แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
คดีนี้เป็นเรื่องรับขนของทางทะเลซึ่งขณะเกิดข้อพิพาทพระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเลพ.ศ.2534ยังไม่มีผลใช้บังคับทั้งไม่ปรากฏคลองจารีตประเพณีแห่งท้องถิ่นว่าด้วยรับขนของทางทะเลจึงต้องวินิจฉัยคดีโดยอาศัยเทียบกฎหมายใกล้เคียงอย่างยิ่งตามมาตรา4แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์อันได้แก่บทบัญญัติตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บรรพ3ลักษณะ8มาตรา627ซึ่งบัญญัติว่า”เมื่อของถึงตำบลที่กำหนดให้ส่งและผู้รับตราส่งได้เรียกให้ส่งมอบแล้วท่านว่าแต่นั้นไปสิทธิทั้งหลายของผู้ส่งอันเกิดแต่สัญญารับขนนั้นย่อมตกไปได้แก่ผู้รับตราส่ง”แต่ข้อเท็จจริงปรากฎว่าสินค้ารายพิพาทมิได้ไปถึงตำบลที่กำหนดให้ส่งเพราะถูกไฟไหม้เสียหายไปหมดก่อนระหว่างการขนส่งบริษัทย.ผู้รับโอนตราส่งจากธนาคารมาจึงไม่อาจเรียกร้องให้จำเลยที่5ซึ่งเป็นผู้ขนส่งทอดสุดท้ายให้ส่งมอบสินค้ารายพิพาทได้สิทธิทั้งหลายของผู้ส่งอันเกิดแต่สัญญารับขนไม่อาจตกไปได้แก่บริษัทย.บริษัทย. จึงไม่ใช่ผู้เสียหายและไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่5ให้รับผิดตามสัญญารับขนรายพิพาทได้ดังนั้นโจทก์ซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยและอ้างว่ารับช่วงสิทธิจากบริษัทย.ผู้เอาประกันภัยในสินค้ารายพิพาทย่อมไม่มีสิทธิฟ้องจำเลยที่5ด้วยเช่นกัน เมื่อจำเลยที่5ผู้ขนส่งทอดไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ตามฟ้องแล้วแม้จำเลยที่2และที่4ผู้ขนส่งหลายทอดเช่นกันซึ่งศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ร่วมรับผิดเป็นลูกหนี้ร่วมกับจำเลยที่5มิได้อุทธรณ์ฎีกาขึ้นมาศาลฎีกาก็มีอำนาจพิพากษาให้มีผลไปถึงจำเลยที่2และที่4ได้ด้วยเพราะเป็นเรื่องการชำระหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา245(1)ประกอบด้วยมาตรา247
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นนิติบุคคล มีนางสุวพร ทองธิวเป็นกรรมการลงลายมือชื่อและประทับตราสำคัญของบริษัทได้ โจทก์รับประกันภัยกระบอกอัดจาระบีจำนวน 4 แผง ของบริษัทย่งเพ้งอิมปอร์ต จำกัด ซึ่งซื้อจากบริษัทเอเลนเทค โอริออน เอบีประเทศสวีเดน ผู้ซื้อชำระราคาแล้วและเอาประกันภัยไว้เป็นเงิน52,690 บาท โครนาสวีเดน หรือ 223,010 บาท ผู้ขายจึงจัดส่งสินค้าโดยการขนส่งทางทะเล จากเมืองโกเด็นเบอร์ก ประเทศสวีเดนมายังกรุงเทพมหานคร มีจำเลยทั้งห้าร่วมขนส่งสินค้าหลายทอดและใช้เรือเนปจูนรูบี้ ทำการขนส่ง กล่าวคือ การขนส่งทอดแรกจากเมืองโกเด็นเบอร์ก ประเทศสวีเดน ไปยังเมืองฮัมบูร์กประเทศสหพันธรัฐเยอรมัน จำเลยที่ 1 ร่วมกับจำเลยที่ 2 