แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
พินัยกรรมที่ผู้ร้องกับผู้ตายทำร่วมกันในฉบับเดียวซึ่งสาระสำคัญของข้อกำหนดพินัยกรรมข้อ (ก) เป็นกรณีที่ผู้ร้องกับผู้ตายแสดงเจตนาไว้ว่า หากผู้ร้องหรือผู้ตายคนใดคนหนึ่งถึงแก่ความตายไปก่อน ให้ทรัพย์สินของผู้ที่ถึงแก่ความตายไปก่อนตกเป็นสินส่วนตัวของผู้ทำพินัยกรรมที่ยังมีชีวิตอยู่แต่เพียงผู้เดียวและให้เป็นผู้มีสิทธิและหน้าที่รวบรวมเก็บรักษาจัดจำหน่ายหรือแบ่งปัน และยกทรัพย์สินดังกล่าวให้แก่บุคคลใดก็ได้ตามแต่เจ้าของพินัยกรรมผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่ จะเห็นสมควรภายใต้ข้อกำหนดซึ่งระบุไว้ในข้อ (ข) แสดงว่าผู้ร้องและผู้ตายมีเจตนาที่จะยกทรัพย์สินให้แก่อีกฝ่ายหนึ่งหากว่าฝ่ายใดถึงแก่ความตายไปก่อน เพียงแต่กำหนดเงื่อนไขให้ผู้รับพินัยกรรมจำหน่ายทรัพย์สินที่ได้ตามพินัยกรรมให้แก่บุคคลตามที่ระบุไว้ในข้อ (ข) โดยให้ผู้รับพินัยกรรมกำหนดให้มากน้อยเท่าใดตามแต่ใจ กรณีถือได้ว่าเงื่อนไขนั้นเป็นอันไม่มีเลยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1707 ข้อกำหนดพินัยกรรมในส่วนที่ผู้ตายยกทรัพย์สินให้แก่ผู้ร้องจึงยังคงสมบูรณ์ใช้บังคับได้ มิใช่กรณีที่กำหนดให้ผู้ทำพินัยกรรมที่มีชีวิตอยู่กำหนดทรัพย์สินให้แก่ทายาทมากน้อยตามแต่ใจตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1706(3) แต่อย่างใด การที่ผู้ร้องกับผู้ตายทำพินัยกรรมในฉบับเดียวกัน ต่างยกทรัพย์สินให้แก่กันและกัน เมื่อพินัยกรรมดังกล่าวได้ทำเป็นหนังสือลงวันเดือนปีในขณะที่ทำขึ้น และผู้ทำพินัยกรรมลงลายมือชื่อไว้ต่อหน้าพยานอย่างน้อยสองคนพร้อมกัน ซึ่งพยานสองคนได้ลงลายมือชื่อรับรองลายมือชื่อผู้ทำพินัยกรรมไว้ในขณะนั้น จึงเข้าแบบพินัยกรรมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1656 แม้ผู้ร้องกับผู้ตายจะทำพินัยกรรมในเอกสารฉบับเดียวกันก็ไม่ผิดแบบแต่อย่างใดและมิใช่การพนันขันต่อเพราะเป็นการแสดงเจตนากำหนดการเผื่อตายในเรื่องทรัพย์มรดกของตนเองหรือในการต่าง ๆ อันจะให้เกิดเป็นผลบังคับได้ตามกฎหมายในเมื่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งตายก่อนตามมาตรา 1646 การที่บุคคลจะเป็นผู้เขียนหรือเป็นพยานในพินัยกรรมนั้นประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1671 บัญญัติว่า บุคคลนั้นต้องลงลายมือชื่อของตนทั้งระบุว่าเป็นผู้เขียนหรือเป็นพยานไว้ต่อท้ายลายมือชื่อของตนด้วย ดังนั้น เมื่อผู้ร้องลงลายมือชื่อในฐานะผู้ทำพินัยกรรมไม่มีข้อความว่าเป็นพยาน จึงจะถือว่าเป็นพยานในพินัยกรรมด้วยไม่ได้ พินัยกรรมจึงหาเป็นโมฆะด้วยเหตุที่ผู้ร้องจะเป็นพยานในพินัยกรรมไม่
ย่อยาว
ผู้ร้องยื่นคำร้องขอว่า ผู้ร้องเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันกับนายปิยะ งามเอก ซึ่งถึงแก่ความตาย เมื่อวันที่30 ตุลาคม 2532 ผู้ตายมีทรัพย์มรดกคือเงินฝากที่ธนาคารไทยพาณิชย์จำกัด สำนักงานใหญ่ และสาขาตรีเพชร รวม 2 บัญชี เงินฝากธนาคารกรุงเทพ จำกัด สาขาธนบุรี รวม 2 บัญชี มูลค่าทรัพย์มรดกทั้งหมด10,870,119.42 บาท ก่อนตายผู้ตายได้ทำพินัยกรรมยกทรัพย์มรดกให้แก่ผู้ร้อง โดยที่มีเหตุขัดข้องในการจัดการทรัพย์มรดกของผู้ตายผู้ร้องจึงมายื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งแต่งตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย
ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านว่า ผู้คัดค้านเป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของนายปิยะ งามเอก ผู้ตาย มีบุตรด้วยกัน 5 คน ตามบัญชีเครือญาติท้ายคำร้อง ผู้ตายไม่ได้ทำพินัยกรรมและตั้งผู้ใดเป็นผู้จัดการมรดกไว้ พินัยกรรมท้ายคำร้องหมายเลข 6 ของผู้ร้องเป็นพินัยกรรมปลอม ลายมือชื่อผู้ทำพินัยกรรมปลอม ลายมือชื่อผู้ทำพินัยกรรมไม่ใช่ลายมือชื่อผู้ตาย พยานในพินัยกรรมไม่ได้มีส่วนรู้เห็นในการทำพินัยกรรม ตามพินัยกรรมท้ายคำร้องหมายเลข 6 กำหนดเงื่อนไขระบุว่าให้ยกให้ผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่และขณะเดียวกันให้ผู้มีชีวิตอยู่แบ่งแก่บุคคลตามข้อ ข. (1) ถึง (3) ส่วนแบ่งจะได้เท่าใดไม่ได้ระบุไว้ ให้อยู่ในดุลพินิจของผู้ยังมีชีวิตอยู่ จึงเป็นเงื่อนไขที่ฝ่าฝืนต่อกฎหมาย เป็นโมฆะใช้บังคับไม่ได้ ผู้ร้องลงชื่อในพินัยกรรมเท่ากับเป็นพยานในพินัยกรรมจึงต้องห้ามมิให้รับมรดกตามพินัยกรรม มรดกจึงตกแก่ทายาท ผู้ร้องเป็นน้องของผู้ตายไม่ได้เป็นทายาทผู้มีสิทธิรับมรดก จึงไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดก ขอให้ยกคำร้องของผู้ร้องและตั้งผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว มีคำสั่งตั้งนางสาวพวง งามเอกผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของนายปิยะ งามเอก ผู้ตาย กับให้มีสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมาย
ผู้คัดค้านอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
ผู้คัดค้านฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว คดีมีปัญหาที่ศาลฎีกาต้องวินิจฉัยว่า ระหว่างผู้ร้องกับผู้คัดค้านสมควรตั้งผู้ใดเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย ศาลล่างทั้งสองเห็นว่า ผู้ตายได้ทำพินัยกรรมยกทรัพย์มรดกของตนให้แก่ผู้ร้องตามพินัยกรรมเอกสารหมาย ร.1 ผู้ร้องจึงอยู่ในฐานะผู้รับพินัยกรรมประกอบกับการที่ผู้ตายทำพินัยกรรมยกทรัพย์มรดกของตนให้แก่ผู้ร้องแต่เพียงผู้เดียว เป็นการแสดงเจตนาที่จะไม่ให้ผู้คัดค้านเข้ามาเกี่ยวข้องกับทรัพย์มรดกผู้ตาย จึงตั้งให้ผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย ผู้คัดค้านฎีกาข้อแรกว่าพินัยกรรมตามเอกสารหมาย ร.1 เป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1706(3) เพราะตามข้อกำหนดพินัยกรรมดังกล่าวเจตนาอันแท้จริงในการทำพินัยกรรม มิใช่เจตนายกทรัพย์มรดกให้แก่ผู้ทำพินัยกรรมที่มีชีวิตอยู่ เพียงแต่เจตนาให้ผู้ทำพินัยกรรมที่มีชีวิตอยู่แต่ผู้เดียวเป็นผู้มีสิทธิและหน้าที่รวบรวมรักษาจำหน่ายทรัพย์มรดกแก่บุคคลในข้อ (ข) เท่าไรก็ได้ตามแต่จะเห็นสมควร พินัยกรรมนี้จึงเป็นโมฆะทั้งฉบับนั้น เห็นว่า ตามพินัยกรรมตามเอกสารหมาย ร.1 เป็นพินัยกรรมที่ผู้ร้องกับผู้ตายทำร่วมกันในฉบับเดียว ตามข้อกำหนดในข้อ (ก) เป็นกรณีที่ผู้ร้องกับผู้ตายแสดงเจตนาไว้ว่า หากผู้ร้องหรือผู้ตายคนใดคนหนึ่งถึงแก่ความตายไปก่อน ให้ทรัพย์สินของผู้ที่ถึงแก่ความตายไปก่อนตกเป็นสินส่วนตัวของผู้ทำพินัยกรรมที่ยังมีชีวิตอยู่แต่เพียงผู้เดียว