คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 822/2536

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

การทำและแจกจ่ายเอกสารที่มีข้อความกล่าวหานายจ้างว่ามีพฤติการณ์ในทางร้าย กลั่นแกล้งและแก้แค้นลูกจ้างซึ่งเป็นกรรมการสหภาพแรงงานไม่เลิกราไม่เป็นไปตามที่พูดไว้ ไม่มีความสุจริตใจต้องการให้พนักงานแตกความสามัคคีพยายามทำให้สหภาพแรงงานซึ่งเป็นองค์การของลูกจ้างเลิกไป เป็นคนไม่อยู่กับร่องกับรอยอันเป็นข้อความที่ล้วนแต่ทำให้ลูกจ้างและผู้อ่านข้อความนั้นรู้สึกว่านายจ้างประพฤติปฏิบัติตนไม่ดี ไม่ถูกต้อง และไม่มีคุณธรรมก่อให้เกิดความเสียหายแก่นายจ้างทั้งสิ้น เป็นการจงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย

ย่อยาว

ผู้ร้องทั้งเก้าสำนวนยื่นคำร้องว่า ผู้ร้องที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดและมอบอำนาจให้ผู้ร้องที่ 2 ซึ่งเป็นกรรมการผู้อำนวยการดำเนินคดีนี้แทน ผู้คัดค้านทั้งเก้าเป็นลูกจ้างของผู้ร้องทั้งสองและเป็นกรรมการลูกจ้างระหว่างวันที่ 1 ถึงวันที่ 8กุมภาพันธ์ 2535 เวลากลางวันและกลางคืนติดต่อกัน วันเวลาใดไม่ปรากฏชัด ผู้คัดค้านที่ 1 ที่ 3 ถึงที่ 8 ร่วมกับลูกจ้างอื่นกระทำผิดอาญาโดยเจตนาแก่ผู้ร้องทั้งสองผู้เป็นนายจ้าง และจงใจทำให้ผู้ร้องทั้งสองได้รับความเสียหาย โดยผู้คัดค้านดังกล่าวได้ใส่ความผู้ร้องทั้งสองโดยการโฆษณาด้วยเอกสาร แจกจ่ายแก่พนักงานลูกจ้างของผู้ร้องทั้งสองและบุคคลทั่วไป ผู้ร้องทั้งสองพูดกลับกลอกต้องการที่จะให้พนักงานแตกแยกกันและพยายามจะล้มองค์กรสหภาพการกระทำดังกล่าวทำให้ผู้ร้องทั้งสองเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นเกลียดชัง ต่อมาผู้คัดค้านดังกล่าวร่วมกับลูกจ้างคนอื่นใส่ความผู้ร้องทั้งสองโดยการโฆษณาด้วยเอกสาร ภาพวาด มีความหมายว่าผู้ร้องที่ 1 บีบคณะกรรมการสหภาพและพนักงาน โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้ร้องทั้งสองเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นเกลียดชัง แล้วแจกจ่ายแก่พนักงานของผู้ร้องทั้งสองและบุคคลทั่วไป ทำให้ผู้ที่ได้พบเห็นภาพวาดดังกล่าวเข้าใจผู้ร้องทั้งสองไปในทางที่เสียหาย การกระทำดังกล่าวไม่ได้เป็นการแสดงความคิดเห็นหรือข้อความโดยสุจริต เพื่อความชอบธรรม ป้องกันตัวเอง หรือป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับตนตามคลองธรรมไม่ได้กระทำในฐานะเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติตามหน้าที่ หรือเป็นการติชมด้วยความเป็นธรรม หรือเป็นการแจ้งข่าวด้วยความเป็นธรรมแต่เป็นการจงใจทำให้ผู้ร้องทั้งสองผู้เป็นนายจ้างได้รับความเสียหายการกระทำดังกล่าวของผู้คัดค้านที่ 1 ที่ 3 ถึงที่ 8 เป็นการยุยงส่งเสริมให้ลูกจ้างอื่นของผู้ร้องที่ 1 เกิดความแตกแยกในหมู่คณะและเป็นการแพร่ข่าวที่ไม่เป็นความจริง อันอาจเป็นเหตุให้ผู้ร้องทั้งสองได้รับความเสียหายและเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2535เวลากลางวัน ผู้คัดค้านที่ 1 ถึงที่ 3 ที่ 6 ถึงที่ 9 ร่วมกันหยุดงานและชักชวนลูกจ้างอื่นของผู้ร้องให้หยุดงานในระหว่างที่ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างยังมีผลใช้บังคับอยู่ ขอให้ศาลอนุญาตให้ผู้ร้องทั้งสองเลิกจ้างผู้คัดค้านทั้งเก้าโดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยและเงินสมทบส่วนบริษัทร้อยละ 5 ตามข้อบังคับด้วย
