คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1890/2537

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

หนี้การพนันหรือขันต่อซึ่งหาก่อให้เกิดหนี้ที่จะมีผลบังคับต่อกันไม่ เช็คที่ออกให้แก่กันอันเกี่ยวกับการนั้นจึงไม่สมบูรณ์ แม้จะทำเป็นหนังสือรับสภาพหนี้ให้ไว้ต่อกันด้วยก็ไม่อาจฟ้องร้องบังคับกันได้ เจ้าหนี้จึงไม่มีสิทธิขอรับชำระหนี้ตามหนังสือรับสภาพหนี้นั้นได้ ตามพระราชบัญญัติล้มละลายฯมาตรา 94(1)

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจาก ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้พิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้ไว้เด็ดขาดเจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ตามหนังสือรับสภาพหนี้เป็นจำนวนเงิน 860,291 บาท
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์นัดตรวจคำขอรับชำระหนี้แล้วไม่มีผู้ใดโต้แย้งคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้รายนี้
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์สอบสวนแล้วเห็นว่า ควรยกคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้เสียทั้งสิ้นตามพระราชบัญญัติล้มละลายพ.ศ. 2483 มาตรา 107(1)
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้
เจ้าหนี้อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
เจ้าหนี้ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ทางสอบสวนพยานฝ่ายเจ้าหนี้ของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้ความว่า เจ้าหนี้ได้มอบอำนาจให้นายบรรจงเลาหพงษ์ ดำเนินคดีนี้แทน ปรากฏตามใบมอบอำนาจเอกสารหมาย จ.1เมื่อประมาณกลางปี 2529 ลูกหนี้ได้กู้ยืมเงินจากเจ้าหนี้เป็นเงินประมาณ 750,000 บาท และชำระหนี้โดยสั่งจ่ายเช็คลงวันที่ล่วงหน้า ซึ่งเช็คที่สั่งจ่ายนั้น หากธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินลูกหนี้ก็จะสั่งจ่ายเช็คฉบับใหม่และแลกเช็คฉบับเดิมคืน เกี่ยวกับคดีนี้ลูกหนี้ได้สั่งจ่ายเช็คแก่เจ้าหนี้รวม 12 ฉบับ จำนวนเงินฉบับละ 50,000 บาท บ้าง 60,000 บาท รวมเป็นเงิน 560,000 บาทเจ้าหนี้ได้นำเช็คดังกล่าวไปเรียกเก็บเงินจากธนาคาร แต่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินทุกฉบับ ปรากฏตามเช็คและใบคืนเช็คเอกสารหมายจ.2 ถึง จ.13 เจ้าหนี้จึงมอบอำนาจให้นายบรรจงฟ้องคดีอาญาแก่ลูกหนี้ต่อศาลชั้นต้น และศาลพิพากษาลงโทษจำคุกลูกหนี้เป็นเวลา 1 ปีเศษ ในระหว่างดำเนินคดีอาญา ลูกหนี้ได้ทำหนังสือรับสภาพหนี้ต่อผู้รับมอบอำนาจ โจทก์รับว่าเป็นหนี้อยู่ 560,000บาท และยอมให้เจ้าหนี้คิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปีในต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันทำหนังสือรับสภาพหนี้ (วันที่ 3สิงหาคม 2530) ปรากฏตามสำเนาหนังสือรับสภาพหนี้เอกสารหมายจ.14 แต่ลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ให้ตามหนังสือรับสภาพหนี้เจ้าหนี้จึงนำหนังสือรับสภาพหนี้มาฟ้องเป็นคดีล้มละลายคดีนี้และขอรับชำระหนี้เป็นเงินรวม 860,291 บาท
