คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9347/2544

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 39 วรรคหนึ่ง มีเจตนาให้การดำเนินกระบวนพิจารณาคดีในศาลแรงงานเป็นไปโดยประหยัด สะดวก รวดเร็ว และเที่ยงธรรม จึงให้ศาลแรงงานกำหนดประเด็นข้อพิพาทและกำหนดวันสืบพยานไปทันทีในวันใดก็ได้ หาจำต้องกำหนดไม่น้อยกว่าสิบวันนับแต่วันชี้สองสถานดังเช่นที่ ป.วิ.พ. กำหนดไว้ไม่ ทั้งการกำหนดประเด็นข้อพิพาทในคดีแรงงานก็เป็นอำนาจและดุลพินิจของศาลแรงงานโดยเฉพาะ และเมื่อกำหนดประเด็นข้อพิพาทไปแล้วก็ไม่มีบทบัญญัติใดกำหนดให้ศาลแรงงานต้องชี้ขาด คำคัดค้านการกำหนดประเด็นข้อพิพาทของคู่ความก่อนวันสืบพยาน เพราะการกำหนดให้ชี้ขาดก่อนเช่นนั้นทำให้กระบวนพิจารณาดำเนินไปโดยล่าช้า ทำให้คู่ความไม่ได้รับความเที่ยงธรรมได้ การที่ศาลแรงงานกลางใช้ดุลพินิจ สั่งให้รวมคำคัดค้านของจำเลยไว้ในสำนวนคดีความโดยไม่ชี้ขาดคำคัดค้านก่อนว่าควรเปลี่ยนแปลงการกำหนดประเด็นข้อพิพาทหรือไม่จึงหาเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบไม่
สัญญาจ้างระบุว่า อ. เป็นลูกจ้างของโจทก์ ทดลองงานเป็นระยะเวลาไม่เกิน 120 วัน และต้องทำงานให้โจทก์เป็นระยะเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า 24 เดือน หมายความว่าระยะเวลา 120 วันแรกเป็นระยะทดลองงาน เมื่อพ้นระยะ ทดลองงานแล้ว อ. ต้องทำงานให้โจทก์ต่อไปอีก ซึ่งนับรวมกับระยะทดลองงานแล้วต้องไม่น้อยกว่า 24 เดือน โดยสัญญาไม่ได้กำหนดวันสิ้นสุดสัญญาจ้างไว้ จึงเป็นสัญญาจ้างที่ยังไม่มีกำหนดระยะเวลา ในสัญญาค้ำประกัน ก็กำหนดไว้ชัดแจ้งว่าสัญญาค้ำประกันมีผลบังคับตลอดระยะเวลาที่ อ. ทำงานกับโจทก์ไม่ว่าตำแหน่งหน้าที่ใด ๆ ที่โจทก์กำหนดและระยะเวลาทำงานนานเท่าใด โดยจำเลยซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันจะไม่บอกเลิกสัญญาจนกว่าจะได้มีการหาบุคคลอื่นที่มีหลักฐานมั่นคงและโจทก์เห็นชอบให้เป็นผู้ค้ำประกันแทนได้เรียบร้อยแล้ว สัญญาค้ำประกันจึงหาได้ให้มีผลเพียงชั่วระยะเวลาทดลองงาน 120 วัน ไม่ ทั้งจำเลยก็มิได้หาบุคคลอื่นมาเป็นผู้ทำสัญญาค้ำประกันแทน โดยความเห็นชอบของโจทก์ จำเลยจึงต้องผูกพันรับผิดตามสัญญาค้ำประกันตลอดระยะเวลาที่ อ. ทำงานกับโจทก์จนถึง วันที่ อ. ลาออก และต้องรับผิดต่อความเสียหายที่ อ.ได้ก่อให้เกิดขึ้นแก่โจทก์ตั้งแต่เริ่มทำงานจนถึงวันลาออกจากงาน
โจทก์ฟ้องให้จำเลยรับผิดชดใช้เงินที่ อ. ลูกจ้างของโจทก์ยักยอกไปหรือให้ชดใช้เงินที่ อ.ก่อให้เกิดความ
