คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 893/2540

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

การที่ผู้ค้ำประกันยอมผูกพันตนต่อเจ้าหนี้ยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมมีผลเป็นการสละสิทธิบางประการที่ผู้ค้ำประกันอาจยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้เจ้าหนี้ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยลักษณะค้ำประกันเท่านั้นหน้าที่ความรับผิดของลูกหนี้ชั้นต้นที่มีต่อเจ้าหนี้ก็ดีต่อผู้ค้ำประกันในฐานะพิเศษดังกล่าวก็ดียังคงมีอยู่ตามเดิมเหตุหลุดพ้นจากหนี้ที่ค้ำประกันของผู้ค้ำประกันจะเป็นผลให้จำเลยที่1ในฐานะลูกหนี้ชั้นต้นหลุดพ้นไปด้วยนั้นย่อมเป็นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา685คือจะหลุดพ้นเฉพาะในส่วนที่ผู้ค้ำประกันได้ชำระหนี้ส่วนหนี้ที่ยังเหลือนั้นจำเลยที่1ในฐานะลูกหนี้ชั้นต้นยังคงต้องรับผิดต่อเจ้าหนี้ดังนี้ที่บุคคลภายนอกชำระหนี้แทนท. ผู้ค้ำประกันไปเท่าใดถือได้ว่าเป็นการชำระหนี้โดยท. และมีผลให้จำเลยที่1หลุดพ้นเพียงเท่าจำนวนนั้นหนี้ส่วนที่ท. ยังมิได้ชำระแม้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้จะไม่ติดใจเรียกร้องจากท. ไม่ว่าจะในรูปปลดหนี้หรือประนีประนอมยอมความหนี้ส่วนดังกล่าวยังคงเป็นส่วนที่ยังมิได้มีการชำระจำเลยที่1ในฐานะลูกหนี้ชั้นต้นยังคงต้องรับผิดต่อเจ้าหนี้ การค้ำประกันของจำเลยที่2เป็นการค้ำประกันหนี้รายเดียวย่อมมีผลเป็นผู้ค้ำประกันร่วมกับท. จึงมีความรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมกันกับท. ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา682วรรคสองเมื่อท. โดยบุคคลภายนอกได้ชำระหนี้ที่ตนค้ำประกันเต็มจำนวนตามที่โจทก์เรียกร้องแล้วทำให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้สละสิทธิต่อท. มีผลให้หนี้ระงับสำหรับท. ย่อมมีผลให้หนี้สำหรับจำเลยที่2ระงับด้วยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา340และมาตรา293จำเลยที่2จึงหลุดพ้นไม่จำต้องรับผิดต่อโจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นลุกค้าโจทก์ประเภทขายลดเช็คโดยมีจำเลยที่ 2 และนางทิพย์สุดา สุขารมณ์ เป็นผู้ค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม ต่อมาเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2526จำเลยที่ 1 นำเช็ค 2 ฉบับ จำนวนเงินฉบับละ 200,000 บาท ที่นายเกรียงไกร เดชเจริญยศ ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายมาขายลดให้โจทก์ และวันที่ 13 มกราคม 2527 จำเลยที่ 1 นำเช็ค 1 ฉบับ จำนวนเงิน200,000 บาท ที่นายบรรจบ กลางการลงลายมือชื่อสั่งจ่ายมาขายลดให้โจทก์ ครั้นเมื่อเช็คแต่ละฉบับถึงกำหนด โจทก์นำเช็คไปเรียกเก็บเงินแต่ธนาคารเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน โจทก์ได้ฟ้องนายเกรียงไกรและนายบรรจบให้ชำระเงินตามเช็คแก่โจทก์ศาลชั้นต้นพิพากษาให้นายเกรียงไกรและนายบรรจบชำระหนี้แก่โจทก์ครั้นเมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2527 นางทิพย์สุดา ถูกศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด โจทก์ยื่นคำขอรับชำระหนี้ตามสัญญาค้ำประกันขายลดเช็คจากกองทรัพย์สินของนางทิพย์สุดาศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์ได้รับชำระหนี้จากกองทรัพย์สินของนางทิพย์สุดาเป็นเงิน 719,687.22 บาท นางทิพย์สุดาขอประนอมหนี้กับโจทก์โดยนำบุคคลภายนอกมาชำระหนี้แก่โจทก์เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2533 เป็นเงิน 719,687.22 บาท โจทก์หักเงินจำนวน 14,456.25 บาท จากจำนวนเงิน 719,687.22 บาทชำระหนี้ค่าฤชาธรรมเนียมในคดีแพ่งที่โจทก์ฟ้องนายเกรียงไกรและนายบรรจบ แล้วนำเงินส่วนที่เหลือไปชำระดอกเบี้ยกับเงินต้นบางส่วนตามสัญญาขายลดเช็ค ซึ่งปรากฏว่า ณ วันที่ 15 มีนาคม 2533จำเลยที่ 1 ค้างชำระต้นเงินโจทก์อยู่ 572,234.32 บาทขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 572,234.32 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 17.