คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9678/2539

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยได้ตกลงขายที่ดินพิพาทแก่โจทก์และได้มอบโฉนดที่ดินพิพาทให้โจทก์ยึดถือไว้โดยจำเลยได้รับเงินมัดจำของโจทก์ไปแล้วจำนวน15,000บาทและจำเลยจะไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทแก่โจทก์พร้อมทั้งรับเงินค่าที่ดินส่วนที่เหลือเมื่อจำเลยรังวัดแบ่งแยกที่ดินเสร็จแล้วข้อตกลงระหว่างโจทก์กับจำเลยจึงเป็นเพียงสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทดังนั้นถึงแม้ตามสัญญาซื้อขายจะมิได้ระบุรายละเอียดว่าสัญญาทำขึ้นระหว่างใครกับใครที่ดินโฉนดเลขที่เท่าใดเนื้อที่และราคาเท่าใดชำระราคาหรือวางมัดจำกันแล้วหรือไม่เพียงใดส่วนที่เหลือจะชำระกันอย่างไรไม่มีรายละเอียดที่จะบังคับกันได้ตามเอกสารดังกล่าวก็ตามแต่เมื่อจำเลยตกลงจะขายที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์และโจทก์ได้วางมัดจำให้แก่จำเลยแล้วจำเลยไม่ยินยอมขายที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ตามสัญญาโจทก์จึงมีสิทธิฟ้องบังคับให้จำเลยโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา456กรณีไม่มีเหตุที่โจทก์จะต้องคืนโฉนดที่ดินพิพาทแก่จำเลย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยตกลงจะขายที่ดินโฉนดเลขที่ 4620 เฉพาะส่วนของจำเลยซึ่งมีกรรมสิทธิ์อยู่ 1 ไร่ 1 งาน 34 ตารางวา ให้โจทก์และนางสาวอัจฉรา ไพสิฐเกรียงไกร ในราคา 130,000 บาท จำเลยได้รับเงินมัดจำจากโจทก์และนางสาวอัจฉราในวันทำสัญญาจะซื้อจะขายเป็นเงิน 30,000 บาท โดยจำเลยลงลายมือชื่อในสัญญาจะซื้อจะขายและแผนที่ที่ดินที่จะขายให้แก่โจทก์และนางสาวอัจฉราพร้อมลงลายมือชื่อยืนยันการขายที่ดินดังกล่าวไว้ ต่อมาจำเลยโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินในส่วนของนางสาวอัจฉราให้แก่นางสาวอัจฉราไปแล้ว2 งาน 67 ตารางวายังคงเหลือส่วนของโจทก์อีก 2 งาน 67 ตารางวาซึ่งโจทก์จะต้องชำระค่าที่ดินที่เหลืออีก 50,000 บาท โดยจำเลยจะโอนกรรมสิทธิ์ให้โจทก์เมื่อมีการรังวัดแบ่งแยกกรรมสิทธิ์ในที่ดินออกเป็นสัดส่วนและรับเงินในส่วนที่เหลือต่อไป นับแต่จำเลยรับเงินมัดจำไปจากโจทก์แล้วจำเลยไม่สามารถแบ่งแยกที่ดินออกเป็นสัดส่วนได้เนื่องจากที่ดินติดจำนองแก่บุคคลอื่น ต่อมาจำเลยได้ไถ่ถอนจำนองแต่โจทก์เป็นผู้ถือโฉนดที่ดินแปลงดังกล่าวอยู่จึงสอบถามจำเลยขอให้โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้โจทก์พร้อมกับให้จำเลยรับเงินส่วนที่เหลือ จำเลยปฏิเสธว่าไม่เคยขายที่ดินและรับเงินมัดจำจากโจทก์แต่อย่างใด ขอให้บังคับจำเลยไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินเฉพาะส่วนของจำเลยเนื้อที่ 2 งาน 67 ตารางวาตามโฉนดที่ดินเลขที่ 4620 เลขที่ดิน 203 ตำบลบางคูเวียง(บางคูเวียงฝั่งเหนือ) อำเภอบางกรวย (บางใหญ่) จังหวัดนนทบุรีให้โจทก์ กับให้จำเลยรับเงินค่าที่ดินส่วนที่เหลือจำนวน50,000 บาท ไปจากโจทก์ หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย
จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า จำเลยไม่เคยตกลงขายที่ดินเฉพาะส่วนให้แก่โจทก์ สัญญาจะซื้อจะขายท้ายคำฟ้องไม่มีผลบังคับเพราะเอกสารดังกล่าวไม่ได้ระบุว่าสัญญาฉบับนี้ทำขึ้นเมื่อวันที่ เดือน ปีอะไร ทำที่ไหน มีใครเป็นผู้ขายที่ดินโฉนดเลขที่อะไรเลขที่ดินเท่าใด ตั้งอยู่ตำบล อำเภอ จังหวัดไหนจำนวนเนื้อที่เท่าใดในราคาเท่าใด มีใครเป็นผู้ซื้อ และผู้ซื้อได้วางเงินมัดจำบางส่วนเป็นเงินเท่าใด ยังคงค้างชำระเงินแก่ผู้ขายอีกจำนวนเท่าใดผู้ขายจะโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินให้แก่ผู้ซื้อเมื่อใด ค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนโอนมีใครเป็นผู้ชำระ อันเป็นข้อสาระสำคัญของสัญญาจะซื้อจะขายที่ดิน แผนที่ที่ดินท้ายฟ้องก็รับฟังไม่ได้ว่ามีใครเป็นผู้ขายที่ดินโฉนดเลขที่อะไร ให้ใครในราคาเท่าใดและจะโอนกรรมสิทธิ์กันเมื่อใดจึงไม่มีผลบังคับจำเลยไม่เคยลงลายมือชื่อในช่องผู้ขายในสัญญาจะซื้อจะขายท้ายคำฟ้องให้โจทก์ และไม่เคยลงลายมือชื่อยืนยันการขายที่ดินตามแผนที่ให้ไว้แก่โจทก์ ลายมือชื่อในเอกสารทั้งสองแห่งนี้ไม่ใช่ลายมือชื่อของจำเลย เอกสารดังกล่าวจึงเป็นเอกสารปลอมจำเลยไม่เคยรับเงินมัดจำ 15,000 บาท ไปจากโจทก์และจำเลยไม่เคยสัญญาว่าเมื่อมีการรังวัดแบ่งแยกที่ดินออกเป็นสัดส่วนแล้วจะโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินเฉพาะส่วนของจำเลยให้แก่โจทก์ จำเลยยอมรับว่าเมื่อวันที่ 22 เมษายน 2526 จำเลยขายที่ดินโฉนดเลขที่ 4620 ตำบลบางคูเวียง (บางคูเวียงฝั่งเหนือ)อำเภอบางกรวย (บางใหญ่) จังหวัดนนทบุรี จำนวนเนื้อที่ 2 งาน67 ตารางวา ให้แก่นางสาวอัจฉราาจริง นางสาวอัจฉราเป็นผู้ยึดถือต้นฉบับโฉนดที่ดินแปลงดังกล่าวไว้และจำเลยยังคงถือกรรมสิทธิ์ที่ดินแปลงดังกล่าว คิดเป็นเนื้อที่ 2 งาน67 ตารางวาต่อมาวันที่ 3 มิถุนายน 2529 จำเลยมีความประสงค์ที่จะใช้เงินจึงกู้ยืมเงินจากนางสาวอัจฉราเป็นเงิน 41,745 บาทได้นำที่ดินแปลงดังกล่าวเฉพาะส่วนของจำเลยจำนองแก่นางสาวอัจฉราและส่งมอบโฉนดที่ดินให้แก่นางสาวอัจฉรายึดถือไว้หลังจากนั้นเมื่อวันที่ 15 เมษายน 2531 จำเลยได้ขอขึ้นเงินจำนองอีกเป็นจำนวน 17,255 บาท ต่อมาจำเลยมีความประสงค์จะขอไถ่ถอนจำนอง แต่นางสาวอัจฉราบ่ายเบี่ยงตลอดมา