แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 5 มีคำพิพากษาคดีในส่วนอาญาว่า จำเลยกระทำความผิดโดยปลอมแปลงเอกสารสัญญากู้เงินและใช้เอกสารปลอมดังกล่าว แล้วโจทก์ทั้งสองมาฟ้องคดีนี้ว่าจำเลยปลอมและใช้เอกสารสัญญากู้เงินปลอม อันเป็นสัญญากู้เงินฉบับเดียวกัน ขอให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายตามผลการกระทำความผิดอาญาดังกล่าว คดีนี้จึงเป็นคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา การรับฟังข้อเท็จจริงในคดีนี้ย่อมต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 46 ว่า จำเลยได้ปลอมเอกสารสัญญากู้เงินและนำเอกสารปลอมดังกล่าวไปฟ้องโจทก์ทั้งสองเป็นคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 1000/2545 ของศาลชั้นต้น แม้คดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 1000/2545 ของศาลชั้นต้น จะพิพากษาว่าจำเลยมิได้ปลอมและใช้เอกสารสัญญากู้เงินปลอม และคดีถึงที่สุดแล้ว ซึ่งแตกต่างกับคำวินิจฉัยข้อเท็จจริงในคดีนี้ ก็ถือว่าเป็นกรณีที่มีคำพิพากษาอันเป็นที่สุดของสองศาลซึ่งต่างชั้นกัน ต่างกล่าวถึงการปฏิบัติชำระหนี้อันแบ่งแยกจากกันไม่ได้ จำต้องถือตามผลคำพิพากษาคดีนี้ ซึ่งเป็นคำพิพากษาของศาลที่สูงกว่าตาม ป.วิ.พ. มาตรา 146 ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่าจำเลยปลอมเอกสารสัญญากู้เงินและใช้เอกสารปลอมดังกล่าวฟ้องโจทก์ทั้งสองตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 1000/2545 ของศาลชั้นต้น
ย่อยาว
โจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระค่าจ้างทนายความและค่าใช้จ่ายในการต่อสู้คดีรวมทั้งค่าเสียหายที่เจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์สินของโจทก์ทั้งสองออกขายทอดตลาดเป็นเงิน 474,700 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงินจำนวนดังกล่าวนับตั้งแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้จำเลยคืนเงินที่เจ้าพนักงานบังคับคดีอายัดเงินเดือนของโจทก์ที่ 1 จำนวน 602,100 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปีของต้นเงินจำนวนดังกล่าวนับตั้งแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ และให้จำเลยชำระเงินที่เจ้าพนักงานบังคับคดีจะอายัดเงินเดือนของโจทก์ต่อไปในอนาคตพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปีของต้นเงินที่ถูกอายัดตั้งแต่เดือนกันยายน 2554 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 801,100 บาท แก่โจทก์ที่ 1 พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวนดังกล่าวนับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้จำเลยชำระเงินที่เป็นเงินเดือนของโจทก์ที่ 1 ที่ถูกอายัดหลังจากวันฟ้องจำนวน 352,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินแต่ละจำนวนที่ถูกอายัดในแต่ละครั้งจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้จำเลยชำระเงินแก่โจทก์ที่ 2 จำนวน 112,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวนดังกล่าวนับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ และให้จำเลยชำระเงินแก่โจทก์ทั้งสองจำนวน 50,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวนดังกล่าวนับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ และใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ทั้งสอง โดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงินจำนวน 602,100 บาท แก่โจทก์ที่ 1 พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ และให้จำเลยใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ 5,000 บาท แทนโจทก์ทั้งสอง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังเป็นยุติว่า โจทก์ทั้งสองเคยกู้ยืมเงินจำเลยและลงลายมือชื่อในสัญญากู้เงินให้ไว้ ต่อมาเมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2544 จำเลยนำหนังสือสัญญากู้เงินดังกล่าว ฟ้องโจทก์ทั้งสองต่อศาลชั้นต้นตามคดีหมายเลขดำที่ 875/2544 ว่าโจทก์ทั้งสองร่วมกันกู้ยืมเงินจากจำเลย 480,000 บาท ตกลงชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี โจทก์ทั้งสองชำระเงินคืนแล้ว 30,000 บาท คงค้างชำระ 450,000 บาท และดอกเบี้ยถึงวันฟ้องอีก 45,000 บาท ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วมีคำพิพากษาตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 1000/2545 ให้โจทก์ทั้งสองชำระเงินแก่จำเลย 495,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 450,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ คดีถึงที่สุดแล้ว หลังจากนั้นจำเลยดำเนินการบังคับคดีโดยขอให้อายัดเงินเดือนของโจทก์ที่ 1 ที่ได้รับจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยแม่เมาะ ตั้งแต่วันที่ 30 กันยายน 2546 ถึงวันที่ 8 กันยายน 2554 มีการนำส่งเงินที่อายัดแก่เจ้าพนักงานบังคับคดีแล้ว 602,100 บาท และหลังจากโจทก์ทั้งสองยื่นฟ้องคดีนี้แล้วยังมีการอายัดเงินเดือนของโจทก์ที่ 1 อีกเดือนละ 