แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องว่าโจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์บ้านพิพาทจำเลยพักอาศัยอยู่โดยไม่มีสิทธิขอให้จำเลยขนย้ายทรัพย์สินกับบริวารออกไปจำเลยให้การต่อสู้ว่าจำเลยมีสิทธิอยู่ในบ้านพิพาทเพราะจำเลยซื้อบ้านพิพาทจากบริษัทช. ผู้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์เดิมแต่ยังไม่สามารถโอนกรรมสิทธิ์ให้จำเลยได้เช่นนี้ถือไม่ได้ว่าเป็นการต่อสู้กรรมสิทธิ์จึงไม่เป็นคดีมีทุนทรัพย์แต่เป็นคดีฟ้องขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้แม้โจทก์จะกล่าวอ้างว่าหากนำบ้านพิพาทออกให้เช่าจะได้ค่าเช่าเดือนละไม่ต่ำกว่า10,000บาทซึ่งหมายถึงอาจให้เช่าได้เดือนละ10,000บาท หรือมากกว่านี้ตามแต่ศาลชั้นต้นกำหนดค่าเสียหายให้แก่โจทก์เท่ากับค่าเช่าเดือนละ5,000บาทศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นให้จำเลยชำระค่าเสียหายให้แก่โจทก์เดือนละ3,000บาทโดยโจทก์มิได้อุทธรณ์ฎีกาข้อเท็จจริงจึงยุติว่าบ้านพิพาทอาจให้เช่าในขณะยื่นคำฟ้องเดือนละ3,00บาทกรณีจึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา248วรรคสอง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกจากบ้านเลขที่ 90/6-7 ซอยเปรมสมบัติ ถนนประชาสงเคราะห์แขวงห้วยขวาง เขตห้วยขวาง กรุงเทพมหานคร ให้จำเลยชำระค่าเสียหาย 40,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จ และให้จำเลยชำระค่าเสียหายในอัตราเดือนละ 10,000 บาท นับแต่วันฟ้องไปจนกว่าจำเลยจะขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกจากบ้านของโจทก์
จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่ใช้เจ้าของกรรมสิทธิ์อาคารพิพาทโจทก์ไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากจำเลย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยและบริวารขนย้ายทรัพย์สินออกจากบ้านพิพาทและส่งมอบคืนโจทก์ในสภาพเรียบร้อย ให้จำเลยชำระค่าเสียหายแก่โจทก์จำนวน 4,166.50 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้จำเลยชำระค่าเสียหายแก่โจทก์นับแต่วันฟ้องอีกเดือนละ 5,000 บาท จนกว่าจำเลยและบริวารจะขนย้ายออกไปจากบ้านของโจทก์
จำเลย อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระค่าเสียหายแก่โจทก์จำนวน 2,500 บาท และให้จำเลยชำระค่าเสียหายแก่โจทก์นับแต่วันฟ้องเดือนละ 3,000 บาท นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลย ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามคำแก้ฎีกาของโจทก์ว่า คดีนี้จำเลยต้องห้ามมิให้ฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความ มาตรา 248 หรือไม่ เห็นว่าโจทก์ฟ้องอ้างว่าโจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์บ้านพิพาท จำเลยพักอาศัยอยู่โดยไม่มีสิทธิขอให้จำเลยขนย้ายทรัพย์สินกับบริวารออกไป จำเลยให้การต่อสู้ว่า จำเลยมีสิทธิอยู่ในบ้านพิพาทเพราะจำเลยซื้อบ้านพิพาทจากบริษัท ซ.เคหะกิจเจริญ จำกัด ผู้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์เดิมแต่ยังไม่สามารถโอนกรรมสิทธิ์ให้จำเลยได้ กรณีเช่นนี้ถือไม่ได้ว่าเป็นการต่อสู้กรรมสิทธิ์ จึงไม่ทำให้เป็นคดีมีทุนทรัพย์ขึ้นมาหากแต่เป็นคดีฟ้องขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ซึ่งแม้โจทก์จะกล่าวอ้างว่า อาจนำบ้านพิพาทกออกให้เช่า จะได้ค่าเช่าเดือนละไม่ต่ำกว่า 10,000 บาท ซึ่งหมายถึงอาจให้เช่าได้เดือนละ10,000 บาท หรือมากกว่านี้ก็ตาม แต่ศาลชั้นต้นกำหนดค่าเสียหายให้แก่โจทก์เท่ากับค่าเช่าเดือนละ 5,000 บาท ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นให้จำเลยชำระค่าเสียหายให้แก่โจทก์เดือนละ 3,000 บาท โดยโจทก์มิให้อุทธรณ์ฎีกาข้อเท็จจริงจึงยุติว่า บ้านพิพาทอาจให้เช่าในขณะยื่นคำฟ้องเดือนละ 3,000 บาท ซึ่งไม่เกินเดือนละ 10,000 บาท กรณีจึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในข้อเท็จจริง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคสอง ที่จำเลยฎีกาว่า โจทก์รับโอนบ้านพิพาทจากนายจงรักษ์กับนางจรรยาด้วยการคบคิดกันโดยไม่สุจริต และบ้านพิพาทหากให้เช่าจะได้ค่าเช่าไม่เกินเดือนละ 1,000 บาท เป็นฎีกาในข้อเท็จจริง จึงต้องห้ามตามบทกฎหมายดังกล่าว ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย”
พิพากษายก ฎีกา จำเลย