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 15 มีนาคม2533 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 2 และนางทิพย์สุดา สุขารมณ์ค้ำประกันจำเลยที่ 1 ในการขายลดเช็คให้โจทก์ มีบุคคลภายนอกชำระหนี้แทนนางทิพย์สุดาจนครบถ้วนและโจทก์พอใจ อีกทั้งโจทก์ได้สละสิทธิในอันที่จะเรียกร้องเอาจากจำเลยที่ 2 แล้ว โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 2 ชำระหนี้ได้ จำนวนเงิน 14,456.25 บาทขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 400,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 17.5 ต่อปีนับแต่วันที่ 8 สิงหาคม 2526 ถึงวันที่ 1 มกราคม 2529 และร่วมกันชำระเงิน 200,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 17.5 ต่อปีนับแต่วันที่ 20 มกราคม 2527 ถึงวันที่ 1 มกราคม 2529 และนับต่อวันที่ 2 มกราคม 2529 เป็นต้นไปให้คิดดอกเบี้ยจากต้นเงิน600,000 บาทในอัตราร้อยละ 17 ต่อปี เป็นต้นไปจนถึง(ที่ถูกน่าจะเป็นและนับตั้งแต่วันที่ 15 มีนาคม 2533 เป็นต้นไป)วันที่ 15 มีนาคม 2533 คิดดอกเบี้ยได้จำนวนเท่าใดให้นำเงินจำนวน 705,230.97 บาท หักออก หากยังเหลืออยู่ให้นำไปหักออกจากต้นเงินจำนวน 600,000 บาท จากนั้นให้คิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 17 ต่อปี จากยอดเงินคงเหลือต่อไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลย ทั้ง สอง อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน545,082.64 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 17 ต่อปีนับแต่วันที่ 15 มีนาคม 2533 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์โดยให้น้ำยอดหนี้ที่โจทก์ได้รับชำระตามคำพิพากษาในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 17202/2527 และ 1950/2528 ของศาลชั้นต้นมาหักออก
จำเลย ทั้ง สอง ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “สำหรับปัญหาที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่าการชำระหนี้บางส่วนแทนนางทิพย์สุดา โดยบุคคลภายนอกและโจทก์สละสิทธิไม่ติดใจเรียกร้องในหนี้ส่วนที่ยังเหลือจากนางทิพย์สุดาอีก ซึ่งจำเลยทั้งสองอ้างว่าการสละสิทธิของโจทก์ดังกล่าวเป็นการปลดหนี้มีผลให้ผู้ค้ำประกันหลุดพ้น และนางทิพย์สุดาเป็นผู้ค้ำประกันที่ยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม ย่อมมีผลให้จำเลยทั้งสองหลุดพ้นจากหนี้ด้วยนั้น เห็นว่า ที่ผู้ค้ำประกันยอมผูกพันตนต่อเจ้าหนี้ยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมนั้น มีผลเป็นการสละสิทธิบางประการที่ผู้ค้ำประกันอาจยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้เจ้าหนี้ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยลักษณะค้ำประกันเท่านั้น หน้าที่ความรับผิดของลูกหนี้ชั้นต้นที่มีต่อเจ้าหนี้ก็ดี ต่อผู้ค้ำประกันในฐานะพิเศษดังกล่าวก็ดี ยังคงมีอยู่ตามเดิม เหตุหลุดพ้นจากหนี้ที่ค้ำประกันของผู้ค้ำประกันจะเป็นผลให้จำเลยที่ 1 ในฐานะลูกหนี้ชั้นต้นหลุดพ้นไปด้วยนั้นย่อมเป็นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 685 คือ จะหลุดพ้นเฉพาะในส่วนที่ผู้ค้ำประกันได้ชำระหนี้ ในส่วนหนี้ที่ยังเหลือนั้นจำเลยที่ 1 ในฐานะลูกหนี้ชั้นต้นยังคงต้องรับผิดต่อเจ้าหนี้ดังนี้ ที่บุคคลภายนอกชำระหนี้แทนนางทิพย์สุดาไปเท่าใดจึงถือได้ว่าเป็นการชำระหนี้โดยนางทิพย์สุดาผู้ค้ำประกันและมีผลให้จำเลยที่ 1 หลุดพ้นเพียงเท่าจำนวนนั้น หนี้ส่วนที่นางทิพย์สุดายังมิได้ชำระ แม้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้จะไม่ติดใจเรียกร้องจากนางทิพย์สุดา ไม่ว่าจะในรูปปลดหนี้หรือประนีประนอมยอมความหนี้ส่วนดังกล่าวยังคงเป็นส่วนที่ยังมิได้มีการชำระจำเลยที่ 1ในฐานะลูกหนี้ชั้นต้นยังคงต้องรับผิดต่อเจ้าหนี้ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาต้องตรงกันให้จำเลยที่ 1 รับผิดนั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น
แต่สำหรับจำเลยที่ 2 นั้น เป็นการค้ำประกันหนี้รายเดียวย่อมมีผลเป็นผู้ค้ำประกันร่วมกับนางทิพย์สุดา จึงมีความรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมกันกับนางทิพย์สุดาทั้งนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 682 วรรคสอง เมื่อนางทิพย์สุดาโดยบุคคลภายนอกได้ชำระหนี้ที่ตนค้ำประกันเต็มจำนวนตามที่โจทก์เรียกร้องแล้วดังปรากฏตามคำขอรับชำระหนี้เอกสารหมายล.1 และการ์ดบัญชีเอกสารหมาย จ.19 ตามรายการลงวันที่15 มีนาคม 2533 ทำให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้สละสิทธิต่อนางทิพย์สุดามีผลให้หนี้ระงับสำหรับนางทิพย์สุดา ย่อมมีผลให้หนี้สำหรับจำเลยที่ 2 ระงับไปด้วยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 340 และมาตรา 293 จำเลยที่ 2 จึงหลุดพ้นไปด้วยที่ศาลล่างทั้งสองยังคงให้จำเลยที่ 2 รับผิดนั้นไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาจำเลยที่ 2 ฟังขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 2 สำหรับจำเลยที่ 1ให้บังคับคดีตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share