จำเลยจึงฟ้องนางสาวอัจฉราเป็นจำเลยเมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2535 ตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 846/2535 ศาลชั้นต้นพิพากษาตามยอมแล้วแต่เนื่องจากนางสาวอัจฉราและโจทก์ได้ร่วมกันฉ้อฉลจำเลยจำเลยจึงยังไม่สามารถจดทะเบียนไถ่ถอนจำนองที่ดินแปลงดังกล่าวได้จำเลยไม่เคยส่งมอบต้นฉบับโฉนดที่ดินให้โจทก์ยึดถือไว้ ต่อมาวันที่ 5 สิงหาคม 2534 จำเลยนำที่ดินแปลงดังกล่าวเฉพาะส่วนของจำเลยเนื้อที่ 2 งาน 67 ตารางวา ขายให้แก่ผู้มีชื้อในราคา667,500 บาท ผู้ซื้อชำระเงินบางส่วนให้จำเลยแล้ว และนัดโอนกรรมสิทธิ์ในวันที่ 5 สิงหาคม 2535 การที่โจทก์ยึดถือโฉนดที่ดินแปลงดังกล่าวไว้โดยไม่มีสิทธิ ทำให้จำเลยไม่สามารถจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินดังกล่าวให้แก่ผู้ซื้อได้ ทำให้จำเลยตกเป็นผู้ผิดนัดถูกผู้ซื้อปรับเป็นเงิน 200,000 บาท ขอให้ยกฟ้องและขอให้บังคับโจทก์ส่งมอบโฉนดที่ดินเลขที่ 4620 เลขที่ดิน203 ตำบลบางคูเวียง (บางคูเวียงฝั่งเหนือ) อำเภอบางกรวย (บางใหญา)จังหวัดนนทบุรี แก่จำเลยกับให้โจทก์ใช้เงินจำนวน 200,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า โจทก์มีสิทธิยึดถือโฉนดที่ดินพิพาทไว้ตามข้อตกลงในสัญญา โดยในสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินระหว่างโจทก์กับจำเลยท้ายคำฟ้อง จำเลยตกลงให้โจทก์เป็นผู้ถือโฉนดที่ดินไว้จนกว่าจำเลยจะปฏิบัติตามสัญญาไปจดทะเบียนโอนที่ดินให้โจทก์ค่าเสียหายที่จำเลยกล่าวอ้างมาในฟ้องแย้งนั้นไม่เป็นความจริงจำเลยจัดทำเอกสารสัญญาจะซื้อจะขายขึ้นมาใหม่กับบุคคลภายนอกเพื่อสร้างหลักฐานอันเป็นเท็จไว้ต่อสู้คดีกับโจทก์จำเลยทราบดีอยู่แล้วว่าทำสัญญาจะขายให้โจทก์ แต่จำเลยกลับไปทำสัญญาจะซื้อจะขายขึ้นในภายหลังอีกย่อมเป็นไปไม่ได้อีกทั้งต้นฉบับโฉนดที่ดินพิพาทก็ให้โจทก์เป็นผู้เก็บรักษาไว้หากบุคคลภายนอกผู้จะซื้อมีการตรวจสอบเอกสารต้นฉบับย่อมไม่ทำสัญญากับจำเลยอย่างแน่นอน แต่ถึงอย่างไรก็ตามหากจำเลยได้ทำสัญญาจะซื้อจะขายกับบุคคลภายนอกจริง จำเลยก็ไม่มีสิทธิที่จะเรียกร้องให้โจทก์ชดใช้ค่าเสียหายดังกล่าวได้เพราะเป็นความผิดของจำเลยเองความเสียหายใด ๆ ของจำเลยหากมีจริงก็ต้องเป็นผู้รับผิดชอบเองทั้งสิ้นโจทก์ไม่ต้องรับผิดชอบตามที่จำเลยกล่าวอ้าง ขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินเฉพาะส่วนเนื้อที่ 2 งาน 67 ตารางวา ตามโฉนดที่ดินเลขที่ 4620 ตำบลบางคูเวียง (บางคูเวียงฝั่งเหนือ) อำเภอบางกรวย(บางใหญ่) จังหวัดนนทบุรี ให้โจทก์ หากจำเลยไม่ไปให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยและให้จำเลยรับเงินค่าที่ดินจำนวน 50,000 บาท ไปจากโจทก์
