แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
โจทก์จำเลยได้ตกลงกันต่อหน้าพนักงานสอบสวนในวันที่ 27 มกราคม 2535โดยพนักงานสอบสวนบันทึกข้อตกลงไว้มีใจความว่า ส. (จำเลย) ยินดีชดใช้ค่าเสียหายโดยนำรถยนต์ปิกอัพของโจทก์ไปซ่อมให้ใช้การได้สภาพเดิม คู่กรณีตกลงด้วยความสมัครใจมิได้มีผู้หนึ่งผู้ใดบังคับขู่เข็ญ จึงให้ลงชื่อไว้ แล้วลงลายมือชื่อผู้แทนโจทก์และจำเลยซึ่งเป็นคู่กรณีพร้อมพยานและผู้ที่เกี่ยวข้องด้วย ข้อตกลงเช่นนี้มีลักษณะเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 850โดยไม่จำต้องกำหนดจำนวนเงินที่แน่นอนว่าจำเลยจะต้องชำระเงินกันอย่างไร ที่ไหนเมื่อใด เพราะเป็นการตกลงให้จำเลยชำระหนี้ด้วยการกระทำ แม้ตามฟ้องโจทก์ได้ดำเนินการซ่อมเสียเองก็ตาม โจทก์ก็อาจฟ้องบังคับให้ชำระหนี้กันได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 194 และมาตรา 213
ผลของสัญญาประนีประนอมยอมความย่อมทำให้การเรียกร้องซึ่งแต่ละฝ่ายได้ยอมสละนั้นระงับสิ้นไป และทำให้แต่ละฝ่ายได้สิทธิตามที่แสดงในสัญญานั้นว่าเป็นของตนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 852 ฉะนั้น สิทธิเรียกร้องของโจทก์ในมูลละเมิดย่อมระงับสิ้นไป โจทก์ย่อมได้สิทธิเรียกร้องขึ้นใหม่ นับแต่วันที่ 27มกราคม 2535 ซึ่งเป็นวันเริ่มทำข้อตกลง เมื่อโจทก์ใช้สิทธิเรียกร้องตามสัญญาประนีประนอมยอมความฟ้องจำเลยวันที่ 5 พฤศจิกายน 2536 ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความทั่วไปซึ่งมีกำหนด 10 ปี
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า จำเลยได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับโจทก์ ยอมชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์โดยยินยอมให้โจทก์นำรถของโจทก์ที่เสียหายไปซ่อมที่อู่ประเสริฐการช่างที่กรุงเทพมหานคร ให้ใช้การได้ตามสภาพเดิมก่อนเกิดเหตุ ต่อมาเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2535 โจทก์ได้ซ่อมรถของโจทก์ที่อู่ประเสริฐการช่างและเสียค่าซ่อมไปเป็นเงิน 68,000 บาท โจทก์ทวงถามให้จำเลยชำระเงินดังกล่าวหลายครั้ง แต่จำเลยเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยชดใช้เงินจำนวน 68,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันที่ 10 ตุลาคม 2535 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า ที่จำเลยยอมรับจะนำรถยนต์โจทก์ที่ได้รับความเสียหายไปจัดการซ่อมที่อู่ประเสริฐการช่าง ให้อยู่ในสภาพเรียบร้อยดีดังเดิมนั้น เป็นเพียงข้อตกลงความรับผิดชอบของจำเลยว่าจำเลยเป็นฝ่ายประมาทเลินเล่อ หาใช่เป็นสัญญาประนีประนอมยอมความไม่ เพราะมิได้กำหนดจำนวนเงิน เวลา และสถานที่ชำระฟ้องโจทก์ขาดอายุความฟ้องร้อง 1 ปี นับแต่วันเกิดเหตุละเมิด และโจทก์เสียหายไม่เกิน 50,000 บาท ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 62,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันที่ 10 ตุลาคม 2535 เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า เมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2534นายประดิษฐ์ จันทร์ดารา