คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 516/2537

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 2 ที่ 3 ในฐานะตัวการหรือนายจ้างที่ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นตัวแทนหรือลูกจ้างในผลแห่งละเมิดซึ่งจำเลยที่ 1 ได้กระทำไปในขอบอำนาจแห่งฐานตัวแทนหรือในทางการที่จ้าง เมื่อคดีสำหรับจำเลยที่ 1 ยุติไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ว่าจำเลยที่ 1 ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ กรณีจึงไม่มีหนี้ที่จะให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 มาร่วมรับผิดต่อโจทก์ได้อีกต่อไป

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า โจทก์รับประกันภัยค้ำจุนรถยนต์เก๋ง หมายเลขทะเบียน 3ง-5729 กรุงเทพมหานคร ไว้จากนายจิระ กลิ่นสุคนธ์ จำเลยที่ 1 เป็นผู้ขับรถยนต์แท็กซี่หมายเลขทะเบียน 1ท-6366 กรุงเทพมหานคร ในวันเกิดเหตุไปในทางการที่ว่าจ้างหรือที่จำเลยที่ 2 ที่ 3 มอบหมายสั่งการและเป็นตัวแทนของจำเลยที่ 2 ที่ 3 ในการประกอบกิจการรับจ้างส่งผู้โดยสาร เมื่อวันที่9 กรกฎาคม 2529 เวลาประมาณ 22 นาฬิกา จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์แท็กซี่คันดังกล่าวด้วยความประมาทปราศจากความระมัดระวัง กล่าวคือ เลี้ยวรถกระทันหันตัดหน้ารถที่โจทก์รับประกันภัยไว้ ดังกล่าวข้างต้นนายจิระ กลิ่นสุคนธ์ไม่สามารถห้ามล้อได้ทันจึงเกิดชนกันขึ้นทำให้รถที่โจทก์รับประกันภัยไว้ได้รับความเสียหายหลายรายการโจทก์จัดการซ่อมรถดังกล่าวจนใช้การได้ดี ขอให้บังคับให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน 27,568 บาท พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 ที่ 3 ให้การต่อสู้คดี ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน 27,568 บาทพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์
จำเลยที่ 2 และที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีปรากฏว่า ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับฎีกาโจทก์ว่าให้โจทก์ส่งสำเนาแก่จำเลยทั้งสามแก้ภายใน 7 วันหากส่งไม่ได้ให้แถลงเพื่อดำเนินการต่อไปภายใน 15 วัน นับแต่วันส่งไม่ได้มิฉะนั้นถือว่าทิ้งฎีกา เจ้าพนักงานศาลจังหวัดนนทบุรีรายงานว่า เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2534 ได้นำหมายนัดและสำเนาฎีกาส่งให้แก่จำเลยที่ 1 ไม่ได้เพราะไม่พบจำเลยที่ 1 พบหญิงแจ้งว่าจำเลยที่ 1 ย้ายไปแล้ว โจทก์ไม่ได้แถลงให้ศาลชั้นต้นทราบว่าจะดำเนินการอย่างไรภายใน 15 วัน นับแต่วันส่งไม่ได้ จึงถือว่าโจทก์เพิกเฉยไม่ดำเนินคดีภายในเวลาตามที่ศาลเห็นสมควรกำหนดดังนี้ ถือว่าโจทก์ทิ้งฟ้องฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 174(2) ประกอบด้วยมาตรา 246, 247 จึงให้จำหน่ายคดี สำหรับจำเลยที่ 1 ออกจากสารบบความของศาลฎีกา
ส่วนฎีกาของโจทก์ที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 2 ที่ 3 นั้น โจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 2 ที่ 3 ในฐานะตัวการหรือนายจ้างที่ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นตัวแทนหรือลูกจ้างในผลแห่งละเมิดซึ่งจำเลยที่ 1 ได้กระทำไปในขอบอำนาจแห่งฐานตัวแทนหรือในทางการที่จ้าง เมื่อคดีสำหรับจำเลยที่ 1 ยุติไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ว่าจำเลยที่ 1 ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์เช่นนี้ ก็ไม่มีหนี้ที่จะให้จำเลยที่ 2 ที่ 3 มาร่วมรับผิดต่อโจทก์ได้อีกต่อไป ไม่มีประโยชน์ที่จะวินิจฉัยปัญหาตามที่โจทก์ฎีกามา ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผลของคำพิพากษาศาลอุทธรณ์”
พิพากษายืน

Share