คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1825/2536

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

การที่ ฉ. จำนองทรัพย์สินของตนไว้เป็นประกันหนี้ของจำเลยผู้ล้มละลาย ทรัพย์สินที่จำนองย่อมเป็นประกันเพื่อการชำระหนี้กับทั้งค่าอุปกรณ์อันได้แก่ดอกเบี้ยตามสัญญาจำนอง เมื่อผู้ร้องฟ้องฉ. เพื่อบังคับจำนองและเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดทรัพย์จำนองไม่เพียงพอที่จะเปลื้องหนี้สินได้ทั้งหมด การจัดลำดับชำระหนี้ก่อนหลังต้องเป็นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 329คือต้องจัดใช้เป็นค่าฤชาธรรมเนียมก่อนแล้วจึงใช้ดอกเบี้ย สุดท้ายจึงชำระหนี้อันเป็นประธานและดอกเบี้ยนั้นจะต้องใช้ถึงวันขายทอดตลาดเพราะ ฉ. ผู้จำนองมิใช่ลูกหนี้ที่ถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์จึงนำมาตรา 100 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลายฯ มาใช้บังคับไม่ได้

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยเด็ดขาดผู้ร้องยื่นคำขอรับชำระหนี้ในฐานะเจ้าหนี้มีประกันจำนวนเงิน31,031,959 บาท ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วมีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องได้รับชำระหนี้บางส่วนเป็นเงิน 30,756,810.81 บาท โดยให้ได้รับชำระหนี้จากการขายทอดตลาดทรัพย์จำนองของจำเลยก่อน หากไม่พอขาดอยู่เท่าใดก็ให้ได้รับชำระหนี้จากกองทรัพย์สินของจำเลย และมีเงื่อนไขว่า หากผู้ร้องได้รับชำระหนี้จากการบังคับจำนองที่ดินของนายเฉลิมพันธ์ไปแล้วเพียงใด ก็ให้สิทธิของผู้ร้องที่จะได้รับชำระหนี้จากกองทรัพย์สินของจำเลยลดลงไปเพียงนั้น ต่อมาเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีคำสั่งให้นำเงินสุทธิที่ได้จากการขายทอดตลาดทรัพย์จำนองของนายเฉลิมพันธ์ จำนวนเงิน 8,501,931 บาท หักชำระค่าธรรมเนียมและค่าทนายความในการฟ้องบังคับจำนองดังกล่าวเป็นเงิน230,850 บาท ก่อน เหลือเงินจำนวน 8,271,081 บาท จึงนำมาหักชำระหนี้ของจำเลยก็จะเหลือหนี้ของจำเลยที่ผู้ร้องมีสิทธิได้รับจากการจ่ายส่วนแบ่งตามบัญชีส่วนแบ่งเจ้าหนี้ครั้งที่สุด(ครั้งเดียว) เป็นเงินทั้งสิ้น 22,485,729.81 บาท
ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า เงินที่ได้จากการบังคับจำนองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างของนายเฉลิมพันธ์เมื่อนำไปหักชำระค่าเบี้ยประกันอัคคีภัยพร้อมดอกเบี้ย กับค่าดอกเบี้ยหนี้เงินกู้นับถึงวันขายทอดตลาดแล้วคงเหลือนำมาหักชำระหนี้ของจำเลยเพียง 2,508,121.24บาท เมื่อหักเงินจำนวนนี้ออกจากยอดหนี้จำนวน 30,756,810.81 บาทที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ผู้ร้องได้รับชำระหนี้แล้ว ผู้ร้องมีสิทธิได้รับชำระหนี้ตามบัญชีส่วนแบ่งเจ้าหนี้จากกองทรัพย์สินของจำเลยเป็นเงิน 28,248,689.57 บาท จึงขอให้ศาลมีคำสั่งแก้ไขคำสั่งของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์โดยให้จ่ายเงินส่วนแบ่งแก่ผู้ร้องตามจำนวนดังกล่าว
