แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1598/28เมื่อมีการจดทะเบียนรับบุตรบุญธรรมบิดามารดาโดยกำเนิดของบุตรบุญธรรมนั้นย่อมหมดอำนาจปกครองไปตั้งแต่วันเวลาที่เป็นบุตรบุญธรรมแล้วดังนั้นเมื่อผู้ร้องยกเด็กชายส. ให้เป็นบุตรบุญธรรมแก่ร้อยตรีบ. แล้วผู้ร้องกับอ. ซึ่งเป็นบิดามารดาโดยกำเนิดของเด็กชายส. ก็หมดอำนาจปกครองนับแต่วันเวลาที่เด็กชายส.เป็นบุตรบุญธรรมของร้อยตรีบ. และแม้ภายหลังร้อยตรีบ. ถึงแก่กรรมก็หาได้มีผลทำให้การรับบุตรบุญธรรมต้องเลิกหรือสิ้นสุดไปด้วยไม่เด็กชายส. ยังคงเป็นบุตรบุญธรรมของร้อยตรีบ. อยู่ผู้ร้องกับอ. หาได้กลับมีอำนาจปกครองขึ้นมาใหม่ได้ไม่อำนาจปกครองของบิดามารดาโดยกำเนิดจะกลับคืนมาก็ต่อเมื่อมีการเลิกรับบุตรบุญธรรมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1598/37เท่านั้นเมื่อเด็กชายส. บุตรผู้เยาว์ไม่มีผู้ปกครองและผู้ร้องกับอ. ก็มิใช่เป็นผู้ได้อำนาจปกครองเด็กชายส. กลับคืนมาเช่นนี้จึงมีความจำเป็นที่ผู้ร้องจะต้องใช้สิทธิทางศาลยื่นคำร้องขอให้ศาลตั้งผู้มีอำนาจปกครองเด็กชายส. ได้เมื่อผู้ร้องเป็นบิดาโดยกำเนิดและโดยชอบด้วยกฎหมายของเด็กชายส. บุตรผู้เยาว์ศาลฎีกาเห็นสมควรตั้งผู้ร้องให้เป็นผู้มีอำนาจปกครองเด็กชายส. บุตรผู้เยาว์
ย่อยาว
ผู้ร้องยื่นคำร้องขอว่า ผู้ร้องกับนางอุมาภรณ์ เหล่าเกมแก้วเป็นบิดามารดาของเด็กชายสุธพงษ์ เหล่าเกมแก้ว อายุประมาณ 8 ปีเมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2537 ร้อยตรีบุญเลิศ เหล่าเกมเแก้ว ได้จดทะเบียนรับเด็กชายสุธิพงษ์ เป็นบุตรบุญธรรม ต่อมาวันที่23 กันยายน 2538 ร้อยตรีบุญเลิศถึงแก่กรรมทำให้เด็กชายสุทธิพงษ์ไม่มีผู้ปกครองโดยชอบด้วยกฎหมาย ผู้ร้องในฐานะบิดาของเด็กชายสุธิพงษ์จึงขอให้ศาลมีคำสั่งตั้งให้ผู้ร้องเป็นผู้มีอำนาจปกครองเด็กชายสุธิพงษ์
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้อง
ผู้ร้องอุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาโดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหามีว่า ผู้ร้องมีความจำเป็นที่จะต้องใช้สิทธิทางศาลร้องขอให้ศาลตั้งผู้ร้องเป็นผู้มีอำนาจปกครองเด็กชายสุธิพงษ์หรือไม่ในข้อนี้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1598/28 บัญญัติว่า บุตรบุญธรรมย่อมมีฐานะอย่างเดียวกับบุตรชอบด้วยกฎหมายของผู้รับบุตรบุญธรรมนั้น แต่ไม่สูญสิทธิและหน้าที่ในครอบครัวที่ได้กำเนิดมา ในกรณีเช่นนี้ให้บิดามารดาโดยกำเนิดหมดอำนาจปกครองนับแต่วันเวลาที่เด็กเป็นบุตรบุญธรรมแล้ว จากบทบัญญัติดังกล่าวจะเห็นได้ว่า เมื่อมีการจดทะเบียนรับบุตรบุญธรรม บิดามารดาโดยกำเนิดของบุตรบุญธรรมนั้นย่อมหมดอำนาจปกครองไปตั้งแต่วันเวลาที่เป็นบุตรบุญธรรมแล้วดังนั้นเมื่อผู้ร้องยกเด็กชายสุธิพงษ์ให้เป็นบุตรบุญธรรม แก่ร้อยตรีบุญเลิศ แล้ว ผู้ร้องกับนางอุมาภรณ์ซึ่งเป็นบิดามารดาโดยกำเนิดของเด็กชายสุธิพงษ์ ก็หมดอำนาจปกครองนับแต่วันเวลาที่เด็กชายสุธิพงษ์เป็นบุตรบุญธรรมของร้อยตรีบุญเลิศและแม้ภายหลังร้อยตรีบุญเลิศถึงแก่กรรม การถึงแก่กรรมของร้อยตรีบุญเลิศผู้รับบุตรบุญธรรมก็หาได้มีผลทำให้การรับบุตรบุญธรรมต้องเลิกหรือสิ้นสุดไปด้วยไม่ เด็กชายสุธิพงษ์ยังคงเป็นบุตรบุญธรรมของร้อยตรีบุญเลิศอยู่ ผู้ร้องกับนางอุมาภรณ์ซึ่งเป็นบิดามารดาโดยกำเนิดของเด็กชายสุธิพงษ์บุตรผู้เยาว์หาได้กลับมีอำนาจปกครองขึ้นมาใหม่ได้ไม่ อำนาจปกครองของบิดามารดาโดยกำเนิดจะกลับคืนมาก็ต่อเมื่อมีการเลิกรับบุตรบุญธรรมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1598/37 เท่านั้น เมื่อข้อเท็จจริงในคดีนี้ฟังได้ว่าเด็กชายสุธิพงษ์บุตรผู้เยาว์ไม่มีผู้ปกครองและผู้ร้องกับนางอุมาภรณ์ก็มิใช่เป็นผู้ได้อำนาจปกครองเด็กชายสุธิพงษ์กลับคืนมาเช่นนี้ จึงมีความจำเป็นที่ผู้ร้องจะต้องใช้สิทธิทางศาลยื่นคำร้องขอให้ศาลตั้งผู้มีอำนาจปกครองเด็กชายสุธิพงษ์ได้ ทั้งเมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าผู้ร้องเป็นบิดาโดยกำเนิดและโดยชอบด้วยกฎหมายของเด็กชายสุธพงษ์บุตรผู้เยาว์ ศาลฎีกาเห็นสมควรตั้งให้ผู้ร้องให้เป็นผู้มีอำนาจปกครองเด็กชายสุธิพงษ์ บุตรผู้เยาว์
พิพากษากลับเป็นว่า ให้นายปัญญา หล่าแกแก้วผู้ร้อง เป็นผู้มีอำนาจปกครองเด็กชายสุธิพงษ เหล่าแกมแก้ว