แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
การที่จะถือว่าเมื่อสิ้นกำหนดการเช่าแล้วมีการเช่ากันใหม่ต่อไป ไม่มีกำหนดเวลาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 570นั้น กฎหมายไม่ได้กำหนดว่าผู้ให้เช่ามีหน้าที่จะต้องบอกเลิกการเช่าหรือบอกกล่าวให้ผู้เช่าทราบก่อนหรือในวันครบกำหนดการเช่าว่าจะไม่ให้เช่าต่อไป หากแต่ให้ดูเจตนาของผู้ให้เช่าว่ามีการยินยอมให้ผู้เช่าอยู่ต่อไปหรือไม่ ซึ่งการยินยอมนั้นรวมถึงการไม่ทักท้วงเมื่อรู้ว่าผู้เช่าครอบครองทรัพย์สินที่เช่าต่อมหลังจากสิ้นกำหนดเวลาเช่าแล้ว สัญญาเช่าที่ดินมีกำหนดเวลาแน่นอน โจทก์มีหนังสือบอกเลิกการเช่าไปยังจำเลยในวันครบกำหนดการเช่า แสดงให้เห็นเจตนาของโจทก์ว่าโจทก์ไม่ประสงค์จะให้จำเลยเช่าต่อไปนับแต่วันครบกำหนดการเช่าแล้ว และหนังสือดังกล่าวนั้นจำเลยได้รับแล้ว ถือได้ว่าโจทก์ได้ทักท้วงในการที่จำเลยจะอยู่ในที่เช่าต่อไป ดังนี้ การที่จำเลยอยู่ในที่เช่า ต่อมาภายหลังสัญญาเช่าครบกำหนดแล้ว จึงไม่ใช่การเช่ากันใหม่โดยไม่มีกำหนดเวลาตามมาตรา 570 โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องโดยไม่จำต้องบอกเลิกการเช่าตามมาตรา 566 อีก
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3ก.) เลขที่ 2275 จำเลยเช่าที่ดินดังกล่าวบางส่วนจากโจทก์ปลูกบ้านเลขที่ 73 ค่าเช่าเดือนละ 100 บาทเมื่อสัญญาเช่าสิ้นสุดลง โจทก์มีหนังสือบอกเลิกการเช่าให้จำเลยพร้อมทั้งบริวารรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกไปจากที่ดินโจทก์ จำเลยไม่ยอมรื้อถอน ขอให้บังคับจำเลยพร้อมทั้งบริวารรื้อถอนบ้านเลขที่73 ออกจากที่ดินของโจทก์ และให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ย
จำเลยให้การว่า จำเลยเช่าที่ดินของโจทก์ตามฟ้องจริง มีกำหนดเวลา 2 ปี นับแต่วันที่ 5 มกราคม 2529 ถึงวันที่ 5 มกราคม 2531ชำระค่าเช่าเป็นรายปี ปีละ 1,200 บาท สัญญาเช่าครบกำหนดโจทก์บอกเลิกการเช่า ตามหนังสือลงวันที่ 5 มกราคม 2531 แต่จำเลยได้รับวันที่ 7 มกราคม 2531 จึงถือว่าวันที่ 7 มกราคม 2531 เป็นวันบอกเลิกการเช่าของโจทก์ และเป็นเวลาหลังจากครบกำหนดสัญญาเช่าแล้ว จึงถือว่าโจทก์ให้จำเลยเช่าที่ดินต่อมาโดยไม่มีกำหนดเวลาหากโจทก์จะเลิกการเช่ากับจำเลย โจทก์จะต้องบอกกล่าวให้จำเลยทราบล่วงหน้าก่อนชั่วกำหนดเวลาชำระค่าเช่า จำเลยชำระค่าเช่าให้โจทก์เป็นรายปี โจทก์ต้องบอกเลิกการเช่าก่อน 1 ปี การบอกเลิกการเช่าของโจทก์ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยและบริวารรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างบ้านเลขที่ 73 ออกไปจากที่ดินโจทก์ ให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นเงิน 100 บาท และชดใช้ค่าเสียหายเดือนละ 100 บาทนับแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยจะรื้อถอนและขนย้ายบ้านทรัพย์สินออกไปจากที่ดินโจทก์ จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า จำเลยได้ทำสัญญาเช่าที่พิพาทจากโจทก์มีกำหนด 2 ปี ครบกำหนดการเช่าวันที่5 มกราคม 2531 โจทก์มีหนังสือบอกเลิกการเช่าไปยังจำเลยในวันครบกำหนดการเช่าดังกล่าว แต่จำเลยได้รับวันที่ 7 มกราคม 2531 ปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยมีว่าการที่จำเลยอยู่ในที่พิพาทต่อมาหลังจากสัญญาเช่าครบกำหนดถือว่าได้ทำสัญญาเช่ากันใหม่ต่อไปไม่มีกำหนดเวลาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 570 ซึ่งโจทก์จะต้องบอกเลิกการเช่าตามมาตรา 566 ก่อน จึงจะมีอำนาจฟ้องหรือไม่ พิเคราะห์แล้ว การที่จะถือว่าเมื่อสิ้นกำหนดการเช่าแล้วมีการเช่ากันใหม่ต่อไปไม่มีกำหนดเวลาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 570 นั้น กฎหมายไม่ได้กำหนดว่าผู้ให้เช่ามีหน้าที่จะต้องบอกเลิกการเช่าหรือบอกกล่าวให้ผู้เช่าทราบก่อนหรือในวันครบกำหนดการเช่าว่าจะไม่ให้เช่าต่อไป หากแต่ให้ดูเจตนาของผู้ให้เช่าว่ามีการยินยอมให้ผู้เช่าอยู่ต่อไปหรือไม่ ซึ่งการยินยอมนั้นรวมถึงการไม่ทักท้วงเมื่อรู้ว่าผู้เช่าครอบครองทรัพย์สินที่เช่าต่อมาหลังจากสิ้นกำหนดเวลาเช่าแล้ว เมื่อข้อเท็จจริงในเรื่องนี้ได้ความว่า โจทก์มีหนังสือบอกเลิกการเช่าไปยังจำเลยในวันที่ 5มกราคม 2531 ซึ่งเป็นวันครบกำหนดการเช่า แสดงให้เห็นเจตนาของโจทก์ว่า โจทก์ไม่ประสงค์จะให้จำเลยเช่าต่อไปนับแต่ให้เห็นเจตนาของโจทก์ว่า โจทก์ไม่ประสงค์จะให้จำเลยเช่าต่อไปนับแต่วันครบกำหนดการเช่าแล้วและก็ได้ความว่าหนังสือดังกล่าวนั้นจำเลยได้รับแล้วพฤติการณ์เช่นนี้ถือได้ว่า โจทก์ได้ทักท้วงในการที่จำเลยจะอยู่ในที่เช่าต่อไป ดังนี้ การที่จำเลยอยู่ในที่เช่าต่อมาภายหลังสัญญาเช่าครบกำหนดแล้ว จึงไม่ใช่การเช่ากันใหม่โดยไม่มีกำหนดเวลาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 570 โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องโดยไม่จำต้องบอกเลิกการเช่าตามมาตรา 566 อีก ศาลล่างทั้งสองพิพากษาชอบแล้ว”
พิพากษายืน