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ยื่นคำคัดค้านว่า ศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งถึงที่สุดตามความเห็นของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ให้ผู้ร้องได้รับชำระหนี้ตามมูลหนี้กู้ยืมเป็นเงิน 30,756,810.81 บาท เท่านั้นดังนั้นเมื่อขายทอดตลาดทรัพย์จำนองของนายเฉลิมพันธ์แล้วเงินที่ได้หลังจากหักค่าฤชาธรรมเนียมในการบังคับจำนองต้องนำไปชำระหนี้ของจำเลยก่อนในจำนวนที่ไม่เกินกว่าความรับผิดตามสัญญาจำนองหากยังมีเงินเหลือ ผู้ร้องจึงจะนำไปชำระหนี้ที่นายเฉลิมพันธ์เป็นหนี้และค้างชำระได้ ความรับผิดตามสัญญาจำนองที่นายเฉลิมพันธ์ต้องรับผิดชำระหนี้ของจำเลยพร้อมดอกเบี้ยนับถึงวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดเป็นเงิน 9,094,319.44 บาท เมื่อนำเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดทรัพย์จำนองของนายเฉลิมพันธ์ที่หักค่าฤชาธรรมเนียมจำนวน 230,850 บาท แล้ว หักชำระหนี้ของจำเลยผู้ร้องคงมีสิทธิได้รับส่วนแบ่งเป็นเงิน 22,485,729.81 บาทขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์นำเงินค่าดอกเบี้ยที่คำนวณถึงวันขายทอดตลาดหักออกจากเงินสุทธิที่ได้จากการขายทอดตลาดทรัพย์จำนองของนายเฉลิมพันธ์เสียก่อน แล้วจึงคำนวณจัดทำบัญชีส่วนแบ่งเจ้าหนี้เสียใหม่
ภายหลังจากศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยเป็นบุคคลล้มละลายแล้วจำเลยถึงแก่ความตาย นายเฉลิมพันธ์ บุตรจำเลยร้องขอเข้ามาเป็นผู้แทนจำเลย ศาลชั้นต้นอนุญาต
ผู้แทนจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
ผู้แทนจำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “กรณีนี้นายเฉลิมพันธ์ได้จำนองทรัพย์สินไว้เป็นประกันหนี้ของจำเลยต่อผู้ร้อง ซึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 715 นั้น ทรัพย์สินที่จำนองย่อมเป็นประกันเพื่อการชำระหนี้กับทั้งค่าอุปกรณ์อันได้แก่ดอกเบี้ยตามสัญญาจำนองดังกล่าวด้วย เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าในคดีที่ผู้ร้องฟ้องนายเฉลิมพันธ์เพื่อบังคับจำนองนั้น จำนวนเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดทรัพย์จำนองไม่เพียงพอที่จะเปลื้องหนี้สินได้ทั้งหมดการจัดลำดับในการชำระหนี้ก่อนหลังจึงต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 329 กล่าวคือต้องจัดใช้เป็นค่าฤชาธรรมเนียมเสียก่อนแล้วจึงใช้ดอกเบี้ยและในที่สุดจึงให้ใช้ในการชำระหนี้อันเป็นประธาน สำหรับดอกเบี้ยนั้นจะต้องใช้ถึงวันขายทอดตลาด กรณีเช่นนี้จะนำความในมาตรา 100แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 ที่บัญญัติว่า “ดอกเบี้ยหรือเงินค่าป่วยการอื่นแทนดอกเบี้ยภายหลังวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์นั้น ไม่ให้ถือว่าเป็นหนี้ที่จะขอรับชำระได้” มาใช้บังคับซึ่งจะมีผลให้ไม่ต้องนำเงินสุทธิที่ได้จากการขายทอดตลาดทรัพย์จำนองมาหักชำระค่าดอกเบี้ยที่เกิดหลังจากวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยแล้วตามที่ผู้แทนจำเลยฎีกาหาได้ไม่ เพราะนายเฉลิมพันธ์ผู้จำนองมิใช่ลูกหนี้ที่ถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์นายเฉลิมพันธ์จึงยังต้องรับผิดในดอกเบี้ยที่เกิดหลังจากวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยอยู่ ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยต้องกันมานั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของผู้แทนจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share