และให้เป็นผู้มีสิทธิและหน้าที่รวบรวมเก็บรักษาจัดจำหน่ายหรือแบ่งปัน และยกทรัพย์สินดังกล่าวให้แก่บุคคลใดก็ได้ตามแต่เจ้าของพินัยกรรมผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่จะเห็นสมควร ภายใต้ข้อกำหนดซึ่งระบุไว้ในข้อ (ข) แสดงว่าผู้ร้องและผู้ตายมีเจตนาที่จะยกทรัพย์สินให้แก่อีกฝ่ายหนึ่ง หากว่าฝ่ายใดถึงแก่ความตายไปก่อน เพียงแต่กำหนดเงื่อนไขให้ผู้รับพินัยกรรมจำหน่ายทรัพย์สินที่ได้ตามพินัยกรรมให้แก่บุคคลตามที่ระบุไว้ในข้อ (ข) โดยให้ผู้รับพินัยกรรมกำหนดให้มากน้อยเท่าใดตามแต่ใจกรณีถือได้ว่าเงื่อนไขนั้นเป็นอันไม่มีเลยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1707 มิใช่มาตรา 1706(3) ตามที่ฎีกามา ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่า ข้อกำหนดพินัยกรรมในส่วนที่ผู้ตายยกทรัพย์สินให้แก่ผู้ร้องยังคงสมบูรณ์ใช้บังคับได้นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยฎีกาข้อนี้ของผู้คัดค้านฟังไม่ขึ้น
ผู้คัดค้านฎีกาข้อต่อมาว่า การที่ผู้ร้องกับผู้ตายได้ทำพินัยกรรมในฉบับเดียวกัน ต่างยกทรัพย์สินให้แก่กันและกัน เป็นการทำผิดแบบของพินัยกรรมและเป็นการพนันขันต่อโดยใช้ชีวิตเป็นเดิมพันจึงเป็นโมฆะนั้น แม้จะเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น แต่ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยมา และเป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาเห็นสมควรยกขึ้นวินิจฉัยให้ เห็นว่า พินัยกรรมตามเอกสารหมาย ร.1 ได้ทำเป็นหนังสือลงวันเดือนปีในขณะที่ทำขึ้น และผู้ทำพินัยกรรมได้ลงลายมือชื่อไว้ต่อหน้าพยานอย่างน้อยสองคนพร้อมกัน ซึ่งพยานสองคนได้ลงลายมือชื่อรับรองลายมือชื่อผู้ทำพินัยกรรมไว้ในขณะนั้น จึงเข้าแบบพินัยกรรมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1656 แม้ผู้ร้องกับผู้ตายจะทำพินัยกรรมในเอกสารฉบับเดียวกันก็ไม่ผิดแบบแต่อย่างใดและก็มิใช่การพนันขันต่อเพราะเป็นการแสดงเจตนากำหนดการเผื่อตายในเรื่องทรัพย์มรดกของตนเองหรือในการต่าง ๆ อันจะให้เกิดเป็นผลบังคับได้ตามกฎหมายในเมื่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งตายก่อนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1646 ฎีกาของผู้คัดค้านในข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
ฎีกาของผู้คัดค้านที่ว่า การที่ผู้ร้องลงชื่อในพินัยกรรมถือได้ว่าลงชื่อในฐานะพยาน จึงเป็นโมฆะนั้น เห็นว่าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1653 บัญญัติเฉพาะผู้เขียนหรือพยานในพินัยกรรมจะเป็นผู้รับทรัพย์ตามพินัยกรรมนั้นไม่ได้ ปัญหาจึงมีว่าผู้ร้องได้ลงชื่อในพินัยกรรมในฐานะพยานหรือไม่ตามเอกสารหมาย ร.1 ผู้ร้องคงลงชื่อในฐานะผู้ทำพินัยกรรมเท่านั้น การที่จะเป็นผู้เขียนหรือเป็นพยานในพินัยกรรมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1671 บัญญัติว่าบุคคลนั้นต้องลงลายมือชื่อของตนทั้งระบุว่าเป็นผู้เขียน หรือเป็นพยานไว้ต่อท้ายลายมือชื่อของตนด้วย ดังนั้นเมื่อผู้ร้องลงลายมือชื่อในฐานะผู้ทำพินัยกรรมไม่มีข้อความว่าเป็นพยาน จึงจะถือว่าเป็นพยานในพินัยกรรมด้วยไม่ได้พินัยกรรมตามเอกสารหมาย ร.1 จึงไม่เป็นโมฆะด้วยเหตุตามฎีกาของผู้คัดค้านในข้อนี้…”
พิพากษายืน