แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
แม้จำเลยยื่นคำร้องขอเลื่อนคดีภายหลังจากที่ศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งยกคำร้องของจำเลย เพราะเหตุฝ่ายจำเลยไม่มาศาลในวันนัดไต่สวนคำร้องไปแล้วก็ตาม แต่ตามคำร้องของจำเลยได้ยกข้ออ้างว่ามีพฤติการณ์พิเศษและเป็นเหตุสุดวิสัยที่จำเลยไม่อาจยื่นคำร้องขอเลื่อนคดีได้ภายในเวลานัดไต่สวนคำร้อง ซึ่งจำเลยชอบที่จะกระทำได้ และหากปรากฎว่าคดีมีพฤติการณ์พิเศษและเป็นกรณีที่มีเหตุสุดวิสัย ศาลชั้นต้นมีอำนาจที่จะสั่งเพิกถอนคำสั่งที่ยกคำร้องของผู้ร้องได้ตามมาตรา 27 และให้เลื่อนวันนัดไต่สวนคำร้องให้แก่จำเลยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 23และมาตรา 40 ได้ เหตุตามคำร้องขอเลื่อนคดีของจำเลยอ้างเหตุในคำร้องขอเลื่อนคดีว่าทนายจำเลย เดินทางไปยังอำเภอวัฒนานคร จังหวัดปราจีนบุรี เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2535 เพื่อเจรจาตกลงเรื่องค่าเสียหายที่ลูกความได้ขับรถยนต์ชนคนตายไม่อาจเดินทางกลับมาว่าความได้ทันเพราะรถยนต์ที่ใช้เป็นยานพาหนะไปและกลับเครื่องยนต์เสีย เมื่อศาลชั้นต้นนัดไต่สวนคำร้องในวันที่ 17 กุมภาพันธ์2535 เวลา 13.30 นาฬิกา แม้ในวันเวลาดังกล่าว ทนายจำเลยจะไม่อาจเดินทางกลับมาว่าความได้ทันกำหนดนัดก็ตาม ตัวจำเลยซึ่งสามารถดำเนินกระบวนพิจารณาต่อศาลได้ก็ชอบที่จะมาศาลในวันนัดและแจ้งให้ศาลชั้นต้นทราบถึงเหตุขัดข้องจำเป็นต้องขอเลื่อนคดีภายในเวลาที่กำหนด ยิ่งปรากฎว่าศาลชั้นต้นรออยู่จนถึงเวลา 14.30 นาฬิกาตัวจำเลยก็มิได้มาศาลเพิ่งมาศาลและยื่นคำร้องขอเลื่อนคดีภายหลังพ้นกำหนดเวลานัดพิจารณาและศาลได้มีคำสั่งยกคำร้องไปแล้วนอกจากนั้นหากรถยนต์ที่ทนายจำเลยใช้เป็นยานพาหนะไปและกลับเครื่องยนต์เสียจริง ทนายจำเลยก็สามารถเดินทางโดยยานพาหนะอื่นได้กรณีจึงถือไม่ได้ว่าตามคำร้องของจำเลยมีพฤติการณ์พิเศษและเป็นกรณีที่มีเหตุสุดวิสัย จำเลยจะยื่นคำร้องขอเลื่อนคดีภายหลังเวลานัดไต่สวนคำร้องและหลังจากศาลชั้นต้นสั่งยกคำร้องไปแล้วหาได้ไม่คดีไม่มีเหตุที่จะอนุญาตให้จำเลยเลื่อนคดีได้
ย่อยาว
คดีนี้สืบเนื่องจากศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์จำนวน 1,498,374.67 บาท พร้อมดอกเบี้ยและค่าฤชาธรรมเนียม หากไม่ชำระให้ยึดทรัพย์จำนองของจำเลยที่ 1 ขายทอดตลาดนำเงินมาชำระ ต่อมาจำเลยทั้งสองไม่ยอมชำระ โจทก์ขอให้บังคับคดีและนำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์จำนองที่ดินโฉนดเลขที่112539, 112540, 112541 และ 112542 พร้อมบ้านเลขที่ 641/48-51ของจำเลยที่ 1 ออกขายทอดตลาดเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2534 โดยโจทก์เป็นผู้ประมูลซื้อได้ในราคา 4,000,000 บาท
จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องว่า การขายทอดตลาดไม่ชอบเนื่องจากเจ้าพนักงานบังคับคดีมิได้แจ้งวันขายทอดตลาดให้จำเลยที่ 1 ทราบและราคาที่ขายต่ำกว่าความเป็นจริงมาก เพราะทรัพย์มีราคาถึง 8,000,000 บาท ขอให้ยกเลิกการขายทอดตลาดและประกาศขายใหม่
โจทก์ยื่นคำคัดค้านว่า เจ้าพนักงานบังคับคดีได้แจ้งกำหนดวันเวลาขายทอดตลาดให้จำเลยที่ 1 ทราบโดยชอบแล้ว ราคาที่ขายสูงกว่าราคาที่เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ประเมินไว้ จึงเป็นราคาที่สมควร ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นสั่งนัดไต่สวนคำร้องของจำเลยที่ 1 ในวันที่ 9ตุลาคม 2534 ถึงวันนัดจำเลยที่ 1 ขอเลื่อน ศาลชั้นต้นอนุญาตให้เลื่อนไปไต่สวนในวันที่ 16 ธันวาคม 2534 เวลา 9 นาฬิกาพอถึงวันนัดจำเลยที่ 1 ขอเลื่อนการไต่สวนอีก ศาลชั้นต้นอนุญาตให้เลื่อนไปไต่สวนในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2535 เวลา 13.30 นาฬิกาแต่พอถึงวันนัด ปรากฎว่าฝ่ายโจทก์มาศาล