คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4700/2539

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

มาตรา102พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์พ.ศ.2518ให้สิทธิลูกจ้างซึ่งเป็นกรรมการสหภาพแรงงานลาเพื่อไปดำเนินกิจการสหภาพแรงงานที่ทางราชการกำหนดขึ้นเท่านั้นส่วนการประชุมที่เป็นเพียงกิจกรรมที่ผู้คัดค้านอาจเลือกไปร่วมหรือไม่ก็ได้ผู้ร้องมีสิทธิไม่อนุมัติเมื่อผู้คัดค้านไม่ได้รับอนุมัติใบลาแต่หยุดงานไปถือว่าเป็นการจงใจขัดคำสั่งของผู้ร้องและละทิ้งหน้าที่อีกทั้งก่อนหน้านั้นผู้คัดค้านเคยถูกผู้ร้องเตือนเป็นหนังสือในการลางานลักษณะเดียวกันมาก่อนแสดงว่าผู้ร้องไม่อาจปกครองดูแลผู้คัดค้านในการทำงานตามหน้าที่ได้สมความมุ่งหมายพฤติการณ์ดังกล่าวมีเหตุให้เลิกจ้างได้

ย่อยาว

ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า ผู้คัดค้านเป็นลูกจ้างของผู้ร้องและเป็นกรรมการลูกจ้าง มีตำแหน่งเป็นประธานสหภาพแรงงานของผู้ร้อง ผู้คัดค้านยื่นใบลากิจหลายครั้งอ้างว่าลากิจไปเพื่อดำเนินการเกี่ยวกับกิจกรรมของสหภาพแรงงานของผู้ร้อง ซึ่งไม่เป็นความจริงเป็นการประพฤติผิดข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างและไม่ได้เป็นไปตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518มาตรา 102 ผู้ร้องพิจารณาแล้วจึงไม่อนุญาตให้ลากิจ แต่ผู้คัดค้านยังฝ่าฝืนและขาดงานไป การกระทำดังกล่าวเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับของผู้ร้องในเรื่องการลาและมีโทษทางวินัยตามระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของผู้ร้องและตั้งแต่เดือนมกราคม 2538 ถึงเดือนตุลาคม 2538 ผู้คัดค้านขอลากิจถึง 66 วัน ลาป่วย 26 วัน รวมวันลาทั้งสิ้น 92 วัน จากวันทำงานทั้งหมด 232 วัน และก่อนเหตุคดีนี้ผู้ร้องได้รับอนุญาตจากศาลให้ตักเตือนผู้คัดค้านเป็นหนังสือแล้ว แต่ผู้คัดค้านยังคงประพฤติเช่นเดิม จึงขอให้ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องเลิกจ้างผู้คัดค้านด้วย
ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านว่า การลากิจของผู้คัดค้านเป็นการลาไปเพื่อดำเนินกิจกรรมของสหภาพแรงงานและเข้าประชุมตามที่ทางราชการกำหนด การลาบางครั้งผู้ร้องก็อนุมัติให้ลาได้และจ่ายค่าจ้างให้แล้ว ส่วนที่ผู้ร้องไม่อนุมัติให้ลาผู้คัดค้านก็ยื่นใบลาถูกต้องตามระเบียบข้อบังคับ ทั้งมีเอกสารของทางราชการแนบประกอบด้วย ซึ่งเป็นไปตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างและพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 102 โดยไม่จำต้องรอให้ผู้ร้องอนุมัติให้ลาเสียก่อน การหยุดงานขอผู้คัดค้านจึงไม่เป็นการขาดงานหรือละทิ้งหน้าที่ แต่เป็นการลาที่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ยกคำร้อง
ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้วมีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องเลิกจ้างผู้คัดค้านได้
