คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2337/2533

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์ในฐานความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343 คู่ความจึงต้องห้ามมิให้ฎีกาในความผิดฐานนี้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 220แก้ไขโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ 17) พ.ศ. 2532 มาตรา 13 การกระทำที่จะเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2528 มาตรา 30 วรรคแรกนั้นผู้กระทำต้องมีเจตนาที่จะจัดหางานให้คนงานเพื่อไปทำงานในต่างประเทศโดยมิได้รับอนุญาตจากนายทะเบียนจัดหางานกลาง แต่โจทก์บรรยายฟ้องในฐานความผิดฉ้อโกงว่า จำเลยทำอุบายจัดตั้งสำนักงานจัดหางานขึ้นดำเนินธุรกิจติดต่อและจัดหางานเพื่อส่งไปทำงานต่างประเทศความจริงจำเลยมิได้จัดตั้งสำนักงานจัดหางานและไม่เคยติดต่องานในต่างประเทศเพื่อจัดส่งคนงานไปทำงานแต่อย่างใด จำเลยเพียงกล่าวอ้างขึ้นหลอกลวงประชาชนเท่านั้น คำฟ้องของโจทก์ได้ความแจ้งชัดว่าจำเลยมิได้มีเจตนาจัดหางานให้แก่ผู้เสียหาย จำเลยกล่าวอ้างการจัดตั้งสำนักงานจัดหางานขึ้นเพื่อหลอกลวงผู้เสียหาย โดยหวังจะได้ค่าบริการจากผู้เสียหายเท่านั้น จึงไม่เป็นความผิดฐานจัดหางานโดยมิได้รับอนุญาตตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางานพ.ศ. 2528

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91, 341,343 พระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2528มาตรา 30, 82 และนับโทษจำเลยต่อจากโทษในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 3241/2529 ของศาลชั้นต้น และให้จำเลยร่วมคืนหรือใช้เงินจำนวน120,000 บาท แก่ผู้เสียหายทั้งสี่ จำเลยให้การปฏิเสธ ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341, 83, 91รวม 4 กระทง จำคุกกระทงละ 6 เดือน รวมจำคุก 2 ปี และมีความผิดตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2528 มาตรา30, 82 จำคุก 3 ปี รวมจำคุก 5 ปี นับโทษต่อจากโทษในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 3241/2529 ของศาลชั้นต้น และให้จำเลยร่วมคืนหรือชดใช้เงินจำนวน 120,000 บาท ให้แก่ผู้เสียหาย คำขออื่นให้ยกโจทก์และจำเลยอุทธรณ์ โดยโจทก์อุทธรณ์ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 343 ส่วนจำเลยอุทธรณ์ขอให้ยกฟ้อง และถ้าฟังว่าจำเลยกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 การกระทำของจำเลยก็เป็นความผิดเพียงกรรมเดียว ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341, 83 กระทงเดียว จำคุก6 เดือน ความผิดข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้ยก นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น โจทก์ฎีกา ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 343 และการกระทำของจำเลยเป็นความผิด 4 กระทง กับขอให้ลงโทษในฐานความผิดต่อพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่โจทก์ฎีกาว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343 ดังที่โจทก์ฟ้องนั้นเห็นว่า ฐานความผิดดังกล่าวศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์ ซึ่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 220 แก้ไขโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา(ฉบับที่ 17) พ.ศ. 2532 มาตรา 13 ห้ามมิให้คู่ความฎีกาแม้ศาลชั้นต้นจะสั่งรับฎีกาขึ้นมา ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย สำหรับฎีกาของโจทก์ที่ว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิด 4 กระทง หาใช่เป็นความผิดกระทงเดียวดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยไม่นั้น ปรากฏว่าความผิดฐานฉ้อโกงตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยรวม 4 กระทง จำคุกกระทงละ 6 เดือน รวมจำคุก 2 ปีศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นให้ลงโทษกระทงเดียว จำคุก 6 เดือนจึงเป็นกรณีที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ไขคำพิพากษาศาลชั้นต้นเล็กน้อยห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคแรก โจทก์คงฎีกาได้แต่ในปัญหาข้อกฎหมายในการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายนั้น ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 222 บัญญัติว่าศาลฎีกาจะต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยมาแล้วจากพยานหลักฐานในสำนวนในปัญหาข้อนี้ศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงว่า นายสิงห์พวกของจำเลยเข้าไปหลอกลวงผู้เสียหายทั้งสี่ขณะอยู่ในร้านค้าของนายสว่างในคราวเดียวกัน เป็นกรณีที่จำเลยร่วมกับพวกหลอกลวงผู้เสียหายในคราวเดียวกัน ดังนี้ ศาลฎีกาเห็นว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดกระทงเดียว ส่วนฎีกาของโจทก์ที่ว่าความผิดต่อพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน โจทก์บรรยายฟ้องไว้ครบถ้วน ความผิดตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนงาน พ.ศ. 2528 มาตรา 30 แล้ว และข้อเท็จจริงก็รับฟังได้ยุติว่าจำเลยร่วมหลอกลวงผู้เสียหายทั้งสี่ซึ่งเป็นคนหางานว่าจะจัดหางานให้ผู้เสียหายไปทำงานต่างประเทศ โดยจำเลยกับพวกมิได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียนตามกฎหมาย เห็นว่า การที่จะเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติ จัดหางานและคุ้มครองคนงาน พ.ศ. 2528 มาตรา 30 วรรคแรกนั้น ผู้กระทำต้องมีเจตนาที่จะจัดหางานให้คนงานเพื่อไปทำงานในต่างประเทศ แต่ผู้กระทำไม่ได้รับอนุญาตจากนายทะเบียนจัดหางานกลางกรณีของคดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องในฐานความผิดฉ้อโกงมีใจความว่าจำเลยกับพวกทำอุบายร่วมกันจัดตั้งสำนักจัดหางานขึ้นชื่อบริษัทเขลวงศ์ หรือ เขลางค์ จำกัด ดำเนินธุรกิจติดต่อและจัดหางานเพื่อส่งไปทำงานต่างประเทศโดยเฉพาะ ความจริงแล้วจำเลยกับพวกมิได้จัดตั้งบริษัทดังกล่าวขึ้น และไม่เคยติดต่องานในต่างประเทศเพื่อจัดส่งคนงานไปทำงานแต่อย่างใด จำเลยกับพวกเพียงกล่าวอ้างขึ้นหลอกลวงประชาชนเท่านั้น เช่นนี้คำฟ้องของโจทก์ได้ความโดยแจ้งชัดว่า จำเลยมิได้มีเจตนาจัดหางานให้แก่ผู้เสียหายทั้งสี่ จำเลยกับพวกกล่าวอ้างการจัดตั้งบริษัทจัดหางานขึ้นเพื่อหลอกลวงผู้เสียหายทั้งสี่ โดยหวังจะได้ค่าบริการจากผู้เสียหายทั้งสี่เท่านั้นการกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานจัดหางานโดยมิได้รับอนุญาตตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2528 ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share