ส่วนฝ่ายจำเลยที่ 1ไม่มีผู้ใดมาศาล ศาลชั้นต้นรออยู่จนถึงเวลา 14.30 นาฬิกาฝ่ายจำเลยที่ 1 ก็มิได้มาศาลและไม่ได้แจ้งเหตุขัดข้องแต่อย่างใดศาลชั้นต้นถือว่าจำเลยที่ 1 ไม่มีพยานมาสืบให้ได้ความตามคำร้องให้ยกคำร้อง ค่าคำร้องเป็นพับ ในวันเดียวกันจำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอเลื่อนคดี อ้างว่าทนายความของจำเลยที่ 1 เดินทางไปเจรจาตกลงค่าเสียหายเกี่ยวกับรถยนต์ชนคนตายให้แก่ลูกความที่อำเภอวัฒนานคร จังหวัดปราจีนบุรี และเดินทางกลับไม่ทันเนื่องจากรถยนต์ที่ใช้เป็นยานพาหนะเครื่องยนต์เสีย ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าได้เสนอคำร้องมาหลังจากศาลได้สั่งยกคำร้องคัดค้านการขายทอดตลาดของจำเลยที่ 1 แล้วให้ยกคำร้อง
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้แม้จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอเลื่อนคดีภายหลังจากที่ศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งยกคำร้องของจำเลยที่ 1ไปแล้วก็ตามแต่ตามคำร้องของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวได้ยกข้ออ้างว่ามีพฤติการณ์พิเศษและเป็นเหตุสุดวิสัยที่จำเลยที่ 1 ไม่อาจยื่นคำร้องขอเลื่อนคดีได้ภายในเวลานัดไต่สวนคำร้อง ซึ่งจำเลยที่ 1 ชอบที่จะกระทำได้ และหากปรากฎว่าคดีมีพฤติการณ์พิเศษและเป็นกรณีที่มีเหตุสุดวิสัย ศาลชั้นต้นมีอำนาจที่จะสั่งเพิกถอนคำสั่งที่ยกคำร้องของผู้ร้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 27 และให้เลื่อนวันนัดไต่สวนคำร้องให้แก่จำเลยที่ 1 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 23 และมาตรา 40 ที่ศาลอุทธรณ์เห็นว่าคำร้องของจำเลยที่ 1 มิใช่เรื่องการสั่งขยายหรือย่นระยะเวลาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 23 ไม่จำต้องวินิจฉัยในปัญหาที่ว่ามีพฤติการณ์พิเศษและเป็นกรณีมีเหตุสุดวิสัยหรือไม่นั้นศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาจำเลยที่ 1 ส่วนนี้ฟังขึ้น อย่างไรก็ตามศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยไปทีเดียวในปัญหาที่ว่า เหตุตามคำร้องขอเลื่อนคดีของจำเลยที่ 1 มีพฤติการณ์พิเศษและเป็นกรณีที่มีเหตุสุดวิสัย สมควรอนุญาตให้เลื่อนคดีหรือไม่ โดยไม่ย้อนสำนวนไปให้ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัย พิเคราะห์แล้วที่จำเลยที่ 1 อ้างว่าทนายจำเลยที่ 1 เดินทางไปยังอำเภอวัฒนานคร จังหวัดปราจีนบุรีเมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2535 เพื่อเจรจาตกลงเรื่องค่าเสียหายที่ลูกความได้ขับรถยนต์ชนคนตายไม่อาจเดินทางกลับมาว่าความได้ทันเพราะรถยนต์ที่ใช้เป็นยานพาหนะไปและกลับเครื่องยนต์เสียนั้นเห็นว่า ศาลชั้นต้นนัดไต่สวนคำร้องในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2535 เวลา13.30 นาฬิกา แม้ในวันเวลาดังกล่าวทนายจำเลยที่ 1 จะไม่อาจเดินทางกลับมาว่าความได้ทันกำหนดนัดก็ตามตัวจำเลยที่ 1 ซึ่งสามารถดำเนินกระบวนพิจารณาต่อศาลได้ก็ชอบที่จะมาศาลในวันนัดและแจ้งให้ศาลชั้นต้นทราบถึงเหตุขัดข้องจำเป็นต้องขอเลื่อนคดีภายในเวลาที่กำหนด ยิ่งปรากฎว่าศาลชั้นต้นรออยู่จนถึงเวลา 14.30 นาฬิกาตัวจำเลยที่ 1 ก็มิได้มาศาล เพิ่งมาศาลและยื่นคำร้องขอเลื่อนคดีภายหลังพ้นกำหนดเวลานัดพิจารณา และศาลได้มีคำสั่งยกคำร้องไปแล้ว นอกจากนั้น หากรถยนต์ที่ทนายจำเลยที่ 1 ใช้เป็นยานพาหนะไปและกลับเครื่องยนต์เสียจริง ทนายจำเลยที่ 1 ก็สามารถเดินทางโดยยานพาหนะอื่นได้ กรณีจึงถือไม่ได้ว่าตามคำร้องของจำเลยที่ 1มีพฤติการณ์พิเศษและเป็นกรณีที่มีเหตุสุดวิสัย จำเลยที่ 1 จะยื่นคำร้องขอเลื่อนคดีภายหลังเวลานัดไต่สวนคำร้องและหลังจากศาลชั้นต้นสั่งยกคำร้องไปแล้วหาได้ไม่ คดีไม่มีเหตุที่จะอนุญาตให้จำเลยที่ 1 เลื่อนคดีได้
พิพากษายืน