รับขนสินค้าจากผู้ส่งหรือผู้ขายสินค้า โดยบรรทุกสินค้าลงเรือเนปจูนรูบี้ ครบถ้วนและอยู่ในสภาพเรียบร้อย จำเลยที่ 2โดยบริษัทเพนต้า ชิปปิ้ง เอบีผู้มีอำนาจลงนามแทนจำเลยที่ 2ลงลายมือชื่อในใบตราส่งผ่านตลอดซึ่งระบุชื่อผู้รับตราส่งว่าตามคำสั่งของธนาคารศรีนคร จำกัด กรุงเทพมหานคร และระบุว่าจะต้องแจ้งให้บริษัทย่งเพ้ง อิมปอร์ต จำกัด ทราบ การขนส่งทอดที่สองจากเมืองฮัมบูร์กไปยังเมืองบรีเมอร์แฮพเว่น ประเทศสหพันธรัฐเยอรมัน มีจำเลยที่ 3 ร่วมกับบริษัทคอน-แคร์ริเออร์ จีเอ็มบีเอช ซึ่งอยู่ในประเทศสหพันธรัฐเยอรมันเป็นผู้รับขนส่งจากผู้ขนส่งทอดแรกโดยใช้เรือเนปจูน รูบี้ และใช้ใบตราส่งชนิดขนร่วมระบุว่าบริษัทเพนต้า ชิปปิ้ง เอบี เป็นผู้ส่ง จำเลยที่ 1 เป็นผู้รับตราส่งและการปล่อยสินค้าให้ติดต่อโดยตรงกับจำเลยที่ 3 การขนส่งทอดที่สามจากเมืองบรีเมอร์แฮพเว่น ประเทศสหพันธรัฐเยอรมันมายังท่าเรือกรุงเทพ มีจำเลยที่ 4 เป็นผู้รับขนส่ง โดยสินค้าบรรจุในตู้คอนเทนเนอร์รวมกับสินค้าของผู้อื่น ขณะบรรทุกลงเรือสินค้ามีสภาพเรียบร้อย จำเลยที่ 4 เป็นผู้ออกใบตราส่งชนิดขนส่งร่วมระบุว่า บริษัทคอน-แคร์ริเออร์ จีเอ็มบีเอช เป็นผู้ส่งและจำเลยที่ 3 เป็นผู้รับตราส่ง ใช้เรือเนปจูน รูบี้ซึ่งเป็นของจำเลยที่ 5 ทำการขนส่ง เมื่อวันที่ 14 เมษายน 2534เรือเนปจูน รูบี้ไปถึงท่าเรือสิงคโปร์ ปรากฏว่าสินค้าถูกไฟไหม้บริษัทยูนิสเปค แอดจัสเตอร์ส แอนด์ เซอร์เวเยอร์ พีทีอีจำกัดเป็นบริษัทสำรวจความเสียหายอยู่ที่ประเทศสิงคโปร์ ทำการตรวจสอบสินค้าเมื่อวันที่ 17, 19, 20, 23, 25 และ 26 เมษายน 2534 และทำรายงานการตรวจสอบสินค้าว่าสินค้าถูกไฟไหม้ จำเลยทั้งห้าไม่สามารถส่งมอบสินค้าให้บริษัทย่งเพ้ง อิมปอร์ต จำกัด ได้ที่ปลายทางกรุงเทพมหานคร บริษัทย่งเพ้ง อิมปอร์ต จำกัด ได้เรียกร้องให้จำเลยทั้งห้าชดใช้ค่าเสียหาย แต่จำเลยทั้งห้าเพิกเฉยบริษัทย่งเพ้ง อิมปอร์ต จำกัด จึงเรียกร้องให้โจทก์ชำระค่าเสียหายในฐานะผู้รับประกันภัย โจทก์ชำระค่าเสียหายให้บริษัทย่งเพ้ง อิมปอร์ต จำกัด 223,010 บาท โจทก์จึงรับช่วงสิทธิมาเรียกร้องจากจำเลยทั้งห้า และโจทก์ขอคิดดอกเบี้ยจากจำเลยทั้งห้าในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่โจทก์ชำระเงินไปถึงวันฟ้องเป็นเวลา 10 เดือนเศษ เป็นเงินค่าดอกเบี้ย 13,937 บาทรวมเป็นเงินทั้งสิ้น 236,947 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งห้าชำระเงินจำนวน 236,947 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 223,010 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 1 และที่ 3 ให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเนื่องจากนางสุวพร ทองธิว ไม่ได้เป็นกรรมการผู้มีอำนาจ และโจทก์มิใช่ผู้รับประกันภัยสินค้าคดีโจทก์ขาดอายุความ เพราะฟ้องเมื่อเกิน 1 ปี นับแต่วันที่สินค้าควรส่งมอบให้แก่ผู้รับตราส่งจำเลยที่ 1 เป็นเพียงตัวแทนของผู้ขนส่งในการดำเนินการด้านธุรกิจเนื่องจากการรับขนของทางทะเลโดยได้รับบำเหน็จจากผู้รับขนส่งมิได้ประกอบกิจการรับขนส่งทางทะเลโดยลำพังหรือร่วมกับจำเลยที่ 2 และที่ 3 และไม่ได้เป็นผู้ขนส่งสินค้าพิพาท การระบุชื่อจำเลยที่ 3 ในใบตราส่งขนส่งร่วม เพื่อให้ผู้รับตราส่งทราบและสามารถติดต่อจำเลยที่ 3 เกี่ยวกับการมาถึงของเรือและการรับใบปล่อยสินค้าเหตุไฟไหม้บนเรือเนปจูน รูบี้ เกิดขึ้นวันที่1 เมษายน 2534 ขณะขนส่งทอดที่ 3 ซึ่งจำเลยที่ 4 เป็นผู้ออกใบตราส่งและดูแลรักษาสินค้าพร้อมทั้งเป็นผู้รับผิดชอบในความเสียหายโจทก์เรียกค่าเสียหายเกินกว่ากฎหมายกำหนด ตามมาตรา 58 แห่งพระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ. 2534 ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 4 ให้การว่า จำเลยที่ 4 เป็นผู้รับจ้างจากผู้ขนส่งทอดที่ 2 แต่มิได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการบรรจุ ตรวจนับและผนึกดวงตราปากตู้ เพราะเป็นการขนส่งแบบสินค้าบรรจุในตู้คอนเทนเนอร์ ระบบซีวาย/ซีวาย ผู้ขนส่งทอดที่ 2 ยินยอมให้จำเลยที่ 4 ว่าจ้างบุคคลอื่นทำการขนส่งช่วงได้ และจำเลยที่ 4ว่าจ้างจำเลยที่ 5 เป็นผู้ขนส่งช่วงในทอดที่ 3 เหตุอัคคีภัยเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2534 ขณะอยู่ในระหว่างการขนส่งของจำเลยที่ 5 โดยไม่ทราบถึงเหตุและมิใช่ความผิดหรือประมาทเลินเล่อของเรือหรือคนประจำเรือ จำเลยที่ 4 จึงไม่ต้องรับผิดโดยลำพังค่าเสียหายที่โจทก์มีสิทธิเรียกให้ชำระมีเพียง 40,000 บาทเนื่องจากกระบอกอัดจาระบีเสียหาย 4 แผง ถือว่าเป็น 4 หน่วยการขนส่ง และผู้รับขนส่งจะรับผิดชอบเพียง 10,000 บาท ต่อ 1 หน่วยการขนส่ง เรือเนปจูน รูบี้ เดินทางถึงประเทศสิงคโปร์วันที่ 14 เมษายน 2534 และแจ้งให้ผู้เกี่ยวข้องทราบถึงความเสียหายเมื่อเรือมาถึงทันที ปกติเรือสินค้าใช้เวลาเดินทางจากประเทศสิงคโปร์ถึงท่าเรือกรุงเทพภายใน 3 วัน ดังนั้น ผู้ขนส่งหรือจำเลยที่ 5 ควรจะส่งมอบสินค้าให้แก่บริษัทย่งเพ้ง อิมปอร์ตจำกัด ภายในวันที่ 17 เมษายน 2534 โจทก์ฟ้องคดีเกินกว่า 1 ปีนับแต่วันส่งมอบสินค้า คดีขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 5 ให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเนื่องจากนางสุวพร ทองธิว มิใช่กรรมการผู้มีอำนาจของโจทก์ ขณะยื่นฟ้องความเสียหายของสินค้าพิพาทเกิดขึ้นบนเรือเนปจูน รูบี้ เนื่องจากอัคคีภัยโดยไม่ทราบสาเหตุและไม่ใช่ความผิดหรือความประมาทเลินเล่อของเรือหรือคนประจำเรือ ผู้ขนส่งหรือจำเลยที่ 5 ไม่ต้องรับผิดในความเสียหาย และความเสียหายของสินค้าพิพาทคือกระบอกอัดจาระบีจำนวน 4 แผง ในการขนส่งสินค้าทางทะเลถือเป็น 4 หน่วยขนส่งและผู้ขนส่งหรือจำเลยที่ 5 จะรับผิดชอบก็เพียงหน่วยการขนส่งละ10,000 บาท รวมเป็นเงินไม่เกิน 40,000 บาท ตามพระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ. 