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง ให้โจทก์คืนโฉนดที่ดินเลขที่ 4620 ตำบลบางคูเวียง (บางคูเวียงฝั่งเหนือ)อำเภอบางกรวย (บางใหญ่) จังหวัดนนทบุรี แก่จำเลย
โจทก์ฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 2 รับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันในชั้นนี้ฟังได้ในเบื้องต้นว่า จำเลยเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินโฉนดเลขที่ 4620 ตำบลบางคูเวียง (บางคูเวียงฝั่งเหนือ)อำเภอบางกรวย (บางใหญ่) จังหวัดนนทบุรี อยู่จำนวน 1 ไร่1 งาน 34 ตารางวา ปรากฏตามโฉนดที่ดินเอกสารหมาย จ.ล.1(หรือสำเนาโฉนดที่ดินเอกสารหมาย ล.8) เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2526จำเลยโอนขายที่ดินเฉพาะส่วนของจำเลยครึ่งหนึ่งจำนวน 2 งาน67 ตารางวา ให้แก่นางสาวอัจฉรา ไพสิฐเกรียงไกร(หรือไพสิทธิเกรียงไกร) ปรากฏตามสารบาญแก้ทะเบียนการให้มีกรรมสิทธิ์รวมด้านหลังโฉนดที่ดินเอกสารหมาย จ.6.1 ยังคงเหลือที่ดินส่วนที่เป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยอยู่จำนวน 2 งาน67 ตารางวา ซึ่งเป็นที่ดินพิพาทในคดีนี้ คดีมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยได้ทำสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทตามเอกสารหมาย จ.1 กับโจทก์และจำเลยได้รับเงินมัดจำจากโจทก์ไปแล้วหรือไม่ โจทก์มีตัวแทนโจทก์ นางสาวอัจฉราและนางแหวน ปิ่นแสง เบิกความตรงกันว่า ในชั้นแรกนางแหวนเป็นนายหน้าโดยจำเลยให้ช่วยบอกขายที่ดินของจำเลยจะให้ค่านายหน้าร้อยละ 5 ของราคาที่ดินที่จะขาย นางแหวนได้มาติดต่อขายที่ดินให้แก่นางสาวอัจฉราและโจทก์ และจำเลยกับนางแหวนได้พานางสาวอัจฉรากับโจทก์ไปดูที่ดินที่จำเลยจะขายรวมทั้งที่ดินพิพาทด้วย นางสาวอัจฉราและโจทก์ตกลงจะซื้อที่ดินของจำเลยทั้งหมดโดยแบ่งซื้อกันคนละครึ่ง คือคนละ 2 งาน67 ตารางวา จำเลยตกลงขายที่ดินทั้งหมดของจำเลยให้แก่นางสาวอัจฉราและโจทก์จำเลยเนื้อที่ 1 ไร่ 1 งาน34 ตารางวา ในราคา 130,000 บาท และได้มีการนัดไปทำสัญญาวางมัดจำกันที่บ้านนางสาวอัจฉราในวันที่ 10 เมษายน2526 ในวันนั้นโจทก์ไม่ที่บ้านนางสาวอัจฉราก่อน จำเลยยังไม่มา โจทก์จำเลยเป็นต้องไปธุระจึงกลับไปก่อน แต่ได้ฝากเงินจำนวน 15,000 บาท ไว้แก่นางสาวอัจฉราเพื่อวางมัดจำแก่จำเลย และเมื่อจำเลยกับนางแหวนมาที่บ้านนางสาวอัจฉราในวันนั้น นางสาวอัจฉราก็ได้นำเงินที่โจทก์ฝากไว้ดังกล่าวมอบให้จำเลยเพื่อวางมัดจำและนางสาวอัจฉราได้นำเงินของตนวางมัดจำแก่จำเลยด้วยจำนวน 15,000 บาท รวมเป็นเงินวางมัดจำไว้แก่จำเลยในวันนั้น 30,000 บาท จำเลยได้รับมัดจำจำนวนดังกล่าวไปแล้วต่อหน้านางแหวน ซึ่งข้อกล่าวอ้างดังกล่าวตามที่พยานโจทก์ทั้งสามปากเบิกความมาจำเลยได้นำสืบโต้แย้งว่า ก่อนวันที่ 22 เมษายน 2526 จำเลยไม่เคยรู้จักและไม่เคยเห็นหน้าโจทก์และนางสาวอัจฉรามาก่อน แต่จำเลยได้บอกนางแหวนให้นัดนางสาวอัจฉราไปพบจำเลยที่สำนักงานที่ดินแล้วได้ทำการขายและโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้แก่นางสาวอัจฉราในวันที่ได้เห็นกันครั้งแรกนั้น โดยจำเลยเบิกความว่าไม่เคยพาโจทก์และนางสาวอัจฉราไปดูที่ดินที่จะขายกันก่อนหน้านั้นเลย จากข้อนำสืบของจำเลยดังกล่าว เห็นว่าข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการซื้อขาและการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินตามที่จำเลยนำสืบมาเป็นการกระทำที่ผิดแผกแตกต่างไปจากบุคคลธรรมดาโดยทั่วไปจะพึงกระทำเพราะโดยปกติแล้วผู้ซื้อย่อมประสงค์ที่จะทราบว่าที่ดินที่จะซื้อมีอยู่จริงหรือไม่ และอยู่ที่ใด ทั้งจำเลยกับนางสาวอัจฉราไม่เคยรู้จักและไม่เคยเห็นกันมาก่อนไม่น่าที่บุคคลทั้งสองจะตกลงราคาและโอนขายกันในทันทีทันใดได้ ตัวนางสาวอัจฉราผู้ซื้อเองก็ได้เบิกความยืนยันว่าจำเลยได้พาไปดูที่ดินที่จะขาย จนกระทั่งได้มีการตกลงราคาและทำสัญญาซื้อขายที่ดินตามเอกสารหมาย จ.1และได้มีการวางมัดจำกันเมื่อได้พิจารณาสัญญาซื้อขายที่ดินเอกสารหมาย จ.1 ดังกล่าว ซึ่งมีลายมือชื่ออ่านได้ว่าเป็นชื่อจำเลยในฐานะผู้ขาย มีลายมือชื่ออ่านได้ว่าเป็นชื่อนางแหวนเป็นพยาน และมีลายมือชื่ออ่านได้ว่าเป็นชื่อจำเลยในรูปแผนที่ท้ายเอกสารหมาย จ.1 ระบุว่าเป็นผู้ขายที่จำเลยเบิกความว่า ลายมือชื่อผู้ขายดังกล่าวมิใช่ลายมือชื่อของจำเลยนั้น ศาลฎีกาพิจารณาลายมือชื่อของจำเลยที่ลงชื่อแต่งตั้งทนายความไว้ในใบแต่งทนายฉบับลงวันที่ 5 มกราคม 2536ซึ่งปรากฏอยู่ในสำนวนแล้วปรากฏว่ามีลักษณะเหมือนหรือคล้ายคลึงกับลายมือชื่อผู้ขายในสัญญาซื้อขายดังกล่าวและในรูปแผนที่ที่จำเลยเบิกความอ้างว่ามีลักษณะของตัวหนังสือไม่เหมือนกันกับลายมือชื่อของจำเลยด้วยเหตุผลหลายประการนั้น เห็นว่า ถึงแม้แต่จะเป็นลายมือชื่อของบุคคลคนเดียวกันก็จะให้มีลักษณะของตัวหนังสือเป็นแบบเดียวกันไม่ผิดเพี้ยนบ้างเลยนั้นย่อมเป็นไปไม่ได้นอกเสียจากประทับลายมือชื่อหรือลอกลายมือชื่อมาสำหรับลายมือชื่อผู้ขายในสัญญาซื้อขายและรูปแผนที่ในคดีนี้กับลายมือชื่อของจำเลยในใบแต่งทนายเมื่อดูตามสภาพรวมแล้วน่าเชื่อว่าเป็นลายมือชื่อของบุคคลคนเดียวกัน เมื่อนำมาประกอบคำเบิกความของพยานโจทก์ดังกล่าวข้างต้นแล้วฟังได้โดยสนิทใจว่าจำเลยเป็นผู้ลงลายมือชื่อในฐานะผู้ขาย ตามสัญญาซื้อขายเอกสารหมาย จ.1 และรูปแผนที่ท้ายสัญญาซื้อขายจริงดังที่โจทก์นำสืบมา นอกจากนั้นโจทก์ยังมีโฉนดที่ดินพิพาทไว้ในความครอบครองโดยโจทก์นำสืบว่า จำเลยเป็นผู้มอบโฉนดที่ดินพิพาทให้โจทก์ไว้เมื่อวันที่ 15 เมษายน 2531 ในวันที่จำเลยมาขอเพิ่มเงินจำนองจากนางสาวอัจฉรา เพื่อจำเลยจำนำเงินไปไถ่ถอนจำนองจากผู้รับจำนองคนอื่น ซึ่งก็เป็นวันเดียวกันกับที่ปรากฏในสารบาญจดทะเบียนท้ายโฉนดที่ดินพิพาทเอกสารหมาย จ.