คำวินิจฉัยที่ 93/2557

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

คดีที่ผู้ฟ้องคดีซึ่งเป็นอดีตพนักงานของธนาคารแห่งประเทศไทยยื่นฟ้องธนาคารแห่งประเทศไทย ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยว่าจ่ายเงินบำนาญโดยไม่ชอบด้วยข้อบังคับที่เกี่ยวข้องกับสิทธิประโยชน์อันเกี่ยวกับการทำงาน ส่วนผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองให้การว่า การคำนวณและจ่ายบำนาญชอบด้วยกฎหมายและข้อบังคับที่เกี่ยวข้องแล้ว เห็นว่า คดีนี้เป็นกรณีพิพาทเกี่ยวกับการคำนวณและจ่ายบำนาญอันเป็นกรณีที่ผู้ถูกฟ้องคดีจ้างผู้ฟ้องคดีให้ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะพนักงานโดยจ่ายค่าจ้างเป็นเงินเดือนเพื่อตอบแทนการทำงานให้ จึงเป็นความสัมพันธ์ในฐานะลูกจ้างนายจ้างตามกฎหมายแพ่ง สัญญาจ้างทำงานดังกล่าวจึงเป็นสัญญาจ้างแรงงาน ดังนั้น เมื่อผู้ฟ้องคดีกล่าวอ้างว่าผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างในเรื่องสิทธิประโยชน์อันพึงได้รับจากการทำงานซึ่งถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของข้อตกลงในการเข้าปฏิบัติงาน คดีนี้จึงเป็นกรณีพิพาทเกี่ยวด้วยสิทธิหรือหน้าที่ตามสัญญาจ้างแรงงานและตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๘ วรรคหนึ่ง (๑) ซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๙๓/๒๕๕๗

วันที่ ๔ กันยายน ๒๕๕๗

เรื่อง เขตอำนาจศาลเกี่ยวกับพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๘ วรรคหนึ่ง (๑)

ศาลปกครองกลาง
ระหว่าง
ศาลแรงงานกลาง

การยื่นเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลปกครองกลางโดยสำนักงานศาลปกครองส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องคดีโต้แย้งอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องอำนาจศาลในคดีนั้น

ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๑๘ พฤษภาคม ๒๕๕๕ นางสมจิตต์ วรสัมพันธ์ ผู้ฟ้องคดี ยื่นฟ้องธนาคารแห่งประเทศไทย ที่ ๑ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ที่ ๒ ผู้ถูกฟ้องคดี ต่อศาลปกครองกลาง เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๗๘๑/๒๕๕๕ ความว่า ผู้ฟ้องคดีเข้าปฏิบัติงานในหน่วยงานผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ เมื่อปี ๒๕๒๕ ตำแหน่งพนักงานตรวจสอบ อัตราเงินเดือนชั้น ๓ ซึ่งขณะนั้นมีข้อบังคับธนาคารแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ ๖๘) เรื่อง เงินทุนเลี้ยงชีพ กำหนดสูตรหรือวิธีคำนวณเงินทุนเลี้ยงชีพประเภทสาม (ซึ่งต่อมาเรียกว่าบำนาญ) ตลอดจนมีหลักประกันความมั่นคงในสิทธิและประโยชน์กรณีพนักงานออกจากงานไว้ โดยระเบียบใดๆ ของธนาคารซึ่งจะพึงมีขึ้นหรือแก้ไขเพิ่มเติมในภายหน้าจะเป็นผลให้เสื่อมสิทธิหรือประโยชน์ของพนักงานที่มีอยู่แล้วในวันวางระเบียบการใหม่หรือแก้ไขเพิ่มไม่ได้และคงให้มีผลใช้บังคับได้นับแต่วันที่ได้วางระเบียบการใหม่หรือแก้ไขเพิ่มเติมเท่านั้น ต่อมาในปี ๒๕๓๙ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ได้จัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเพื่อเป็นทางเลือกให้แก่พนักงาน แต่ผู้ฟ้องคดีไม่ได้สมัครเข้าเป็นสมาชิกกองทุนดังกล่าว และผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ได้ออกข้อบังคับธนาคารแห่งประเทศไทย ว่าด้วยเงินทุนเลี้ยงชีพ พ.