2534 เรือเนปจูน รูบี้ยังเดินทางมาไม่ถึงท่าเรือปลายทางคือท่าเรือกรุงเทพที่เป็นตำบลที่กำหนดให้ส่งตามใบตราส่ง และสินค้าพิพาทเสียหายไปในระหว่างการขนส่งบริษัทย่งเพ้ง อิมปอร์ต จำกัด จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องให้ผู้ขนส่งหรือจำเลยที่ 5 ส่งมอบสินค้าให้ได้ สิทธิทั้งหลายของผู้ส่งอันเกิดแต่สัญญารับขนจึงไม่ตกไปได้แก่บริษัทย่งเพ้ง อิมปอร์ตจำกัด ซึ่งเป็นผู้รับตราส่ง โจทก์เป็นผู้รับประกันภัยจึงไม่อาจรับช่วงสิทธิมาฟ้องร้องได้ และคดีขาดอายุความเพราะผู้ขนส่งหรือจำเลยที่ 5 ควรจะส่งมอบสินค้าพิพาทให้บริษัทย่งเพ้งอิมปอร์ต จำกัด ผู้รับตราส่งภายในวันที่ 17 เมษายน 2534 แต่โจทก์ฟ้องคดีเกินกว่า 1 ปี นับแต่วันส่งมอบสินค้า ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ร่วมกันชำระเงินจำนวน 223,010 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันที่ 11 มิถุนายน 2534 จนกว่าจะชำระเสร็จ แต่ดอกเบี้ยถึงวันฟ้องไม่เกิน 13,937 บาท ให้ยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 1
จำเลยที่ 3 และที่ 5 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 3นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 5 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติได้ในชั้นนี้ว่าบริษัทย่งเพ้ง อิมปอร์ต จำกัด สั่งซื้อกระบอกอัดจาระบีจำนวน4 แผง จากบริษัทเอเลนเทค โอริออน เอบี ประเทศสวีเดนชำระราคาสินค้าโดยวิธีเปิดเล็ตเตอร์ออฟเครดิตกับธนาคารศรีนครจำกัดผู้ขายได้ส่งสินค้ารายพิพาทที่กรุงเทพมหานครโดยเรือเนปจูน รูบี้ซึ่งเป็นเรือของจำเลยที่ 5 โดยจำเลยที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 เป็นผู้ขนส่งหลายทอด จำเลยที่ 2 เป็นผู้ออกใบตราส่งเอกสารหมาย จ.8ระบุว่าบริษัทเอเลนเทค โอริออน เอบี เป็นผู้ส่งและธนาคารศรีนคร จำกัด เป็นผู้รับตราส่งต่อมาบริษัทย่งเพ้งอิมปอร์ต จำกัด ได้ชำระค่าสินค้าให้แก่ธนาคารศรีนคร จำกัดและได้รับโอนใบตราส่งมาแล้ว โจทก์เป็นผู้รับประกันภัยทางทะเลสินค้าดังกล่าวไว้จากบริษัทย่งเพ้ง อิมปอร์ต จำกัด ต่อมาระหว่างเรือเนปจูน รูบี้เดินทางจากประเทศศรีลังกาไปที่ประเทศสิงคโปร์ได้เกิดไฟไหม้บนเรือและทำให้สินค้าที่โจทก์รับประกันภัยไว้เสียหายโดยสิ้นเชิง โจทก์ได้ชำระค่าสินไหมทดแทนจำนวน 223,010 บาท