คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 337/2536

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ฟ้องเดิมของโจทก์เป็นเรื่องที่ขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าเสียหายสำหรับสินค้าของโจทก์ที่ขาดหายไป เพราะจำเลยทุจริตต่อหน้าที่เป็นเหตุให้โจทก์เสียหาย ส่วนฟ้องแย้งของจำเลยนั้นขอให้บังคับโจทก์ใช้ค่าสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าชดเชยและค่าเสียหาย ดังนั้นฟ้องเดิมจึงเป็นคดีอันเกิดจากมูลละเมิดเกี่ยวกับการทำงานตามสัญญาจ้างแรงงาน แต่ฟ้องแย้งเป็นคดีพิพาทเกี่ยวด้วยสิทธิตามสัญญาจ้างแรงงาน และกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน แม้ฟ้องเดิมและฟ้องแย้งจะเป็นคดีแรงงานก็ตาม แต่ข้อเท็จจริงตลอดจนพยานหลักฐานที่จะนำสืบเป็นคนละประเด็นแตกต่างกัน ไม่มีความเกี่ยวข้องเกี่ยวพันกัน ฟ้องแย้งจึงไม่อาจรับไว้พิจารณารวมกับฟ้องเดิมได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเข้าทำงานเป็นลูกจ้างโจทก์ตำแหน่งผู้จัดการ มีข้อตกลงว่าถ้าจำเลยก่อให้เกิดความเสียหายหรือก่อให้เกิดหนี้สินขึ้นต่อโจทก์ไม่ว่าด้วยเหตุใด จำเลยยอมรับผิดชดใช้ความเสียหายหรือหนี้สินนั้น ๆ โดยสิ้นเชิงให้แก่โจทก์ตามที่โจทก์เรียกร้อง ปัจจุบันโจทก์ได้เลิกจ้างจำเลยแล้ว ระหว่างที่จำเลยปฏิบัติหน้าที่ผู้จัดการสหกรณ์โจทก์ จำเลยได้ทุจริตต่อหน้าที่กระทำผิดสัญญาจ้างแรงงานทำให้โจทก์เสียหาย รวมต้นเงินและดอกเบี้ยทั้งสิ้น 161,650 บาท ต่อมาโจทก์ได้ตรวจนับสินค้าของโจทก์ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของจำเลยต่อหน้าจำเลย พบว่าสินค้ามีดชนิดต่าง ๆ ของโจทก์ขาดหายไป 119 รายการ เป็นเงิน115,376.05 บาท นอกจากนี้จำเลยได้ปฏิบัติหน้าที่ผู้จัดการฝ่าฝืนมติที่ประชุมคณะกรรมการดำเนินการของสหกรณ์โจทก์ โจทก์ต้องสูญเสียเงินค่าสินค้าไป 117,690.50 บาท การกระทำของจำเลยดังกล่าวทำให้โจทก์เสียหายเป็นเงินทั้งสิ้น 394,716.55 บาท โจทก์ทวงถามให้จำเลยชำระแล้ว จำเลยไม่ชำระ ขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 394,716.55บาท พร้อมดอกเบี้ยตามสัญญารับสภาพหนี้อัตราร้อยละสิบห้าต่อปีจากต้นเงิน 106,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเงินเสร็จแก่โจทก์
จำเลยยื่นคำให้การและฟ้องแย้งว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความเพราะโจทก์เลิกจ้างจำเลยตั้งแต่วันที่ 20 มีนาคม 2530 จำเลยไม่ได้กระทำการทุจริตต่อหน้าที่ โจทก์ตรวจนับสินค้าต่อหน้าจำเลยพบสินค้ามีดขาดหายไป หักกลบแล้วคิดเป็นเงิน 115,376.05 บาท นั้นจำเลยไม่ได้เป็นผู้ลงบัญชีตรวจนับสินค้า หากเกิดความเสียหายดังที่โจทก์ฟ้อง นอกจากนี้ที่โจทก์อ้างว่าจำเลยได้ฝ่าฝืนมติที่ประชุมคณะกรรมการดำเนินการของสหกรณ์โจทก์เป็นเหตุให้โจทก์ต้องสูญเสียเงินไป 117,690.50 บาท ก็ไม่เป็นความจริง การที่โจทก์ไม่ดำเนินการฟ้องคดีบุคคลดังกล่าว ไม่ใช่เป็นความผิดของจำเลย จำเลยไม่ต้องรับผิด ขอให้ยกฟ้องและขอฟ้องแย้งขอให้โจทก์จ่ายเงินสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจำนวน 4,899.72 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีจนกว่าจะชำระเสร็จแก่จำเลย ขอให้โจทก์จ่ายค่าชดเชยจำนวน21,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่จำเลย และขอให้โจทก์ใช้ค่าเสียหายแก่จำเลยเป็นเงิน 1,000,000 บาท
ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งไม่รับฟ้องแย้งของจำเลยเพราะไม่เกี่ยวกับฟ้องเดิม
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า ฟ้องของโจทก์ไม่ขาดอายุความ จำเลยไม่ดูแลรักษาสินค้าของโจทก์ตามหน้าที่เป็นเหตุให้โจทก์เสียหายจำเลยจึงต้องชดใช้ค่าสินค้าขาดบัญชีแก่โจทก์ พิพากษาให้จำเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นเงิน 221,376.05 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละสิบห้าต่อปีจากต้นเงิน 106,000 บาท นับแต่วันที่1 กันยายน 2531 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระต้นเงิน 106,000 บาท เสร็จทั้งให้ชำระดอกเบี้ยนับถึงวันฟ้อง (วันที่ 1 เมษายน 2535) ไม่เกิน55,650 บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา ขอให้รับฟ้องแย้งของจำเลยและขอให้ศาลแรงงานกลางพิจารณาพิพากษาใหม่ตามรูปคดี
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยว่าฟ้องแย้งของจำเลยเกี่ยวกับฟ้องเดิมหรือไม่ ปัญหาข้อนี้ จำเลยอุทธรณ์ว่า ที่ศาลแรงงานกลางสั่งไม่รับฟ้องแย้งของจำเลยเป็นคำสั่งที่ไม่ถูกต้อง เห็นว่า ตามฟ้องเดิมของโจทก์เป็นเรื่องที่ขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าเสียหายสำหรับสินค้าของโจทก์ที่ขาดหายไปเพราะจำเลยทุจริตต่อหน้าที่เป็นเหตุให้โจทก์เสียหายส่วนฟ้องแย้งของจำเลยนั้นขอให้บังคับโจทก์ใช้ค่าสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าชดเชยและค่าเสียหาย ดังนั้น ฟ้องเดิมจึงเป็นคดีอันเกิดแต่มูลละเมิดเกี่ยวกับการทำงานตามสัญญาจ้างแรงงานแต่ฟ้องแย้งเป็นคดีพิพาทเกี่ยวด้วยสิทธิตามสัญญาจ้างแรงงานและตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน แม้ว่าทั้งฟ้องเดิมและฟ้องแย้งจะเป็นคดีแรงงานก็ตาม แต่ข้อเท็จจริงตลอดจนพยานหลักฐานที่จะนำสืบเป็นคนละเรื่องคนละประเด็นแตกต่างกัน ไม่มีความเกี่ยวข้องเกี่ยวพันกัน ฟ้องแย้งของจำเลยจึงไม่อาจรับไว้พิจารณารวมกับฟ้องเดิมของโจทก์ได้ ที่ศาลแรงงานกลางไม่รับฟ้องแย้งของจำเลยนั้นชอบแล้ว อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share