ศ. ๒๕๓๙ โดยกำหนดสูตรหรือวิธีคำนวณบำนาญตลอดจนมีหลักประกันความมั่นคงในสิทธิและประโยชน์กรณีพนักงานออกจากงานไว้เช่นเดิม ต่อมาในปี ๒๕๔๕ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายทรัพยากรบุคคลได้มีบันทึกลงวันที่ ๘ พฤศจิกายน ๒๕๔๕ เรื่อง การให้สิทธิพนักงานสมัครเข้าระบบค่าตอบแทนใหม่ แจ้งเวียนให้พนักงานเฉพาะที่ยังอยู่ในระบบบำเหน็จบำนาญแสดงความประสงค์ว่าจะเลือกระบบค่าตอบแทนแบบใดใน ๓ ทางเลือกตามความสมัครใจ กล่าวคือ ทางเลือกที่ ๑ เข้าระบบค่าตอบแทนใหม่โดยยังคงรับบำเหน็จบำนาญตามแนวทางที่ผู้ถูกฟ้องดีที่ ๑ กำหนด ทางเลือกที่ ๒ เข้าระบบค่าตอบแทนใหม่และขอเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพแทนการรับบำเหน็จ และทางเลือกที่ ๓ ขออยู่ในระบบค่าตอบแทนปัจจุบัน หากมิได้แสดงความประสงค์ชัดเจนว่าจะเลือกทางเลือกใดภายในเวลาที่กำหนด ให้แสดงว่าพนักงานผู้นั้นประสงค์จะคงอยู่ในระบบเดิมคือทางเลือกที่ ๓ ต่อไป ผู้ฟ้องคดีประสงค์จะอยู่ในระบบบำเหน็จบำนาญต่อไป แต่เชื่อโดยสุจริตว่าแม้จะเปลี่ยนวิธีคำนวณบำเหน็จบำนาญก็จะไม่มีผลให้เสื่อมสิทธิและประโยชน์ของผู้ฟ้องคดีที่มีอยู่เดิม นอกจากนี้หนังสือให้แสดงความประสงค์ที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ กำหนดก็มิได้ระบุว่าวิธีการคำนวณบำเหน็จบำนาญดังกล่าวจะมีผลให้เสื่อมสิทธิและประโยชน์ของพนักงานที่มีอยู่แล้วและมิได้ให้ทางเลือกเป็นอย่างอื่น ผู้ฟ้องคดีจึงแสดงความประสงค์เลือกทางเลือกที่ ๑ ต่อมาในปี ๒๕๔๔ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ มีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ฟ้องคดีออกจากงานตั้งแต่วันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๕๔ เมื่อคำนวณเงินบำนาญตามข้อบังคับธนาคารแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ ๖๘) เรื่อง เงินทุนเลี้ยงชีพ แล้วผู้ฟ้องคดีจะได้รับเงินบำนาญเดือนละ ๓๘,๗๒๐ บาท แต่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ จ่ายเงินบำนาญเดือนตุลาคมถึงเดือนพฤศจิกายน ๒๕๕๔ ให้ผู้ฟ้องคดีเพียงเดือนละ ๒๙,๘๓๗.๘๗ บาท ผู้ฟ้องคดีจึงมีหนังสือถึงผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายทรัพยากรบุคคล และคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย ขอให้คำนวณเงินบำนาญและจ่ายเงินบำนาญให้ถูกต้องครบถ้วน แต่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ มีหนังสือแจ้งว่าได้คำนวณและจ่ายเงินบำนาญถูกต้องตามข้อบังคับธนาคารแห่งประเทศไทย ว่าด้วยการพนักงาน (แก้ไขเพิ่มเติมครั้งที่ ๑๐) พ.ศ. ๒๕๔๒ และข้อบังคับธนาคารแห่งประเทศไทย ว่าด้วยเงินทุนเลี้ยงชีพ พ.ศ. ๒๕๓๙ และที่แก้ไขเพิ่มเติมแล้ว ผู้ฟ้องคดีไม่เคยเห็นหรือรับทราบถึงข้อบังคับธนาคารแห่งประเทศไทย ว่าด้วยการพนักงาน (แก้ไขเพิ่มเติม ครั้งที่ ๑๐) พ.ศ. ๒๕๔๒ ที่ประทับ “ลับ” มาก่อน และข้อบังคับดังกล่าวก็ไม่มีบัญชีอัตราเงินเดือนของพนักงานแนบท้าย การคำนวณเงินและการจ่ายเงินบำนาญของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองให้แก่ผู้ฟ้องคดีจึงไม่ถูกต้องและไม่เป็นธรรม ทั้งยังขัดกับข้อบังคับธนาคารแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ ๖๘) เรื่อง เงินทุนเลี้ยงชีพและข้อบังคับธนาคารแห่งประเทศไทย ว่าด้วยเงินทุนเลี้ยงชีพ พ.