ให้แก่บริษัทย่งเพ้ง อิมปอร์ต จำกัด ไปแล้วคดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 5 ข้อแรกว่า โจทก์มีสิทธิเรียกให้จำเลยที่ 5 รับผิดหรือไม่เห็นว่า ตามคำบรรยายฟ้องของโจทก์ปรากฏว่าสภาพแห่งข้อหาของโจทก์จำกัดความรับผิดของจำเลยที่ 5 อยู่ภายในขอบเขตของสัญญารับขนเท่านั้น หาได้ขยายไปถึงความรับผิดทางละเมิดด้วยไม่ ในปัญหาความรับผิดตามสัญญารับขนของจำเลยที่ 5 นี้ ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยพยานหลักฐานของโจทก์และจำเลยแล้วฟังว่าจำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนบริษัทย่งเพ้ง อิมปอร์ตจำกัด ในการทำสัญญาขนสินค้าพิพาทกับจำเลยที่ 5 ผู้ขนส่งรายนี้บริษัทย่งเพ้ง อิมปอร์ต จำกัด ซึ่งเป็นตัวการในการทำสัญญาขนส่งระหว่างจำเลยที่ 1 กับผู้ขนส่ง จึงเป็นผู้เสียหาย มีอำนาจฟ้องให้จำเลยที่ 5 ผู้ขนส่งรับผิดตามสัญญารับขนได้ เมื่อโจทก์ผู้รับประกันภัยได้ใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่บริษัทย่งเพ็ง อิมปอร์ตจำกัด ผู้เอาประกันภัยไปแล้วโจทก์ย่อมเข้ารับช่วงสิทธิของผู้เอาประกันภัยมาฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลยที่ 5 ได้ ฝ่ายจำเลยที่ 5 ฎีกาว่า บริษัทย่งเพ็ง อิมปอร์ต จำกัด ไม่ใช่เป็นคู่สัญญารับขนของทางทะเลกับจำเลยที่ 5 จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากผู้ขนส่ง โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องจำเลยที่ 5 เห็นว่าที่ศาลอุทธรณ์ฟังว่า จำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนของบริษัทย่งเพ้ง อิมปอร์ต จำกัด ในการทำสัญญาขนสินค้าพิพาทกับจำเลยที่ 5 นั้นเป็นการวินิจฉัยขัดแย้งกับข้อเท็จจริงที่โจทก์นำสืบว่าบริษัทย่งเพ้ง อิมปอร์ต จำกัด ได้ว่าจ้างให้จำเลยที่ 1ขนส่งสินค้ารายพิพาท อีกประการหนึ่ง ตามคำฟ้องโจทก์ก็ระบุว่าจำเลยที่ 1 ร่วมกับจำเลยที่ 2 รับขนสินค้าจากผู้ส่งหรือผู้ขายสินค้ารายพิพาทจากเมืองโกเด็นเบอร์ก ประเทศสวีเดน และตามคำเบิกความของนางสาววัชรินทร์ สุวรรณ พยานโจทก์เองก็รับว่าบริษัทเอเลนเทค โอริออน เอบี ผู้ขายสินค้ารายพิพาทได้ว่าจ้างจำเลยที่ 1 และที่ 2 ขนส่งสินค้าจากประเทศสวีเดนมายังกรุงเทพมหานคร ตามเอกสารหมาย จ.8 โดยมีจำเลยอื่นเป็นผู้ขนส่งหลายทอด ตามคำเบิกความของนางสาววัชรินทร์ประกอบกับใบตราส่งเอกสารหมาย จ.8 ฟังได้ว่า บริษัทเอเลนเทค โอริออน เอบีเป็นผู้ส่ง และจำเลยที่ 2 เป็นผู้ขนส่งสินค้ารายพิพาทโดยเรือเนปจูน รูบี้ซึ่งเป็นของจำเลยที่ 5 จำเลยที่ 5 จึงเป็นผู้ขนส่งหลายทอดด้วย และคดีไม่มีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยว่าบริษัทเอเลนเทค โอริออน เอบี จะเป็นตัวแทนของบริษัทย่งเพ้ง อิมปอร์ต