ล.1 ตามที่โจทก์นำสืบมา ซึ่งข้อนี้นางสาวอัจฉราก็ได้เบิกความสอดคล้องต้องกันกับโจทก์ว่า จำเลยขอเพิ่มเงินจำนวนแล้วนำโฉนดที่ดินพิพาทมอบให้โจทก์ ในชั้นที่จำเลยฟ้องไถ่ถอนจำนองจากนางสาวอัจฉรานางสาวอัจฉราก็ได้เบิกความว่า ได้ให้ทนายความของตนแจ้งให้จำเลยทราบว่าโฉนดที่ดินพิพาทมิได้อยู่ที่นางสาวอัจฉราแต่อยู่ที่โจทก์ จำเลยจึงยังไม่สามารถไถ่ถอนจำนองจากนางสาวอัจฉราได้จนถึงปัจจุบัน ที่จำเลยนำสืบอ้างเหตุว่าไม่ได้ขายที่ดินพิพาทให้โจทก์เพราะจะเก็บที่ดินพิพาทไว้อยู่อาศัยนั้นก็ไม่เป็นความจริง เพราะต่อมาจำเลยอ้างว่าได้นำที่ดินพิพาทไปขายให้แก่นายณรงค์ฤทธิ์ ปิ่นเย็น จากข้อเท็จจริงตามที่โจทก์จำเลยนำสืบมาดังที่ได้วินิจฉัยดังกล่าวข้างต้นเห็นว่า พยานโจทก์เบิกความสอดคล้องต้องกัน เชื่อได้ว่าจำเลยได้ตกลงขายที่ดินพิพาทแก่โจทก์โดยจำเลยได้รับเงินมัดจำของโจทก์ไปแล้วจำนวน 15,000 บาทและจำเลยจะไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทแก่โจทก์พร้อมทั้งรับเงินค่าที่ดินส่วนที่เหลือเมื่อจำเลยรังวัดแบ่งแยกที่ดินเสร็จแล้ว ข้อตกลงระหว่างโจทก์กับจำเลยจึงเป็นเพียงสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาท ดังนั้น ถึงแม้ตามสัญญาซื้อขายเอกสารหมายจ.1 จะมิได้ระบุรายละเอียดว่า สัญญาทำขึ้นระหว่างใครกับใครที่ดินโฉนดเลขที่เท่าใด เนื้อที่และราคาเท่าใดชำระราคาหรือวางมัดจำกันแล้วหรือไม่เพียงใด ส่วนที่เหลือจะชำระกันอย่างไร ไม่มีรายละเอียดที่จะบังคับกันได้ตามเอกสารดังกล่าวก็ตาม แต่เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยตกลงจะขายที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์และโจทก์ได้วางมัดจำให้แก่จำเลยแล้ว จำเลยไม่ยินยอมขายที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ตามสัญญา โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องบังคับให้จำเลยโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 456 กรณีไม่มีเหตุที่โจทก์จะต้องคืนโฉนดที่ดินพิพาทแก่จำเลย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายกฟ้องโจทก์ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา
พิพากษากลับ ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ยกฟ้องแย้งจำเลย

Share