ขับรถยนต์กระบะหมายเลขทะเบียน บ-0416 สระบุรี ซึ่งเป็นรถยนต์ของจำเลยชนรถยนต์กระบะหมายเลขทะเบียน 3 ย-0122 กรุงเทพมหานคร ของโจทก์ได้รับความเสียหาย ต่อมาจำเลยได้ตกลงกับผู้แทนโจทก์ยินยอมชดใช้ค่าเสียหายให้โดยนำรถยนต์กระบะหมายเลขทะเบียน 3 ย-0122 กรุงเทพมหานคร ไปซ่อมให้ ตามสำเนารายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีเอกสารหมาย จ.5 คดีมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า เอกสารหมาย จ.5 เป็นสัญญาประนีประนอมยอมความหรือไม่ และฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่
ปัญหาแรกที่ว่า สำเนารายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีเอกสารหมาย จ.5 เป็นสัญญาประนีประนอมยอมความหรือไม่นั้น เห็นว่า ตามเอกสารดังกล่าวโจทก์จำเลยได้ตกลงกันต่อหน้าพนักงานสอบสวนในวันที่ 27 มกราคม 2535 โดยพนักงานสอบสวนได้บันทึกข้อตกลงไว้มีใจความว่า “…นายสมจิตร์ยินดีชดใช้ค่าเสียหายโดยนำรถยนต์ปิกอัพทะเบียน3 ย-0122 กรุงเทพมหานคร ไปซ่อมให้ใช้การได้สภาพเดิมก่อนเกิดเหตุ…คู่กรณีตกลงด้วยความสมัครใจ…มิได้มีผู้หนึ่งผู้ใดบังคับขู่เข็ญ…จึงให้ลงชื่อไว้…” แล้วลงลายมือชื่อผู้แทนโจทก์และจำเลยซึ่งเป็นคู่กรณีพร้อมพยานและผู้ที่เกี่ยวข้องด้วย ดังนี้ เมื่อมีข้อพิพาทเกิดขึ้นคู่กรณีย่อมมีสิทธิที่จะทำสัญญาประนีประนอมยอมความระงับข้อพิพาทดังกล่าวนั้นให้เสร็จไปด้วยต่างยอมผ่อนผันให้แก่กัน กล่าวคือ แทนที่โจทก์จะเรียกร้องเป็นตัวเงินแต่โจทก์ยอมให้จำเลยนำรถไปซ่อมให้อยู่ในสภาพเดิม ข้อตกลงเช่นนี้จึงมีลักษณะเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความ โดยไม่จำต้องกำหนดจำนวนเงินที่แน่นอนว่าจำเลยจะต้องชำระเงินกันอย่างไร ที่ไหน เมื่อใด เพราะเป็นการตกลงให้จำเลยชำระหนี้ด้วยการกระทำ แม้ตามฟ้องโจทก์ได้ดำเนินการซ่อมเสียเองก็ตาม โจทก์ก็อาจฟ้องบังคับให้ชำระหนี้กันได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 194 และมาตรา 213 ข้อตกลงระหว่างโจทก์จำเลยดังกล่าวจึงเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความ ตามนัยแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 850 แล้ว
ส่วนปัญหาที่ว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่นั้น เมื่อข้อตกลงระหว่างโจทก์จำเลยเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความแล้ว ผลของสัญญาประนีประนอมยอมความนั้นย่อมทำให้การเรียกร้องซึ่งแต่ละฝ่ายได้ยอมสละนั้นระงับสิ้นไป และทำให้แต่ละฝ่ายได้สิทธิตามที่แสดงในสัญญานั้นว่าเป็นของตน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 852 ฉะนั้น สิทธิเรียกร้องของโจทก์ในมูลละเมิดย่อมระงับสิ้นไป โจทก์ย่อมได้สิทธิเรียกร้องขึ้นใหม่ นับแต่วันที่ 27 มกราคม 2535 ซึ่งเป็นวันเริ่มทำข้อตกลงและที่โจทก์ใช้สิทธิเรียกร้องตามสัญญาประนีประนอมยอมความฟ้องจำเลย วันที่ 5 พฤศจิกายน2536 ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความทั่วไปซึ่งมีกำหนด 10 ปี ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามานั้นชอบแล้ว ฎีกาจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน