คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 356/2537

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยที่ 2 ถึงแก่กรรมขณะคดียังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 2 โดยไม่มีผู้ใดร้องขอเข้ามาเป็นคู่ความแทนที่จำเลยที่ 2 ผู้มรณะภายใน 1 ปี นับแต่วันที่จำเลยที่ 2 ถึงแก่กรรมจนกระทั่งได้มีการอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 ให้คู่ความฟังแล้วถือได้ว่าเป็นการล่วงพ้นระยะเวลาที่ตัวแทนหรือทนายจำเลยที่ 2จะจัดการดำเนินคดีเพื่อปกปักรักษาประโยชน์ของจำเลยที่ 2 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 828 แล้ว ทนายจำเลยที่ 2จึงไม่มีอำนาจดำเนินคดีแทนอีกต่อไป ทนายจำเลยที่ 2 ยื่นฎีกาหลังจากที่หมดอำนาจแล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 2 จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน 476,160 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จและห้ามจำเลยทั้งสามเกี่ยวข้องกับที่ดินทั้งสองแปลงของโจทก์ต่อไป
จำเลยทั้งสามให้การว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการมีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 1 ได้ จำเลยทั้งสามไม่เคยให้คนงานเข้าไปตักดินลูกรังในที่ดินของโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้น พิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายจำนวน 476,160 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน
จำเลยทั้งสามฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ปรากฏว่าหลังจากทนายจำเลยทั้งสามยื่นอุทธรณ์เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2531 แล้ว ต่อมาวันที่ 1 ธันวาคม2532 จำเลยที่ 2 ถึงแก่กรรม โดยไม่มีการร้องขอเข้ามาเป็นคู่ความแทนที่จำเลยที่ 2 ภายใน 1 ปี นับแต่วันที่จำเลยที่ 2 ถึงแก่กรรมจนกระทั่งได้มีการอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 ให้คู่ความฟังในวันที่ 12 กรกฎาคม 2534 จึงถือได้ว่าเป็นการล่วงพ้นระยะเวลาที่ตัวแทนหรือทนายจำเลยที่ 2 จะจัดการดำเนินคดีเพื่อปกปักรักษาประโยชน์ของจำเลยที่ 2 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 828แล้ว ทนายจำเลยที่ 2 จึงไม่มีอำนาจดำเนินคดีแทนจำเลยที่ 2 ต่อไปเมื่อปรากฏว่าทนายจำเลยที่ 2 ยื่นฎีกาคดีนี้เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม2534 อันเป็นระยะเวลาหลังจากที่ทนายจำเลยที่ 2 หมดอำนาจแล้วฎีกาเฉพาะของจำเลยที่ 2 จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย”
พิพากษายกฎีกาจำเลยที่ 2 สำหรับจำเลยที่ 1 และที่ 3 พิพากษายืน

Share