จำกัด ในการทำสัญญารับขนกับผู้ขนส่งเนื่องจากเป็นการซื้อขายสินค้าในราคา F.O.B. ซึ่งผู้ซื้อจะต้องเป็นผู้ติดต่อเรือที่จะทำการขนส่งแล้วแจ้งให้ผู้ขายทราบ รวมทั้งจะต้องรับผิดชำระค่าระวางบรรทุกสินค้าเองอันจะเป็นเหตุทำให้ผู้ซื้อเป็นคู่สัญญารับขนเองหรือไม่ เพราะโจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องไว้ คดีนี้เป็นเรื่องรับขนของทางทะเล ซึ่งขณะเกิดข้อพิพาทพระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ. 2534 ยังไม่มีผลใช้บังคับทั้งไม่ปรากฏคลองจารีตประเพณีแห่งท้องถิ่นว่าด้วยรับขนของทางทะเล จึงต้องวินิจฉัยคดีโดยอาศัยเทียบกฎหมายใกล้เคียงอย่างยิ่ง ตามมาตรา 4 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ อันได้แก่บทบัญญัติตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 3 ลักษณะ 8มาตรา 627 ซึ่งบัญญัติว่า “เมื่อของถึงตำบลที่กำหนดให้ส่งและผู้รับตราส่งได้เรียกให้ส่งมอบแล้ว ท่านว่าแต่นั้นไปสิทธิทั้งหลายของผู้ส่งอันเกิดแต่สัญญารับขนนั้นย่อมตกไปได้แก่ผู้รับตราส่ง” แต่ข้อเท็จจริงปรากฏว่าสินค้ารายพิพาทมิได้ไปถึงตำบลที่กำหนดให้ส่ง เพราะถูกไฟไหม้เสียหายไปหมดก่อนระหว่างการขนส่งบริษัทย่งเพ้ง อิมปอร์ต จำกัด ผู้รับโอนตราส่งจากธนาคารศรีนครจำกัด มาจึงไม่อาจเรียกร้องให้จำเลยที่ 5 ซึ่งเป็นผู้ขนส่งทอดสุดท้ายให้ส่งมอบสินค้ารายพิพาทให้ สิทธิทั้งหลายของผู้ส่งอันเกิดแต่สัญญารับขนไม่อาจตกไปได้แก่บริษัทย่งเพ้ง อิมปอร์ตจำกัด บริษัทย่งเพ้ง อิมปอร์ต จำกัด จึงไม่ใช่ผู้เสียหายและไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 5 ให้รับผิดตามสัญญารับขนรายพิพาทได้ดังนั้น โจทก์ซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยและอ้างว่ารับช่วงสิทธิจากบริษัทย่งเพ้ง อิมปอร์ต จำกัด ผู้เอาประกันภัยในสินค้ารายพิพาทย่อมไม่มีสิทธิฟ้องจำเลยที่ 5 ด้วยเช่นกัน เมื่อวินิจฉัยดังนี้แล้วจึงไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยฎีกาของจำเลยที่ 5 ข้ออื่นอีก เพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลงไป และเมื่อจำเลยที่ 5 ผู้ขนส่งหลายทอดไม่ต้องรับผิดโจทก์ตามฟ้องแล้ว แม้จำเลยที่ 2 และที่ 4ผู้ขนส่งหลายทอดเช่นกันซึ่งศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ร่วมรับผิดเป็นลูกหนี้ร่วมกับจำเลยที่ 5 มิได้อุทธรณ์ฎีกาขึ้นมา ศาลฎีกาก็มีอำนาจพิพากษาให้มีผลไปถึงจำเลยที่ 2 และที่ 4 ได้ด้วย เพราะเป็นเรื่องการชำระหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 245(1) ประกอบด้วยมาตรา 247
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 ด้วยนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์