ผู้คัดค้านอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “มีปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของผู้คัดค้านว่า ผู้คัดค้านมีสิทธิลาเพื่อประกอบกิจการเกี่ยวกับสหภาพแรงงานตามบันทึกข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง และพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 102 หรือไม่ พิเคราะห์แล้วบันทึกข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างข้อ 7 ระบุว่า ในกรณีที่กรรมการสหภาพแรงงาน สมาชิกสหภาพแรงงานฯ ลาไปเพื่ออบรมสัมมนาหรือเพื่อดำเนินการเกี่ยวกับสหภาพแรงงานฯ บริษัทอนุมัติให้ลาได้โดยมีหนังสือทางราชการมาแสดงให้บริษัทฯ ทราบทุกครั้งโดยยึดถือตามมาตรา 102 ของพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 และพระราชบัญญัติ แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 102 บัญญัติว่าลูกจ้างซึ่งเป็นกรรมการสหภาพแรงงานมีสิทธิลาเพื่อไปดำเนินกิจการสหภาพแรงงานในฐานะผู้แทนลูกจ้างในการเจรจา การไกล่เกลี่ยและการชี้ขาดข้อพิพาทแรงงานและมีสิทธิลาเพื่อไปประชุมตามที่ทางราชการกำหนดได้ ทั้งนี้ให้ลูกจ้างดังกล่าวแจ้งให้นายจ้างทราบล่วงหน้าถึงเหตุที่ลาโดยชัดแจ้ง พร้อมทั้งแสดงหลักฐานที่เกี่ยวข้องถ้ามี และให้ถือว่าวันลากของลูกจ้างนั้นเป็นวันทำงาน เห็นว่ามาตรา 102 อยู่ในหมวด 7 ว่าด้วยสหภาพแรงงาน ข้อความตอนต้นของมาตราดังกล่าวให้สิทธิลูกจ้างซึ่งเป็นกรรมการสหภาพแรงงานลาเพื่อไปดำเนินกิจการสหภาพแรงงาน ฉะนั้นข้อความในตอนต่อมาที่ว่ามีสิทธิไปร่วมประชุมตามที่ทางราชการกำหนดได้ จึงต้องหมายถึงการไปร่วมประชุมในเรื่องที่เกี่ยวกับสหภาพแรงงานที่ทางราชการกำหนดขึ้นเท่านั้น ย่อมไม่หมายถึงการไปร่วมประชุมทางราชการในเรื่องใด ๆ โดยไม่มีขอบเขตจำกัด มิฉะนั้นลูกจ้างซึ่งเป็นกรรมการสหภาพแรงงานก็จะอ้างสิทธิไปร่วมประชุมในเรื่องที่ทางราชการกำหนดได้ทุกเรื่อง หากกฎหมายประสงค์จะให้ลูกจ้างไปประชุมในเรื่องอื่น ๆ ก็ต้องบัญญัติไว้ในหมวดอื่นหรือมาตราอื่นที่ไม่เกี่ยวกับเรื่องสหภาพแรงงาน ที่ผู้คัดค้านอ้างว่า เมื่อการลาไปดำเนินกิจการสหภาพแรงงานในฐานะผู้แทนลูกจ้างในการเจรจาการไกล่เกลี่ย และการชี้ขาด ข้อพิพาทแรงงานมีสิทธิไปร่วมประชุมตามที่ทางราชการกำหนด แม้จะเป็นความจำเป็นก็ต้องดำเนินการเป็นส่วนตัว จะอ้างสิทธิตามมาตรา 102 เพื่อไปประชุมโดยไม่ถือเป็นวันลา ส่วนตามเอกสารหมาย ร.5 ประธานคณะกรรมการจัดงานวันแรงงานแห่งชาติมีหนังสือแจ้งกรมสวัสดิการและคุ้มครอบแรงงานขอให้อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานมีหนังสือขออนุญาตการลาให้แก่ผู้คัดค้านไปร่วมเตรียมการต่าง ๆ สำหรับการจัดงานวันแรงงานแห่งชาติโดยไม่ถือเป็นวันลาและได้รับค่าจ้างตามปกติแต่ผู้คัดค้านขอลาไปตั้งแต่วันที่ 23 มีนาคมถึงวันที่ 30 เมษายน2538 รวม 27 วันโดยกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานแจ้งว่ามีการประชุมเป็นครั้งคราวซึ่งเป็นกิจกรรมที่ผู้คัดค้านอาจเลือกไปร่วมหรือไม่ก็ได้ การที่ผู้คัดค้านลาไปในลักษณะเช่นนี้ย่อมทำให้กิจการของผู้ร้องชะงักติดขัดได้ ผู้ร้องมีสิทธิไม่อนุมัติกรณีคดีนี้ผู้คัดค้านไม่ได้รับอนุมัติใบลาแล้วหยุดงานไปจึงถือว่าเป็นการจงใจขัดคำสั่งของผู้ร้องและละทิ้งหน้าที่ตามระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานทั้งปรากฏว่าก่อนหน้าที่ผู้คัดค้านเคยถูกผู้ร้องเตือนเป็นหนังสือในการลางานลักษณะเดียวกันมาก่อนแสดงว่าผู้ร้องไม่อาจปกครองดูแลผู้คัดค้านให้ทำงานตามหน้าที่ได้สมความมุ่งหมายพฤติการณ์ดังกล่าวของผู้คัดค้านมีเหตุสมควรอนุญาตให้ผู้ร้องเลิกจ้างผู้คัดค้านได้ตามคำร้อง ที่ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งอนุญาตให้เลิกจ้างผู้คัดค้านชอบแล้ว อุทธรณ์ของผู้คัดค้านฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share