เสียหายต่อโจทก์เพราะการผิดสัญญาจ้างแรงงานเป็นการฟ้องเรียกเงินของโจทก์คืนจากผู้ยักยอกและจำเลยต้องรับผิดชดใช้คืนในฐานะผู้ค้ำประกัน จึงมีอายุความฟ้องเอาคืนได้ภายในกำหนด 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 นับแต่วัน ยักยอกถึงวันฟ้องยังไม่เกิน 10 ปี คดีไม่ขาดอายุความ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินตามสัญญาค้ำประกันการทำงานของนายอธิวัฒน์ พิทักษ์เขตอรัญ ลูกจ้างโจทก์จำนวน ๖๓,๕๘๓ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๑๕ ต่อปี ของต้นเงิน ๔๖,๗๗๓ บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้วฟังข้อเท็จจริงและวินิจฉัยว่า นายอธิวัฒน์ พิทักษ์เขตอรัญ ทำงานเป็น ลูกจ้างโจทก์เมื่อวันที่ ๗ มีนาคม ๒๕๓๙ โดยมีจำเลยเป็นผู้ค้ำประกันระหว่างทำงานนายอธิวัฒน์ยักยอกเงินค่าเบี้ยประกันภัยจำนวน ๒๐,๐๐๐ บาท และค่าอะไหล่รถยนต์จำนวน ๒๐,๒๗๓ บาท ของลูกค้าที่ชำระแก่โจทก์ไปใช้ประโยชน์ส่วนตัว และลาออกเมื่อวันที่ ๙ เมษายน ๒๕๔๐ พร้อมกับทำหนังสือรับสภาพหนี้และขอผ่อนชำระตามเอกสารหมาย จ.๖ แต่นายอธิวัฒน์ผิดนัดไม่ยอมชำระ ซึ่งตามสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.๔ ระบุให้โดยต้องผูกพันตามสัญญาค้ำประกันตลอดเวลาที่นายอธิวัฒน์ยังคงทำงานกับโจทก์โดยไม่จำกัดจำนวนต่อความเสียหาย ทั้งปวงที่นายอธิวัฒน์ได้กระทำ เมื่อจำเลยไม่ยอมชำระค่าเสียหายจำเลยจึงตกเป็นผู้ผิดนัด โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๒๒๔ ไม่ปรากฏวันทวงถามอันจะถือเป็น วันผิดนัดจึงให้คิดตั้งแต่วันฟ้องเป็นต้นไป คดีไม่ขาดอายุความ พิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน ๔๖,๗๗๓ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ที่จำเลยอุทธรณ์ว่าจำเลยคัดค้านการกำหนดประเด็นข้อพิพากษาของ ศาลแรงงานกลาง แต่ศาลแรงงานกลางมิได้ชี้ขาดคำคัดค้านของจำเลยก่อนวันนัดสืบพยาน จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๘๓ วรรคสี่ (ที่ถูกวรรคสาม) และ พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๓๑ นั้น เห็นว่า การกำหนดประเด็น ข้อพิพาทในคดีแรงงานนั้นพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๓๙ ได้บัญญัติไว้โดยเฉพาะและชัดแจ้งครบถ้วนแล้วไม่อาจจะนำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๘๓ วรรคสาม มาใช้บังคับแก่กรณีนี้ได้อีก ซึ่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๓๙ วรรคหนึ่ง บัญญัติว่าในกรณีมีประเด็นที่ยังไม่อาจตกลงกันหรือไม่อานประนีประนอมยอมความกันให้ศาลแรงงานจดประเด็นข้อพิพาทและบันทึกคำแถลงของโจทก์กับคำให้การของจำเลยอ่านให้คู่ความฟัง และลงลายมือชื่อไว้โดย จะระบุให้คู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งนำพยานมาสืบก่อนหรือหลังก็ได้ แล้วให้ศาลแรงงานกำหนดวันสืบพยานไปทันที บทบัญญัติดังกล่าวมีเจตนาให้การดำเนินกระบวนพิจารณาคดีในศาลแรงงานเป็นไปโดยประหยัด สะดวก รวดเร็ว และเที่ยงธรรม จึงให้ศาลแรงงานกำหนดประเด็นข้อพิพาทและกำหนดวันสืบพยานไปทันทีในวันใดก็ได้ หาจำต้องกำหนดไม่น้อยกว่าสิบวันนับแต่วันชี้สองสถานดังเช่นที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งกำหนดไว้ไม่ ทั้งการกำหนดประเด็นข้อพิพาทในคดีแรงงานก็เป็นอำนาจและดุลพินิจของศาลแรงงานโดยเฉพาะ และเมื่อกำหนดประเด็นข้อพิพาทไปแล้วก็ไม่มีบทบัญญัติใดกำหนดให้ศาลแรงงานต้องชี้ขาดคำคัดค้านการกำหนดประเด็นข้อพิพาทของคู่ความก่อนวันสืบพยาน เพราะการกำหนดให้ชี้ขาดก่อนเช่นนี้ทำให้กระบวนพิจารณาดำเนินไปโดยล่าช้า ทำให้คู่ความไม่ได้รับความเที่ยงธรรมได้ การที่ศาลแรงงานกลางใช้ดุลพินิจสั่งให้รวมคำคัดค้านของจำเลยไว้ในสำนวนคดีความโดยไม่ชี้ขาด คำคัดค้านก่อนว่าควรเปลี่ยนแปลงการกำหนดประเด็นข้อพิพาทหรือไม่นั้นจึงหาเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ ไม่ชอบดังที่จำเลยอุทธรณ์ไม่ ที่จำเลยอุทธรณ์ว่า สัญญาจ้างเอกสารหมาย จ.๓ เป็นสัญญาจ้างมีกำหนดระยะเวลาเฉพาะในช่วงเวลาระหว่างที่นายอภิวัฒน์ทดลองงาน ๑๒๐ วัน เท่านั้น สัญญาค้ำประกันจึงไม่ผูกพันจำเลยต่อความเสียหาย ที่เกิดขึ้นหลังจากระยะเวลาดังกล่าวนั้น เห็นว่า แม้สัญญาจ้างเอกสารหมาย จ.๓ ข้อ ๑ ระบุว่านายอธิวัฒน์เป็นลูกจ้างทดลองงานเป็นระยะเวลาไม่เกิน ๑๒๐ วัน แต่ข้อ ๕ ก็ระบุว่านายอธิวัฒน์ต้องทำงานให้โจทก์เป็นระยะติดต่อกันไม่น้อยกว่า ๒๔ เดือน โดยไม่ได้กำหนดวันสิ้นสุดสัญญาจ้างไว้ ดังนั้นสัญญาจ้างเอกสารหมาย จ.๓ จึงเป็นสัญญาจ้างที่ไม่มีกำหนดระยะเวลาโดยระบุให้ ๑๒๐ วันแรก เป็นระยะเวลาทดลองงาน เมื่อพ้นระยะเวลาทดลองงานแล้วนายอธิวัฒน์ต้องทำงานให้โจทก์ต่อไปซึ่งเมื่อนับรวมกับระยะทดลองงานแล้วต้องไม่น้อยกว่า ๒๔ เดือน ในสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.๔ ข้อ ๓ ก็กำหนดไว้ชัดแจ้งว่าสัญญาค้ำประกันมีผลบังคับตลอดระยะเวลาที่นายอธิวัฒน์ทำงานกับโจทก์ไม่ว่าตำแหน่งหน้าที่ใด ๆ ที่โจทก์กำหนดและระยะเวลาทำงานเท่าใด โดยจำเลยซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันจะไม่บอกเลิกสัญญาจนกว่าจะได้มีการกาบุคคลอื่นทีมีหลักฐานมั่งคงและโจทก์เห็นชอบให้เป็นผู้ค้ำประกันแทนได้เรียบร้อยแล้ว สัญญาค้ำประกันจึงหาได้ให้มีผลเพียงชั่วระยะเวลาทดลองงาน ๑๒๐ วัน ดังจำเลยอุทธรณ์ไม่ ทั้งจำเลยก็มิได้หาบุคคลอื่นมาเป็นผู้ทำสัญญา ค้ำประกันแทนโดยความเห็นชอบของโจทก์ จำเลยจึงต้องผูกพันรับผิดตามสัญญาค้ำประกันตลอดระยะเวลาที่นายอธิวัฒน์ทำงานกับโจทก์จนถึงวันที่นายอธิวัฒน์ลาออก และต้องรับผิดต่อความเสียหายที่นายอธิวัฒน์ได้ก่อให้เกิดขึ้นแก่โจทก์ตั้งแต่เริ่มทำงานถึงวันลาออกจากงานและที่จำเลยอุทธรณ์ว่า คดีขาดอายุความนั้น เห็นว่า โจทก์ฟ้องให้จำเลยรับผิด ชดใช้เงินที่นายอธิวัฒน์ลูกจ้างของโจทก์ยักยอกไปหรือให้ชดใช้เงินที่นายอธิวัฒน์ก่อให้เกิดความเสียหายต่อโจทก์เพราะการผิดสัญญาจ้างแรงงาน ซึ่งเป็นการฟ้องเรียกเงินของโจทก์คืนจากผู้ยักยอกและจำเลยต้องรับผิดชดใช้คืน ในฐานะผู้ค้ำประกัน จึงมีอายุความฟ้องเอาคืนได้ภายในกำหนด ๑๐ ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๙๓/๓๐ นับแต่วันยักยอกถึงวันฟ้องยังไม่เกิน ๑๐ ปี คดีไม่ขาดอายุความ อุทธรณ์ของจำเลยดังวินิจฉัยมาข้างต้นทุกข้อฟังไม่ขึ้น …
พิพากษายืน .

Share