ผู้คัดค้านทั้งเก้ายื่นคำคัดค้านว่า การออกแถลงการณ์ทุกครั้งผู้คัดค้านทั้งเก้าคำนึงถึงระบบแรงงานสัมพันธ์อันดีระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง บางครั้งมีการติชมหรือแสดงความคิดเห็นโดยสุจริตเพื่อความชอบธรรมของสหภาพแรงงานและสมาชิกของสหภาพแรงงานขอให้ยกคำร้อง
ศาลแรงงานกลางอนุญาตให้ผู้ร้องทั้งสองเลิกจ้างผู้คัดค้านทั้งเก้าซึ่งเป็นกรรมการลูกจ้างได้ คำขออื่น นอกจากนี้ให้ยก
ผู้คัดค้านทั้งเก้าอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “…แถลงการณ์ด่วนพิเศษเอกสารหมาย ร.3 มีข้อความกล่าวถึงผู้ร้องทั้งสองหลายแห่งเช่นกล่าวถึงผู้ร้องที่ 1 ว่า “พอเข้าทำงานแล้วบริษัทฯ ก็ยังพูดว่าบริษัทฯ อยากให้เกิดความสามัคคีเหมือนเดิมแต่พอพนักงานเข้ามาทำงานแล้วให้ความร่วมมือกับทางบริษัทในการทำงาน แต่ทางบริษัทฯยังทำให้พนักงานกับสหภาพฯ แตกสามัคคีมาโดยตลอดจนกระทั่งมาเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2535 ทางบริษัทฯ ได้โยกย้ายคณะกรรมการสหภาพฯ โดยมีเจตนากลั่นแกล้งและแก้แค้นคณะกรรมการสหภาพฯ” และ”ทางสหภาพฯ ยังรู้ข้อมูลอีกว่า พวกเรานัดหยุดงานนั้น พวกที่เข้าทำงานก่อนได้เงินปลอบขวัญอีกมากพอสมควรให้กับพวกที่เข้ามาทำงานอีกโดยที่พวกเราไม่ได้อย่างนี้ พวกเราก็เห็นแล้วว่าบริษัทฯ ไม่มีความจริงใจต่อพนักงาน และบริษัทฯ ต้องการที่จะให้พนักงานแตกแยกกันด้วย ฉะนั้น ขอให้พนักงานเล็งเห็นว่า บริษัทฯ ยังเล่นพวกเราไม่เลิกโดยพยายามจะล้มองค์กรสหภาพฯ” และกล่าวถึงผู้ร้องที่ 2 ว่า”ในเมื่อบริษัทฯ เคยพูดว่าเราจะลืมเรื่องเก่า ๆ และไม่มีการกลั่นแกล้งต่อพนักงานทุกคน แล้วคุณโกมลพูดที่โรงอาหารเมื่อเราเข้าทำงานในวันแรก แล้วทำไมผู้ใหญ่ถึงพูดกลับกลอกอย่างนี้พวกเราจะเชื่อถือได้อย่างไร” ข้อความดังกล่าวแม้จะอ่านรวมกันแล้วก็ยังเป็นการกล่าวหาผู้ร้องที่ 1 ว่า มีพฤติการณ์ในทางร้ายกลั่นแกล้งและแก้แค้นผู้คัดค้านทั้งเก้าซึ่งเป็นกรรมการสหภาพแรงงานไม่เลิกรา ไม่เป็นไปตามที่พูดไว้ ผู้ร้องที่ 1 ไม่มีความสุจริตใจต้องการให้พนักงานแตกความสามัคคี พยายามทำให้สหภาพแรงงาน ซึ่งเป็นองคกรของลูกจ้างเลิกไป และกล่าวหาผู้ร้องที่ 2 ว่าเป็นคนไม่อยู่กับร่องกับรอย ซึ่งข้อความดังกล่าวล้วนแต่ทำให้ลูกจ้างและผู้อ่านข้อความนั้นรู้สึกว่า ผู้ร้องทั้งสองประพฤติปฏิบัติตนไม่ดีไม่ถูกต้อง และไม่มีคุณธรรมก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ร้องทั้งสองซึ่งเป็นนายจ้างทั้งสิ้น การทำและแจกจ่ายแถลงการณ์ด่วนพิเศษเอกสารหมาย ร.3 จึงเป็นการจงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหายอันเป็นความผิดร้ายแรงในหมวด 9 บทที่ 2 โทษทางวินัย ข้อ 2.2ตามข้อบังคับเอกสารหมาย ร.5 ซึ่งร่วมกันกำหนดขึ้นระหว่างผู้ร้องที่ 1 กับสหภาพแรงงานกันยงอีเลคทริกแห่งประเทศไทย ผู้ร้องทั้งสองย่อมมีสิทธิที่จะเลิกจ้างผู้คัดค้านที่กระทำความผิดดังกล่าวได้…
พิพากษายืน

Share