คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8865/2558

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่ ร. ได้รถยนต์พิพาทมาด้วยการกระทำความผิดฐานยักยอกซึ่งคดีอาญาถึงที่สุดแล้ว ร. จึงไม่ได้กรรมสิทธิ์ในรถยนต์คันดังกล่าว แม้จำเลยที่ 1 จะซื้อรถยนต์พิพาทโดยสุจริตแต่เป็นการซื้อจาก ร. ผู้ไม่มีกรรมสิทธิ์ จำเลยที่ 1 ย่อมไม่มีสิทธิดีไปกว่า ร. คือไม่ได้กรรมสิทธิ์ในรถยนต์พิพาทด้วยเช่นกัน จำเลยที่ 1 จึงต้องร่วมกับจำเลยที่ 2 คืนรถยนต์พิพาทแก่โจทก์ หากคืนไม่ได้ต้องใช้ราคาแทน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้พิพากษาว่า รถยนต์ ยี่ห้ออีซูซุ หมายเลขทะเบียน บท 6121 สุรินทร์ เป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันส่งมอบรถยนต์ดังกล่าวคืนโจทก์ในสภาพเรียบร้อยใช้การได้ดี หากไม่สามารถส่งมอบได้ ให้ใช้ราคาแทนเป็นเงิน 220,000บาท และใช้ค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถเป็นเงินเดือนละ 5,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะส่งมอบรถคืนหรือใช้ราคาแทน
จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณาจำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอให้เรียกนายสิทธิโชค เข้ามาเป็นจำเลยร่วม ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาต
จำเลยร่วมยื่นคำให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนรถยนต์พิพาทยี่ห้ออีซูซุ หมายเลขทะเบียน บท 6121 สุรินทร์ แก่โจทก์ หากคืนไม่ได้ให้ร่วมกันใช้ราคาแทนเป็นเงิน 220,000 บาท แก่โจทก์ และให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ทั้งสองศาล โดยกำหนดค่าทนายความชั้นศาลละ3,000 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังยุติในชั้นนี้ว่าโจทก์ประกอบกิจการจำหน่ายรถยนต์ รถจักรยานยนต์ นายระพีพัฒน์ ประกอบธุรกิจจำหน่ายรถยนต์ที่ใช้แล้ว จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทมหาชน จำกัดมีวัตถุประสงค์ให้เช่าซื้อรถยนต์ จำเลยที่ 2 รับราชการครู จำเลยร่วมเป็นเจ้าของเต็นท์รถยนต์ที่ใช้งานแล้ว เดิมนางอรัญญา เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รถยนต์พิพาทหมายเลขทะเบียน บท 6121 สุรินทร์ นางอรัญญาขายรถยนต์พิพาทให้นายระพีพัฒน์ในราคา 270,000 บาท โดยการโอนลอยด้วยวิธีส่งมอบใบคู่มือจดทะเบียน แบบคำขอโอนและรับโอนกับเอกสารประกอบให้แก่นายระพีพัฒน์ วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2552 นายระพีพัฒน์ขายรถยนต์พิพาทแก่โจทก์ในราคา 220,000 บาท โดยการโอนลอยเช่นกัน แล้วนายระพีพัฒน์เช่าซื้อรถยนต์พิพาทจากโจทก์ นายระพีพัฒน์ผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อ จากนั้นนายระพีพัฒน์นำนางอรัญญาไปแจ้งต่อนางปาลีรัตน์ เจ้าหน้าที่สำนักงานขนส่งสุรินทร์ด้วยข้อความอันเป็นเท็จว่าสมุดคู่มือจดทะเบียนรถสูญหายจนได้สมุดคู่มือจดทะเบียนแทนสมุดคู่มือที่สูญหายแล้วนายระพีพัฒน์นำสมุดแทนสมุดคู่มือไปจดทะเบียนเปลี่ยนชื่อให้ตนเองเป็นเจ้าของผู้ถือกรรมสิทธิ์รถยนต์พิพาทตามสำเนารายการจดทะเบียน ต่อมาวันที่ 3 มิถุนายน 2552 นายระพีพัฒน์จดทะเบียนโอนขายรถยนต์พิพาทให้จำเลยที่ 1 ต่อมาจำเลยที่ 2 ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์พิพาทจากจำเลยที่ 1 นายระพีพัฒน์ถูกฟ้องคดีอาญาและศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษคดีถึงที่สุดในความผิดฐานยักยอกรถยนต์พิพาทและแจ้งความเท็จตามสำเนาคำพิพากษาศาลชั้นต้น คดีอาญาหมายเลขแดงที่ 2675/2554 ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าโจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รถยนต์พิพาท