คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 400/2537

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ฎีกาของจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นฎีกาโต้เถียงข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์รับฟังมาเพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายจึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง คดีนี้แม้จะมีทุนทรัพย์ที่พิพาทไม่เกินห้าหมื่นบาท ซึ่งศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ก็ตาม แต่ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ให้จำเลยที่ 2และที่ 3 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์ เท่ากับศาลอุทธรณ์พิพากษากลับในส่วนนี้ คดีจึงไม่ห้ามฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคแรก เดิมศาลฎีกาจึงไม่จำต้องถือตามข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์ฟังมา โจทก์บรรยายฟ้องเพียงว่า จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างจำเลยที่ 2มีหน้าที่ขับรถยนต์คันเกิดเหตุซึ่งเป็นของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 1ขับรถยนต์ด้วยความประมาทปราศจากความระมัดระวังเป็นเหตุให้รถยนต์ที่จำเลยที่ 1 ขับเฉี่ยวชนรถยนต์โจทก์ได้รับความเสียหาย ดังนี้ตามคำฟ้องดังกล่าวต้องฟังว่า โจทก์กล่าวหาว่าจำเลยที่ 1 กระทำละเมิดต่อโจทก์ จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นนายจ้างของจำเลยที่ 1 ต้องร่วมรับผิดแต่โจทก์มิได้บรรยายฟ้องให้เห็นว่า จำเลยที่ 1 ได้กระทำละเมิดในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 ฟ้องโจทก์จึงขาดสาระสำคัญอันเป็นประเด็นแห่งคดีที่พึงกระทำให้จำเลยที่ 2 ต้องรับผิด ศาลจะพิพากษาให้โจทก์ชนะคดีโดยไม่อาศัยคำฟ้องไม่ได้ จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 425 ดังนั้น การที่ศาลอุทธรณ์หยิบยกและวินิจฉัยในปัญหาที่ว่าจำเลยที่ 1 กระทำละเมิดในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 จึงเป็นการที่มิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งว่าด้วยการพิจารณาซึ่งเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกปัญหาข้อนี้ขึ้นวินิจฉัยได้ เมื่อจำเลยที่ 2 ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ จำเลยที่ 3 ในฐานะผู้รับประกันภัยรถยนต์ของจำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ด้วย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 มีหน้าที่ขับรถยนต์ของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 3 เป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์คันดังกล่าวของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 1 ได้ขับรถยนต์ดังกล่าวด้วยความประมาทปราศจากความระมัดระวังเป็นเหตุให้รถยนต์ที่จำเลยที่ 1ขับเฉี่ยวชนรถยนต์ของโจทก์อย่างแรงทำให้รถยนต์ของโจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชดใช้เงินจำนวน49,097 บาท พร้อมทั้งดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันทำละเมิดจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้การว่า จำเลยที่ 1 มิใช่ลูกจ้างและปฏิบัติหน้าที่ในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 2 มิได้เป็นนายจ้างและมิได้เป็นเจ้าของรถยนต์ที่จำเลยที่ 1 ขับในขณะเกิดเหตุคดีนี้ ความเสียหายของรถยนต์ดังกล่าวมีเพียงเล็กน้อยและค่าเสียหายมีไม่เกิน 3,368 บาท ขอให้ยกฟ้องโจทก์
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นเงิน24,097 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันทำละเมิด (25 พฤษภาคม 2530) จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 และที่ 3