ศ. ๒๕๓๙ และเป็นการละเมิดสิทธิของผู้ฟ้องคดีจากการละเลยไม่ปฏิบัติตามข้อบังคับดังกล่าวในเรื่องการคำนวณและการจ่ายเงินบำนาญให้แก่ผู้ฟ้องคดี อันมีผลให้เสื่อมสิทธิและประโยชน์ของผู้ฟ้องคดีที่มีอยู่เดิม ขอให้บังคับผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองปฏิบัติให้ถูกต้องตามข้อบังคับธนาคารแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ ๖๘) เรื่อง เงินทุนเลี้ยงชีพและข้อบังคับธนาคารแห่งประเทศไทย ว่าด้วยเงินทุนเลี้ยงชีพ พ.ศ. ๒๕๓๙ ให้เพิกถอนวิธีการคำนวณบำนาญที่มีผลให้เสื่อมสิทธิและประโยชน์ของพนักงานที่มีอยู่แล้วตามธนาคารแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ ๖๘) เรื่อง เงินทุนเลี้ยงชีพและข้อบังคับธนาคารแห่งประเทศไทย ว่าด้วยเงินทุนเลี้ยงชีพ พ.ศ. ๒๕๓๙ ให้เพิกถอนหนังสือชี้แจงการคำนวณและจ่ายเงินบำนาญให้แก่ผู้ฟ้องคดี ให้จ่ายเงินบำนาญให้แก่ผู้ฟ้องคดีเดือนละ ๓๘,๗๒๐ บาท ตั้งแต่เดือนตุลาคม ๒๕๕๔ เป็นต้นไป กับให้จ่ายเงินบำนาญในส่วนที่จ่ายให้แก่ผู้ฟ้องคดีไม่ครบถ้วนตั้งแต่เดือนตุลาคม ๒๕๕๔ ถึงเดือนเมษายน ๒๕๕๕ รวมเป็นเงิน ๖๒,๑๗๔.๙๑ บาท พร้อมดอกเบี้ย
อนึ่ง ศาลปกครองกลางมีคำสั่งให้รับคำฟ้องไว้พิจารณาเฉพาะในส่วนข้อหาที่ฟ้องขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองจ่ายเงินบำนาญให้แก่ผู้ฟ้องคดีเดือนละ ๓๘,๗๒๐ บาท ตั้งแต่เดือนตุลาคม ๒๕๕๔ เป็นต้นไป กับให้จ่ายเงินบำนาญในส่วนที่จ่ายให้แก่ผู้ฟ้องคดีไม่ครบถ้วน
ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองให้การว่า การคำนวณและจ่ายบำนาญให้แก่ผู้ฟ้องคดีของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองเป็นไปตามความประสงค์ของผู้ฟ้องคดีและได้ปฏิบัติโดยชอบด้วยกฎหมาย ข้อบังคับธนาคารแห่งประเทศไทย ว่าด้วยเงินทุนเลี้ยงชีพ พ.ศ. ๒๕๓๙ และฉบับแก้ไขเพิ่มเติมแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า คดีนี้ตามเนื้อหาของคดีที่พิพาทเป็นคดีแรงงาน มิใช่คดีปกครอง คดีจึงไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
ศาลปกครองกลางพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้ผู้ฟ้องคดีอ้างว่าได้รับความเดือดร้อนเสียหายจากการที่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองจ่ายเงินบำนาญให้แก่ผู้ฟ้องคดีไม่ถูกต้องตามข้อบังคับธนาคารแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ ๖๘) เรื่อง เงินทุนเลี้ยงชีพ และข้อบังคับธนาคารแห่งประเทศไทย ว่าด้วยเงินทุนเลี้ยงชีพ พ.ศ. ๒๕๓๙ อันเป็นเหตุให้ผู้ฟ้องคดีได้รับเงินบำนาญน้อยลงซึ่งรับฟังได้ว่าผู้ฟ้องคดีประสงค์จะฟ้องว่าผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาใช้อำนาจทางปกครองออกคำสั่งจ่ายบำนาญให้แก่ผู้ฟ้องคดีโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย กรณีจึงเป็นการฟ้องคดีเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากคำสั่งทางปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ประกอบมาตรา ๓ แห่งพระราชกฤษฎีกากำหนดรัฐวิสาหกิจที่พระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๔๓ ไม่ใช้บังคับ พ.