แต่โจทก์ซื้อรถยนต์พิพาทจากนายระพีพัฒน์โดยไม่ได้จดทะเบียนเปลี่ยนชื่อโจทก์เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในสมุดจดทะเบียนรถพิพาทถือได้ว่าเป็นการกระทำด้วยความประมาทเลินเล่อของโจทก์ จำเลยทั้งสองกระทำโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน โจทก์ต้องชดใช้ราคารถยนต์พิพาทที่จำเลยที่ 1 ซื้อมาก่อนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1332 เมื่อโจทก์ยังไม่ใช้ราคา จำเลยทั้งสองจึงไม่ต้องคืนรถยนต์พิพาทแก่โจทก์และพิพากษายกฟ้องโจทก์ โจทก์อุทธรณ์โต้แย้งคำพิพากษาศาลชั้นต้นขอให้จำเลยทั้งสองรับผิดตามฟ้องเท่านั้น มิได้อุทธรณ์ขอให้จำเลยร่วมต้องรับผิดด้วย จำเลยทั้งสองมิได้อุทธรณ์และจำเลยที่ 1 แก้อุทธรณ์ว่า โจทก์จะใช้สิทธิในฐานะเจ้าของรถยนต์พิพาทเพื่อติดตามเอารถยนต์พิพาทคืนจากจำเลยทั้งสองไม่ได้เว้นแต่โจทก์จะชดใช้ราคารถยนต์พิพาทแก่จำเลยที่ 1 ขอให้ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ดังนี้เรื่องโจทก์เป็นเจ้าของรถยนต์พิพาทและจำเลยร่วมไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์จึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นซึ่งศาลอุทธรณ์ภาค 3 ก็ฟังข้อเท็จจริงรับฟังได้ยุติตามศาลชั้นต้นและพิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนรถยนต์พิพาทยี่ห้ออีซูซุ หมายเลขทะเบียน บท 6121 สุรินทร์ แก่โจทก์ หากคืนไม่ได้ให้ร่วมกันใช้ราคาเป็นเงิน 220,000 บาท แก่โจทก์ จำเลยที่ 1 ฎีกา ส่วนจำเลยที่ 2 มิได้ฎีกา คดีในส่วนของจำเลยที่ 2 จึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3
คดีมีปัญหาตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ว่า จำเลยที่ 1 ต้องร่วมกับจำเลยที่ 2 คืนหรือใช้ราคารถยนต์พิพาทแก่โจทก์หรือไม่ โดยจำเลยที่ 1 ฎีกาในทำนองว่า จำเลยที่ 1 ซื้อรถยนต์พิพาทมาจากจำเลยร่วมโดยสุจริต อีกทั้งจำเลยร่วมกับนายระพีพัฒน์ก็เป็นเจ้าของเต็นท์รถที่ขายรถมือสองหรือรถที่ใช้แล้ว จึงควรถือว่าจำเลยที่ 1 ได้ซื้อรถยนต์พิพาทโดยสุจริตจากพ่อค้าซึ่งขายของชนิดนั้นในอันที่จะได้รับความคุ้มครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1332 และฎีกาอีกว่า คำให้การของจำเลยที่ 1 ได้ตั้งประเด็นดังกล่าวไว้ด้วย ศาลฎีกาได้ตรวจดูรายละเอียดตามคำให้การจำเลยที่ 1 ลงวันที่ 16 มกราคม 2555 แล้ว ปรากฏว่า จำเลยที่ 1 ให้การต่อสู้คดีเพียงว่า โจทก์มิใช่เจ้าของผู้มีกรรมสิทธิ์ในรถยนต์ที่พิพาท โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง และจำเลยที่ 1 ซื้อรถยนต์พิพาทมาโดยสุจริตเท่านั้น มิได้ให้การต่อสู้ไว้เลยว่าจำเลยที่ 1 ซื้อรถยนต์พิพาทโดยสุจริตจากพ่อค้าซึ่งขายของชนิดนั้น รวมทั้งเอกสารที่แนบท้ายคำให้การของจำเลยที่ 1 ก็ไม่ปรากฏว่าจำเลยร่วมและนายระพีพัฒน์เป็นเจ้าของเต็นท์รถที่ขายรถยนต์ที่ใช้แล้วอีกด้วย เมื่อจำเลยที่ 1 มิได้ยกเหตุการได้มาโดยสุจริตในพฤติการณ์พิเศษขึ้นเป็นข้อต่อสู้ไว้แต่ประการใด จึงต้องบังคับตามหลักกฎหมายทั่วไปที่ว่า ผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอน ดังนั้น การที่นายระพีพัฒน์ได้รถยนต์พิพาทมาด้วยการกระทำความผิดฐานยักยอกตามสำเนาคำพิพากษาศาลชั้นต้น คดีอาญาหมายเลขแดงที่ 2675/2554 ซึ่งคดีถึงที่สุดแล้ว นายระพีพัฒน์จึงไม่ได้กรรมสิทธิ์ในรถยนต์คันดังกล่าว แม้จำเลยที่ 1 จะซื้อรถยนต์พิพาทโดยสุจริตแต่เป็นการซื้อจากนายระพีพัฒน์ผู้ไม่มีกรรมสิทธิ์ จำเลยที่ 1 ย่อมไม่มีสิทธิดีไปกว่านายระพีพัฒน์ คือไม่ได้กรรมสิทธิ์ในรถยนต์พิพาทด้วยเช่นกัน จำเลยที่ 1 จึงต้องร่วมกับจำเลยที่ 2 คืนรถยนต์พิพาทแก่โจทก์ หากคืนไม่ได้ต้องใช้ราคาแทน ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share