาทและมอบโฉนดที่ดินกับที่ดินพิพาทให้นางท้อยึดถือครอบครองน่าเชื่อถือยิ่งขึ้นในเรื่องการทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทก็เช่นเดียวกัน ฝ่ายโจทก์มีตัวโจทก์และนางท้อเบิกความว่า หลังจากนางท้อซื้อที่ดินพิพาทมาแล้วนางท้อได้ดำเนินการปลูกผลไม้จำพวก มะม่วง มะพร้าวขนุนเต็มเนื้อที่ และในปี 2513 นางท้อปลูกบ้านเลขที่ 59/2 ลงในที่ดินของตนซึ่งอยู่ติดกับที่ดินพิพาททางด้านทิศใต้และได้ปลูกโรงรถล้ำเข้าไปในที่ดินพิพาทด้วย เกี่ยวกับการสร้างโรงรถนี้จำเลยที่ 1เบิกความว่า นางท้อได้มาขออนุญาตจากตน แต่นายอาพร สุขคันธรักษ์สามีจำเลยที่ 2 พยานจำเลยกลับเบิกความว่า มิได้ขออนุญาตจากจำเลยที่ 1 และที่ 2 แต่อย่างใด เกี่ยวกับการปลูกผลไม้และเก็บผลประโยชน์นั้น ฝ่ายโจทก์นอกจากตัวโจทก์ และนางท้อเบิกความเป็นพยานว่า ฝ่ายตนเป็นผู้ปลูกและเก็บผลประโยชน์แล้ว โจทก์ยังมีพยานบุคคลซึ่งอยู่ติดหรือใกล้กับที่ดินพิพาท บางคนมีอายุมาก บางคนมีตำแหน่งหน้าที่ราชการรู้ถึงความเป็นมาของที่ดินพิพาท และรู้ว่าใครปลูกผลไม้และเก็บผลประโยชน์สนับสนุนตัวโจทก์และนางท้อ ดังที่ศาลล่างทั้งสองได้วินิจฉัยไว้แล้ว นอกจากนี้ยังได้ความจากการเผชิญสืบของศาลชั้นต้นว่า ที่ดินที่โจทก์ปลูกบ้านกับที่ดินพิพาทติดต่อเป็นผืนเดียวกันไม่มีเครื่องแสดงแนวเขต ในที่ดินพิพาทมีโรงนึ่งเห็ด โรงเพาะเห็ด อย่างละ 2 โรง มีมะม่วง ขนุน มะพร้าวน้อยหน่าให้ผลแล้ว มีร่องสวนเก่า 3 ร่อง บนคันร่องมีต้นผลไม้ปลูกอยู่ ส่วนฝ่ายจำเลยคงมีจำเลยทั้งสองเบิกความเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า ในที่ดินพิพาทมีมะพร้าว มะม่วงปลูกอยู่ จำเลยทั้งสองเข้าไปเก็บกินอยู่บ่อย ๆ นอกจากนี้ยังอนุญาตให้นางท้อเก็บกินด้วย จำเลยที่ 1 เป็นผู้ดูแล นายอาพรสามีจำเลยที่ 2 พยานจำเลยทั้งสองเบิกความว่าพยานและจำเลยที่ 1 เคยเข้าไปดูแลเก็บผลไม้ในที่ดินพิพาทตามคำพยานของจำเลยทั้งสองดังกล่าวได้ความเพียงว่า ฝ่ายจำเลยเคยเข้าไปเก็บผลไม้ในที่ดินพิพาทเท่านั้นโดยไม่ได้ความว่าฝ่ายจำเลยเป็นผู้ปลูกนับว่าเป็นการผิดวิสัยของการเป็นเจ้าของซึ่งโดยปกติแล้วจะเป็นผู้ปลูก การที่จำเลยทั้งสองกับพวกเข้าไปเก็บผลไม้ในที่ดินพิพาทก็น่าจะเป็นเพราะเห็นว่าเป็นญาติกัน ที่จำเลยทั้งสองอ้างว่าเวลาทางราชการจะสร้างอาคารอเนกประสงค์ได้ขออนุญาตฝ่ายจำเลยนั้นก็น่าจะเป็นเพราะโฉนดที่ดินพิพาทมีชื่อของฝ่ายจำเลยก็เป็นได้ศาลฎีกาเห็นว่า พยานหลักฐานของโจทก์ดังกล่าวมีน้ำหนักดีกว่าพยานหลักฐานของจำเลย เชื่อว่า หลังจากทำสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทตามเอกสารหมาย จ.2 นางท้อมารดาโจทก์ได้ครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทตลอดมา จำเลยที่ 1 ไม่เคยเข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทเลย ต่อมานางท้อได้ยกที่ดินพิพาทให้โจทก์ แม้การซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างนางท้อกับจำเลยที่ 1 และการยกให้ที่ดินพิพาทระหว่างนางท้อกับโจทก์จะไม่ได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ แต่โจทก์ก็ได้ครอบครองที่ดินพิพาทโดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของสืบต่อจากนางท้อเป็นเวลากว่า 20 ปีโจทก์ย่อมได้กรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทโดยการครอบครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 การที่จำเลยที่ 1จดทะเบียนยกที่ดินพิพาทให้จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบุตร ตามพฤติการณ์แห่งคดีดังกล่าวส่อให้เห็นว่าจำเลยทั้งสองกระทำการโดยไม่สุจริตเป็นทางให้โจทก์ผู้อยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้อยู่ก่อนแล้วเสียเปรียบ โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนการให้ที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยทั้งสองได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1300 และจำเลยที่ 2 ไม่มีสิทธิฟ้องแย้งขับไล่โจทก์ออกจากที่ดินพิพาทที่ตนได้มาโดยไม่มีค่าตอบแทนและโดยไม่สุจริต คดีไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาจำเลยทั้งสองข้ออื่น ๆ ต่อไป ฎีกาจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น แต่ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันส่งมอบโฉนดที่ดินพิพาทคืนแก่โจทก์นั้น เห็นว่าตามบทบัญญัติประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 78 และกฎกระทรวงฉบับที่ 7 (พ.ศ. 2497)ออกตามความในพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. 2497บัญญัติไว้แล้วว่าจะต้องดำเนินการอย่างไร ซึ่งโจทก์สามารถที่จะปฏิบัติตามและได้รับผลตามความประสงค์ของโจทก์อยู่แล้ว โดยไม่จำเป็นต้องอาศัยคำสั่งศาลให้จำเลยทั้งสองส่งมอบโฉนดที่ดินพิพาทแต่อย่างใดจึงต้องยกคำขอในส่วนนี้”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำขอของโจทก์ที่ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันส่งมอบโฉนดที่ดินเลขที่ 9208 ตำบลสร้อยฟ้า (บางเลา) อำเภอโพธารามจังหวัดราชบุรีให้แก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share