ศ. ๒๕๔๔ กำหนดให้ธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นรัฐวิสาหกิจที่พระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๔๓ ไม่ใช้บังคับ เมื่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ มิใช่รัฐวิสาหกิจที่อยู่ภายใต้บังคับพระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๔๓ คดีนี้จึงมิใช่คดีพิพาทเกี่ยวด้วยสิทธิหรือหน้าที่ตามสัญญาจ้างแรงงานหรือตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างและคดีพิพาทเกี่ยวด้วยสิทธิหรือหน้าที่ตามกฎหมายว่าด้วยแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ จึงไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแรงงาน แต่เป็นคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้เป็นกรณีที่ต้องพิจารณาว่าเป็นการฟ้องเกี่ยวกับการใช้อำนาจทางปกครองออกคำสั่งจ่ายเงินบำนาญให้แก่ผู้ฟ้องคดีโดยมิชอบอันเป็นการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากคำสั่งทางปกครองหรือเป็นกรณีพิพาทอันเกิดจากการที่ผู้ถูกฟ้องคดีปฏิบัติไม่ถูกต้องตามข้อบังคับธนาคารแห่งประเทศไทยว่าด้วยเงินทุนเลี้ยงชีพในเรื่องเงินบำนาญซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของข้อตกลงในการทำงานตามสัญญาจ้างหรือข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างอันเป็นสิทธิหรือหน้าที่ตามสัญญาจ้างแรงงาน เห็นว่า แม้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองจะมีฐานะเป็นหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐก็ตาม แต่เมื่อพิจารณาข้อบังคับธนาคารแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ ๖๘) เรื่อง เงินทุนเลี้ยงชีพ และข้อบังคับธนาคารแห่งประเทศไทย ว่าด้วยเงินทุนเลี้ยงชีพ พ.ศ. ๒๕๓๙ บัญญัติถึงสิทธิและประโยชน์ซึ่งพนักงานพึงได้รับในการทำงาน ความสัมพันธ์ระหว่างผู้ฟ้องคดีกับผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ จึงเป็นกรณีผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ จ้างผู้ฟ้องคดีให้ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะพนักงานโดยจ่ายค่าจ้างเป็นเงินเดือนเพื่อตอบแทนการทำงานให้ กับทั้งได้จัดให้มีเงินทุนเลี้ยงชีพสำหรับพนักงานกำหนดสิทธิประโยชน์เมื่อออกจากงานในรูปของเงินบำเหน็จบำนาญ ซึ่งข้อบังคับดังกล่าวไม่ใช่ข้อกำหนดที่มีลักษณะพิเศษอันเป็นการใช้อำนาจเหนือของฝ่ายปกครองตามระบบกฎหมายมหาชน และเป็นเพียงอำนาจในการบริหารและบังคับบัญชาของนายจ้างโดยทั่วไปที่ปรากฏในสัญญาจ้างแรงงานตามกฎหมายเอกชน โดยข้อบังคับทั้งสองฉบับเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสิทธิประโยชน์อันเกี่ยวกับการทำงานถือเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างและการฟ้องคดีนี้ก็เป็นการกล่าวอ้างว่าผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างในเรื่องสิทธิประโยชน์อันพึงได้รับจากการทำงานซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของข้อตกลงในการเข้าปฏิบัติงานในฐานะพนักงานตามสัญญาจ้าง ประเด็นแห่งคดีที่ผู้ฟ้องคดีฟ้องเรียกบำนาญส่วนที่ขาดและฟ้องขอให้จ่ายเงินบำนาญให้ครบถ้วนนั้นจึงเป็นกรณีพิพาทเกี่ยวด้วยสิทธิหรือหน้าที่ตามสัญญาจ้างแรงงานและตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๘ วรรคหนึ่ง (๑) มิใช่เกิดจากการใช้อำนาจทางปกครองออกคำสั่งโดยมิชอบหรือเป็นการฟ้องคดีเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากคำสั่งทางปกครองตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ แม้มาตรา ๓ แห่งพระราชกฤษฎีกากำหนดรัฐวิสาหกิจที่พระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๔๓ ไม่ใช้บังคับ พ.