คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2386/2537

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

เมื่อ อ. ถึงแก่กรรม โจทก์และ ก. ในฐานะผู้รับประโยชน์ได้ใช้สิทธิเรียกร้องให้จำเลยผู้รับประกันภัยใช้เงินตามสัญญาประกันชีวิต แต่จำเลยไม่ยอมจ่ายอ้างว่าสัญญาประกันชีวิตเป็นโมฆียะ ย่อมเกิดข้อพิพาทขึ้นแล้ว เมื่อจำเลยเสนอคืนเงินเบี้ยประกันภัยให้แก่โจทก์และ ก. แทนการชำระเงินตามที่โจทก์และ ก. เรียกร้องหรือคืนเงินค่าไถ่ถอนกรมธรรม์ประกันภัยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ 892 โจทก์และ ก. ก็ได้ตกลงยอมรับเอาเงินเบี้ยประกันคืนตามที่จำเลยเสนอและสัญญาว่าจะไม่เรียกร้องเอาเงินหรือประโยชน์อื่นใดตามกรมธรรม์จากจำเลยอีกย่อมเป็นการที่คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายระงับข้อพิพาทตามสัญญาประกันภัยซึ่งมีอยู่นั้นให้เสร็จไปด้วยต่างยอมผ่อนผันให้แก่กัน อันเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความตามมาตรา 850 ทำให้สิทธิเรียกร้องของโจทก์และ ก. ที่ยอมสละนั้นระงับสิ้นไป โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องจำเลยให้ชำระเงินตามสัญญาประกันชีวิตอีก