8,000บาท ตลอดมา นอกจากนั้นจำเลยยังนำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์ของโจทก์ที่ 1 รวม 33 รายการ ยึดทรัพย์ของโจทก์ที่ 2 รวม 15 รายการ คิดเป็นราคาทรัพย์รวม 163,700 บาท เจ้าพนักงานบังคับคดีนำทรัพย์ดังกล่าวออกขายทอดตลาดได้เงิน 53,100 บาท ต่อมาโจทก์ทั้งสองว่าจ้างทนายความยื่นฟ้องจำเลยเป็นคดีอาญาหมายเลขดำที่ 450/2547 ต่อศาลชั้นต้น ในข้อหาปลอมเอกสารสิทธิ ใช้หรืออ้างเอกสารสิทธิปลอมและเบิกความเท็จ ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษายกฟ้อง ตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 998/2548 โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์ ระหว่างนั้นจำเลยได้นำยอดหนี้ตามคำพิพากษาไปฟ้องโจทก์ที่ 2 ต่อศาลล้มละลายกลางตามคดีหมายเลขดำที่ ล.11765/2552 โจทก์ที่ 2 แต่งตั้งทนายความต่อสู้คดี ศาลล้มละลายกลางพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้อง สำหรับคดีที่โจทก์ทั้งสองฟ้องจำเลยเป็นคดีอาญา ต่อมาศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษากลับว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 177 วรรคแรก, 180 วรรคแรก, 265, 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 265 ให้จำคุกรวม 3 ปี คดีถึงที่สุดแล้ว โจทก์จึงมาฟ้องคดีนี้
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์ทั้งสองหรือไม่ โดยจำเลยฎีกาประการแรกว่า เมื่อจำเลยฟ้องโจทก์ทั้งสองเป็นคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 875/2544 ให้รับผิดตามสัญญากู้เงิน ศาลชั้นต้นวินิจฉัยพยานหลักฐานของทั้งสองฝ่ายแล้ว เชื่อว่าโจทก์ทั้งสองกู้เงินจากจำเลยตามสัญญากู้เงินตามฟ้องจริง สัญญากู้เงินดังกล่าวมิใช่เอกสารปลอม พิพากษาให้โจทก์ทั้งสองชำระหนี้แก่จำเลย คดีถึงที่สุดแล้ว การที่ต่อมาโจทก์ทั้งสองกลับมาฟ้องจำเลยเป็นคดีอาญา จนศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาว่าจำเลยปลอมเอกสารสัญญากู้เงินและใช้เอกสารปลอมดังกล่าว พิพากษาจำคุกจำเลยคดีถึงที่สุดแล้ว แต่ผลคดีอาญาดังกล่าวไม่อาจลบล้างคำพิพากษาในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 1000/2545 ที่วินิจฉัยว่า สัญญากู้เงินที่จำเลยนำไปฟ้องโจทก์ทั้งสองมิใช่เอกสารปลอมได้ เพราะเมื่อผลของคดีทั้งสองที่ต่างถึงที่สุดขัดแย้งกัน ก็ต้องบังคับคดีทั้งในคดีแพ่งและคดีอาญาแยกต่างหากจากกันไป เห็นว่า เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 5 มีคำพิพากษาคดีในส่วนอาญาว่าจำเลยกระทำความผิดโดยปลอมเอกสารสัญญากู้เงินและใช้เอกสารปลอมดังกล่าว แล้วโจทก์ทั้งสองมาฟ้องคดีนี้ว่าจำเลยปลอมและใช้เอกสารสัญญากู้เงินปลอม อันเป็นสัญญากู้เงินฉบับเดียวกันขอให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายตามผลการกระทำความผิดอาญาดังกล่าว คดีนี้จึงเป็นคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา การรับฟังข้อเท็จจริงในคดีนี้ย่อมต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 46 ว่า จำเลยได้ปลอมเอกสารสัญญากู้เงินและนำเอกสารปลอมดังกล่าวไปฟ้องโจทก์ทั้งสองเป็นคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 1000/2545 ของศาลชั้นต้น แม้คดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 1000/2545 ของศาลชั้นต้น จะพิพากษาว่าจำเลยมิได้ปลอมและใช้เอกสารสัญญากู้เงินปลอม และคดีถึงที่สุดแล้ว ซึ่งแตกต่างกับคำวินิจฉัยข้อเท็จจริงในคดีนี้ ก็ถือว่าเป็นกรณีที่มีคำพิพากษาอันเป็นที่สุดของสองศาลซึ่งต่างชั้นกัน ต่างกล่าวถึงการปฏิบัติชำระหนี้อันแบ่งแยกจากกันไม่ได้ จำต้องถือตามผลคำพิพากษาคดีนี้ ซึ่งเป็นคำพิพากษาของศาลที่สูงกว่าตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 146 ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่าจำเลยปลอมเอกสารสัญญากู้เงินและใช้เอกสารปลอมดังกล่าวฟ้องโจทก์ทั้งสองตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 1000/2545 ของศาลชั้นต้น
อย่างไรก็ตามปรากฏข้อเท็จจริงว่า เจ้าพนักงานบังคับคดีได้อายัดเงินเดือนของโจทก์ที่ 1 ตลอดมา และศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาให้โจทก์ที่ 1 ได้รับชำระเงินเดือนที่ถูกเจ้าพนักงานบังคับคดีอายัดก่อนฟ้องคดีนี้จำนวน 602,100 บาท และอายัดหลังฟ้องคดีนี้จำนวน 352,000 บาท โดยไม่ปรากฏว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีชำระเงินดังกล่าวแก่จำเลยไปแล้วเท่าไร ดังนั้น หากมีเงินเดือนบางส่วนที่เจ้าพนักงานบังคับคดียังมิได้ชำระให้แก่จำเลย เมื่อโจทก์ที่ 1 ได้รับเงินเดือนที่ถูกอายัดกลับคืนสุทธิมาเท่าไรก็ควรต้องหักออกจากจำนวนเงินที่จำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์ทั้งสองด้วย
พิพากษายืน แต่หากโจทก์ที่ 1 ได้รับเงินเดือนที่ถูกอายัดกลับคืนเป็นจำนวนสุทธิเท่าใด ให้นำเงินจำนวนดังกล่าวหักออกจากจำนวนเงินที่จำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์ทั้งสองเพียงนั้นด้วย ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