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินจำนวน 34,097 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันทำละเมิด (วันที่ 25 พฤษภาคม 2530) จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 2 และที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ฎีกาว่า เมื่อพิจารณาหนังสือรับรองของนายทะเบียนสำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทจังหวัดเพชรบูรณ์ เอกสารหมาย จ.2 ก็มิได้บ่งบอกว่าจำเลยที่ 1ขับรถยนต์ไปในทางการที่จ้างในขณะเกิดเหตุละเมิดคดีนี้ให้แก่จำเลยที่ 2 จำเลยเห็นว่าตามที่ศาลอุทธรณ์รับฟังพยานหลักฐานดังกล่าวและพิพากษาให้เป็นโทษแก่จำเลยที่ 2 นั้น เป็นการรับฟังพยานหลักฐานคลาดเคลื่อนต่อข้อเท็จจริงแห่งพยานเอกสารที่ปรากฏในสำนวน อันเป็นการให้เปรียบแก่โจทก์และจำเลยเสียเปรียบจึงไม่ชอบด้วยกฎหมายเมื่อโจทก์ไม่สามารถนำสืบได้ว่าจำเลยที่ 1 กระทำละเมิดในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ร่วมกับจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 3 ก็ไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้โจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 887 วรรคหนึ่ง ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยที่ 3 รับผิดต่อโจทก์จึงคลาดเคลื่อนต่อบทบัญญัติมาตราดังกล่าว ซึ่งศาลชั้นต้นเห็นว่าตามฎีกาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมาย เห็นว่า ฎีกาของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ดังกล่าวเป็นฎีกาโต้เถียงข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์รับฟังมาเพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายจึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง คดีนี้แม้จะมีทุนทรัพย์ที่พิพาทไม่เกินห้าหมื่นบาท ซึ่งศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ก็ตาม แต่ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์เท่ากับศาลอุทธรณ์พิพากษากลับในส่วนนี้ คดีจึงไม่ห้ามฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคแรก เดิมศาลฎีกาจึงไม่จำต้องถือตามข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์ฟังมา ในปัญหาที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 จะต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์ตามที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมาหรือไม่นั้น มีข้อจะต้องพิจารณาตามฎีกาของจำเลยที่ 2 และที่ 3 เพียงว่าในขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 1 ได้ขับรถยนต์คันเกิดเหตุในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 หรือไม่ เห็นว่าแม้ในท้องสำนวนคือตามรายงานเจ้าหน้าที่ส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ลงวันที่ 19 สิงหาคม 2530 จะปรากฏว่าจำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างและพักอาศัยอยู่ ณ ที่ตั้งสำนักงานของจำเลยที่ 2 ก็ตาม แต่คำฟ้องโจทก์บรรยายเกี่ยวกับกรณีนี้แต่เพียงว่าจำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างจำเลยที่ 2 มีหน้าที่ขับรถยนต์คันเกิดเหตุซึ่งเป็นของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์ด้วยความประมาทปราศจากความระมัดระวัง เป็นเหตุให้รถยนต์ที่จำเลยที่ 1 ขับเฉี่ยวชนรถยนต์โจทก์ได้รับความเสียหาย เห็นว่าตามคำฟ้องดังกล่าวต้องฟังว่าโจทก์กล่าวหาว่าจำเลยที่ 1 กระทำละเมิดต่อโจทก์ จำเลยที่ 2ซึ่งเป็นนายจ้างของจำเลยที่ 1 ต้องร่วมรับผิด โจทก์มิได้บรรยายฟ้องให้เห็นว่า จำเลยที่ 1 ได้กระทำละเมิดในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2ฟ้องโจทก์จึงขาดสาระสำคัญอันเป็นประเด็นแห่งคดีที่พึงกระทำให้จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดศาลจะพิพากษาให้โจทก์ชนะคดีโดยไม่อาศัยคำฟ้องไม่ได้ จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 425 ดังนั้น การที่ศาลอุทธรณ์หยิบยกและวินิจฉัยในปัญหาที่ว่าจำเลยที่ 1 กระทำละเมิดในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 จึงเป็นการที่มิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งว่าด้วยการพิจารณา ซึ่งเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีฝ่ายใดฎีกาศาลฎีกามีอำนาจยกปัญหาข้อนี้ขึ้นวินิจฉัยได้ เมื่อจำเลยที่ 2ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ จำเลยที่ 3 ในฐานะผู้รับประกันภัยรถยนต์ของจำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ด้วย
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 และที่ 3นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share