ศ. ๒๕๔๔ จะกำหนดให้ธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นรัฐวิสาหกิจที่พระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๔๓ ไม่ใช้บังคับ ก็เป็นกรณีมิให้นำกฎหมายดังกล่าวมาใช้บังคับในส่วนที่เกี่ยวกับเสรีภาพในการรวมกันเป็นสมาคม สหภาพ สหพันธ์หรือหมู่คณะเพื่อมิให้เกิดความเสียหายในระบบการเงินการคลังของประเทศเท่านั้น หาใช่เป็นกรณีกฎหมายห้ามมิให้นำกฎหมายเกี่ยวกับการระงับข้อพิพาททางแรงงานมาใช้บังคับกับข้อพิพาทคดีนี้และมิใช่เป็นกรณีที่กฎหมายกำหนดว่าการจ่ายเงินบำนาญให้แก่พนักงานเพื่อตอบแทนการทำงานตามข้อบังคับธนาคารแห่งประเทศไทยมิใช่เป็นการกำหนดสิทธิประโยชน์ที่พึงได้รับเพื่อตอบแทนการทำงานตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง ดังนั้นลักษณะนิติสัมพันธ์ระหว่างผู้ฟ้องคดีกับผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองจึงมีลักษณะเป็นการจ้างแรงงาน ไม่มีลักษณะเป็นสัญญาทางปกครอง คดีจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแรงงาน

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า ข้อเท็จจริงตามคำฟ้องคดีนี้ เดิมผู้ฟ้องคดีเป็นพนักงานของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ยื่นฟ้องผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองอ้างว่าผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองจ่ายเงินบำนาญให้แก่ผู้ฟ้องคดีไม่ถูกต้องตามข้อบังคับธนาคารแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ ๖๘) เรื่อง เงินทุนเลี้ยงชีพ และข้อบังคับธนาคารแห่งประเทศไทย ว่าด้วยเงินทุนเลี้ยงชีพ พ.ศ. ๒๕๓๙ แต่กลับคำนวณและจ่ายเงินบำนาญตามข้อบังคับธนาคารแห่งประเทศไทย ว่าด้วยการพนักงาน (แก้ไขเพิ่มเติมครั้งที่ ๑๐) พ.ศ. ๒๕๔๒ และข้อบังคับธนาคารแห่งประเทศไทย ว่าด้วยเงินทุนเลี้ยงชีพ พ.ศ. ๒๕๓๙ และที่แก้ไขเพิ่มเติมแล้ว ทำให้มีผลเสื่อมสิทธิและประโยชน์ของผู้ฟ้องคดีที่มีอยู่เดิม ขอให้บังคับผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองปฏิบัติให้ถูกต้องตามข้อบังคับธนาคารแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ ๖๘) เรื่อง เงินทุนเลี้ยงชีพและข้อบังคับธนาคารแห่งประเทศไทย ว่าด้วยเงินทุนเลี้ยงชีพ พ.ศ. ๒๕๓๙ กับให้จ่ายเงินบำนาญในส่วนที่จ่ายให้แก่ผู้ฟ้องคดีไม่ครบถ้วน ส่วนผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองให้การว่า การคำนวณและจ่ายบำนาญชอบด้วยกฎหมายและข้อบังคับที่เกี่ยวข้องแล้ว ดังนั้น คดีนี้จึงเป็นกรณีพิพาทเกี่ยวกับการคำนวณและจ่ายบำนาญของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ให้แก่ผู้ฟ้องคดี เห็นว่า เมื่อความสัมพันธ์ระหว่างผู้ฟ้องคดีและผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ เป็นกรณีผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ จ้างผู้ฟ้องคดีให้ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะพนักงานโดยจ่ายค่าจ้างเป็นเงินเดือนเพื่อตอบแทนการทำงานให้ จึงเป็นความสัมพันธ์ในฐานะลูกจ้างนายจ้าง อันเป็นความสัมพันธ์ตามกฎหมายแพ่ง สัญญาจ้างทำงานระหว่างโจทก์กับจำเลยจึงเป็นสัญญาจ้างแรงงาน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๕๗๕ โดยผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ จัดให้มีเงินทุนเลี้ยงชีพสำหรับพนักงานกำหนดสิทธิประโยชน์เมื่อออกจากงานในรูปของเงินบำเหน็จบำนาญภายใต้ข้อบังคับของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ที่ว่าด้วยสิทธิและประโยชน์ของพนักงานของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ข้อบังคับที่เกี่ยวข้องกับสิทธิประโยชน์อันเกี่ยวกับการทำงานดังกล่าวจึงถือเป็นส่วนหนึ่งของข้อตกลงในการทำงานตามสัญญาจ้างหรือข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างอันเป็นสิทธิหรือหน้าที่ตามสัญญาจ้างแรงงาน ดังนั้น เมื่อพิจารณาถึงข้อเท็จจริงตามคำฟ้องที่กล่าวอ้างว่าผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองจ่ายเงินบำนาญให้แก่ผู้ฟ้องคดีไม่ถูกต้องตามข้อบังคับที่เกี่ยวข้องกับสิทธิประโยชน์อันเกี่ยวกับการทำงาน กรณีจึงเป็นการกล่าวอ้างว่าผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างในเรื่องสิทธิประโยชน์อันพึงได้รับจากการทำงานซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของข้อตกลงในการเข้าปฏิบัติงานในฐานะพนักงานตามสัญญาจ้าง คดีนี้จึงเป็นกรณีพิพาทเกี่ยวด้วยสิทธิหรือหน้าที่ตามสัญญาจ้างแรงงานและตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๘ วรรคหนึ่ง (๑) ซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแรงงาน แม้มาตรา ๓ แห่งพระราชกฤษฎีกากำหนดรัฐวิสาหกิจที่พระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๔๓ ไม่ใช้บังคับ พ.ศ. ๒๕๔๔ กำหนดให้ธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นรัฐวิสาหกิจที่พระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๔๓ ไม่ใช้บังคับก็ตาม แต่บทบัญญัติดังกล่าวก็มิใช่เกณฑ์การพิจารณาเขตอำนาจศาล เพียงแต่กำหนดว่าการจ้างแรงงานตามพระราชบัญญัติดังกล่าวไม่อยู่ในบังคับของกฎหมายแรงงานทั่วไปเท่านั้น คดีพิพาทระหว่างผู้ฟ้องคดีกับผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองจึงเป็นคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่าง นางสมจิตต์ วรสัมพันธ์ ผู้ฟ้องคดี ธนาคารแห่งประเทศไทย ที่ ๑ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ที่ ๒ ผู้ถูกฟ้องคดี อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) ดิเรก อิงคนินันท์ (ลงชื่อ) สุวัฒน์ วรรธนะหทัย
(นายดิเรก อิงคนินันท์) (นายสุวัฒน์ วรรธนะหทัย)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) หัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล) (นายจรัญ หัตถกรรม)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) พลเรือโท กฤษฎา เจริญพานิช (ลงชื่อ) พลตรี พัฒนพงษ์ เกิดอุดม
(กฤษฎา เจริญพานิช) (พัฒนพงษ์ เกิดอุดม)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

Share