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2531 จำเลยที่ 4ในฐานะตัวแทนของจำเลยที่ 1 ทำสัญญาประกันชีวิตนางอ่อน ศรีสารคามมารดาของโจทก์ไว้เป็นเงิน 30,000 บาท ให้โจทก์และนางสาวกาญจนาเป็นผู้รับประโยชน์ ต่อมาวันที่ 8 เมษายน 2532 นางอ่อนถึงแก่กรรมจำเลยทั้งสี่ต้องจ่ายเงินตามทุนประกันให้แก่โจทก์และนางสาวกาญจนาแต่ไม่ยอมจ่ายให้ครบถ้วน คงจ่ายให้เพียง 2,400 บาท เท่ากับเบี้ยประกันภัยที่ชำระแล้ว ขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่รวมกันหรือแทนกันชำระเงินจำนวน 27,600 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันที่ 9 เมษายน 2532 ถึงวันฟ้องรวมเป็นเงินทั้งสิ้น 28,147บาทแก่โจทก์ กับชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงิน27,600 บาท นับจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 1 ให้การว่า ขณะนางอ่อน ศรีสารคาม ขอเอาประกันชีวิตกับจำเลยที่ 1 นางอ่อนละเว้นไม่เปิดเผยข้อเท็จจริงว่าตนสุขภาพไม่สมบูรณ์ โดยป่วยเป็นโรคก้อนเนื้องอกในท้องมาก่อน จำเลยที่ 1หลงเชื่อตามที่นางอ่อนได้แถลงในคำขอเอาประกันชีวิตว่ามีสุขภาพสมบูรณ์ในระหว่างสองปีที่แล้ว จึงได้ตกลงทำสัญญาชีวิตนางอ่อนหากจำเลยที่ 1 ทราบความจริงก็จะไม่ยอมทำสัญญาประกันชีวิตสัญญาประกันชีวิตจึงตกเป็นโมฆียะ จำเลยได้มีหนังสือบอกล้างไปยังโจทก์และนางสาวกาญจนาแล้ว โจทก์และนางสาวกาญจนายินยอมรับเงินเบี้ยประกันภัยที่นางอ่อนได้ชำระไว้จำนวน 2,400 บาทและให้ถ้อยคำรับรองว่าจะไม่เรียกร้องผลประโยชน์ใด ๆ ตามกรมธรรม์อีกต่อไป จึงเท่ากับว่าได้ตกลงประนีประนอมยอมความกับจำเลยที่ 1แล้ว ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 3 และที่ 4 ให้การว่า จำเลยที่ 3 และที่ 4ไม่มีนิติสัมพันธ์กับโจทก์ และไม่ใช่คู่สัญญาประกันชีวิตของนางอ่อน จำเลยที่ 3 และที่ 4 เป็นเพียงตัวแทนขายประกันชีวิตมีหน้าที่ชักชวนแนะนำให้บุคคลที่ประสงค์จะประกันชีวิตได้เข้าทำสัญญาประกันชีวิตจำเลยที่ 1 เท่านั้น จำเลยที่ 3 และที่ 4จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา โจทก์ขอถอนฟ้องจำเลยที่ 2 ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินแก่โจทก์จำนวน14,390 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 3 และที่ 4จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยตามฎีกาข้อ 2.1 ของจำเลยที่ 1 ว่า บันทึกข้อตกลงในใบเสร็จรับเงินตามเอกสารหมาย ล.4 เป็นสัญญาประนีประนอมยอมความหรือไม่ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 840 บัญญัติว่า อันว่าประนีประนอมยอมความนั้นคือสัญญาซึ่งผู้เป็นคู่สัญญาทั้งสองฝ่ายระงับข้อพิพาทอันใดอันหนึ่งซึ่งมีอยู่ หรือจะมีขึ้นนั้นให้เสร็จไปด้วยต่างยอมผ่อนผันให้แก่กันข้อเท็จจริงฟังได้ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 1 ว่านางอ่อนทำสัญญาประกันชีวิตไว้กับจำเลยที่ 1 มีกำหนด 15 ปีนับแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2531 โดยกำหนดให้โจทก์และนางสาวกาญจนาเป็นผู้รับประโยชน์ตามกรมธรรม์ตามเอกสารหมาย ล.6 ต่อมาวันที่8 เมษายน 2532 นางอ่อนถึงแก่กรรมด้วยโรคเนื้องอกในมดลูกโจทก์และนางสาวกาญจนาเรียกให้จำเลยที่ 1 จ่ายเงินตามสัญญาประกันชีวิต แต่จำเลยที่ 1 ไม่ยอมจ่ายอ้างว่า สัญญาประกันชีวิตเป็นโมฆียะ และขอบอกล้างสัญญา พร้อมกับเสนอคืนเงินเบี้ยประกันภัยที่นางอ่อนชำระไว้รวม 2,400 บาท โจทก์และนางสาวกาญจนายอมรับเงินจำนวนดังกล่าวพร้อมกับทำบันทึกตามเอกสารหมาย ล.4แก่จำเลยที่ 1 โดยมีข้อความว่า โจทก์และนางสาวกาญจนาในฐานะผู้รับประโยชน์ตามกรมธรรม์ได้รับเงินเบี้ยประกันภัยจำนวน 2,400 บาทจากจำเลยที่ 1 แล้ว จะไม่เรียกร้องเงินหรือประโยชน์อื่นใดตามกรมธรรม์จากจำเลยที่ 1 อีก ศาลฎีกาเห็นว่าเมื่อนางอ่อนถึงแก่กรรมโจทก์และนางสาวกาญจนาในฐานะผู้รับประโยชน์ได้ใช้สิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 ใช้เงินตามสัญญาประกันชีวิต แต่จำเลยที่ 1ไม่ยอมจ่ายอ้างว่าสัญญาประกันชีวิตเป็นโมฆียะและขอบอกล้างสัญญาย่อมเกิดข้อพิพาทตามสัญญาประกันชีวิตขึ้นแล้ว เมื่อจำเลยที่ 1เสนอคืนเงินเบี้ยประกันภัยให้แก่โจทก์และนางสาวกาญจนาแทนการชำระเงินค่าไถ่ถอนกรมธรรม์ประกันภัยตามที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 892 บัญญัติไว้โจทก์และนางสาวกาญจนาก็ได้ตกลงยอมรับเอาเงินเบี้ยประกันคืนตามที่จำเลยที่ 1 เสนอและสัญญาว่าจะไม่เรียกร้องเอาเงินหรือประโยชน์อื่นใดตามกรมธรรมจากจำเลยที่ 1 อีก ย่อมเป็นการที่คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายระงับข้อพิพาทตามสัญญาประกันภัยซึ่งมีอยู่นั้นให้เสร็จไปด้วยต่างยอมผ่อนผันให้แก่กัน อันเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความตามที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 850 บัญญัติไว้ ทำให้สิทธิเรียกร้องของโจทก์และนางสาวกาญจนาในฐานะผู้รับประโยชน์ตามสัญญาประกันชีวิตซึ่งโจทก์และนางสาวกาญจนายอมสละระงับสิ้นไป โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องจำเลยที่ 1 ให้ชำระเงินตามสัญญาประกันชีวิตอีก”
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์

Share