ทางสอบสวนพยานฝ่ายลูกหนี้ได้ความว่า หนี้ที่เจ้าหนี้ขอรับชำระเป็นหนี้จากการพนัน เช็คที่เรียกเก็บเงินไม่ได้นั้นเป็นเช็คที่สั่งจ่ายเพื่อชำระหนี้การพนันหนังสือรับสภาพหนี้ซึ่งเจ้าหนี้นำมาฟ้องเจ้าหนี้และผู้รับมอบอำนาจนำกระดาษเปล่าให้ลูกหนี้ลงชื่อในห้องพิจารณาคดีของศาลชั้นต้นในวันที่ลูกหนี้มาศาลในการพิจารณาคดีอาญา
พิเคราะห์แล้วปัญหามีว่า เจ้าหนี้มีสิทธิขอรับชำระหนี้หรือไม่ ปรากฏจากทางสอบสวนของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ว่าหนี้ตามหนังสือรับสภาพหนี้ที่เจ้าหนี้นำมาฟ้องลูกหนี้เป็นคดีล้มละลายและขอรับชำระหนี้นี้เป็นหนี้ตามเช็ครวม 12 ฉบับตามเช็คและใบคืนเช็คเอกสารหมาย จ.2 ถึง จ.13 ในสำนวนคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ซึ่งลูกหนี้ให้การต่อสู้ว่าเป็นเช็คที่ลูกหนี้ออกให้เจ้าหนี้เพื่อชำระหนี้การพนันปรากฏตามคำให้การของลูกหนี้ที่ให้การไว้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์และศาลในชั้นไต่สวนลูกหนี้โดยเปิดเผยที่เจ้าหนี้กล่าวอ้างว่าลูกหนี้ออกเช็คให้เพื่อชำระหนี้เงินยืม แต่เจ้าหนี้ไม่มีหลักฐานการกู้ยืมมาแสดง ทั้งตัวเจ้าหนี้ก็ไม่มาให้การต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เพื่อสอบสวนให้ได้ความถึงมูลหนี้อันแท้จริงแต่อย่างใด คงมีเพียงนายบรรจง เลาหพงษ์ ผู้รับมอบอำนาจมาให้การต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เพียงปากเดียวเท่านั้นว่าเป็นหนี้กู้ยืมในทางสอบสวนของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์และในการไต่สวนลูกหนี้โดยเปิดเผยของศาลปรากฏว่าลูกหนี้ไม่ได้ประกอบอาชีพหรือมีทรัพย์สินใด ชอบเล่นการพนันที่บ้านเจ้าหนี้จำนวนเงินกู้ที่เจ้าหนี้อ้างมีมากถึง 750,000 บาท การที่เจ้าหนี้ยอมให้ลูกหนี้กู้ยืมโดยไม่มีหลักฐานการกู้ยืมและสิ่งใดเป็นหลักประกันทั้งยังยอมให้ลูกหนี้ออกเช็คล่วงหน้าชำระหนี้เป็นหลายฉบับ และยอมให้ออกเช็คฉบับใหม่มาแลกคืน หรือเปลี่ยนเช็คฉบับเก่าซึ่งเรียกเก็บเงินไม่ได้ด้วยนั้นเป็นเรื่องผิดปกติอย่างยิ่ง คดีน่าเชื่อตามที่ลูกหนี้ให้การต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์และต่อศาลในการไต่สวนลูกหนี้โดยเปิดเผยตามเอกสารหมาย ล.1 ว่ามูลหนี้ตามเช็คที่ลูกหนี้ทำหนังสือรับสภาพหนี้ให้ไว้ต่อเจ้าหนี้นี้ เป็นหนี้การพนันหรือขันต่อซึ่งหาก่อให้เกิดหนี้ที่จะมีผลบังคับต่อกันไม่ เช็คที่ออกให้แก่กันอันเกี่ยวกับการนั้นจึงไม่สมบูรณ์ แม้จะทำเป็นหนังสือรับสภาพหนี้ให้ไว้ต่อกันด้วยก็ไม่อาจฟ้องร้องบังคับกันได้ เจ้าหนี้ไม่มีสิทธิขอรับชำระหนี้ตามหนังสือรับสภาพหนี้นั้นได้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 94(1) ที่ศาลล่างทั้งสองยกคำขอรับชำระหนี้นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของเจ้าหนี้ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share