คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5192/2533

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยเป็นเพียงผู้รับจ้างขนน้ำมันยางของกลาง แต่เจ้าพนักงานตรวจพบและจับจำเลยได้ขณะทำการขนน้ำมันยางในบริเวณที่อยู่ติดกับบริเวณที่มีการเจาะและใช้ไฟสุมเผาต้นยางเพื่อทำน้ำมันยาง ถือได้ว่าการกระทำของจำเลยเป็นการร่วมเก็บหาน้ำมันยางซึ่งเป็นของป่าหวงห้ามในป่าที่เกิดเหตุโดยไม่ได้รับอนุญาต

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองกับจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 277/2530 ของศาลชั้นต้นได้ร่วมกันกระทำผิดกฎหมายหลายกรรมต่างกัน กล่าวคือ ร่วมกันเข้าไปในป่าทองหลางในป่าห้วยขาแข้งตำบลคอกควาย อำเภอบ้านไร่ จังหวัดอุทัยธานี อันเป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าโดยไม่ได้รับอนุญาต และร่วมกันตัดกรีดเผาต้นยาง100 ต้น และเก็บหาน้ำมันยาง 2 ถัง ปริมาตร (ที่ถูกคือปริมาณ)319.5 กิโลกรัม อันเป็นของป่าหวงห้ามซึ่งอยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดังกล่าวโดยไม่ได้รับอนุญาต กับร่วมกันมีน้ำมันยางจำนวนดังกล่าวอันเป็นของป่าหวงห้าม เกินปริมาณที่รัฐมนตรีกำหนดให้มีไว้ได้ไม่เกิน 150 กิโลกรัม ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าพ.ศ. 2503 มาตรา 3, 23, 24, 42, 44, 47 ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 228 ลงวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2515 ข้อ 15, 16, 18 ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 201 ลงวันที่ 26 สิงหาคม 2515พระราชกฤษฎีกาขยายเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ป่าห้วยขวางในท้องที่ตำบลระบำ ตำบลป่าอ้อ อำเภอลานสัก ตำบลทองหลาง กิ่งอำเภอห้วยคตอำเภอบ้านไร่ และตำบลแก่นมะกรูด อำเภอบ้านไร่จังหวัดอุทัยธานี พ.ศ. 2529 ลงวันที่ 21 พฤษภาคม 2529พระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 มาตรา 4, 29, 29 ทวิ, 71 ทวิ, 74พระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2479 มาตรา 11พระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2518 มาตรา 5พระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2522 มาตรา 5, 9 ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 116 ลงวันที่ 10 เมษายน 2515 ข้อ 2ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91, 33 ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าพ.ศ. 2503 มาตรา 23, 24, 42, 44 ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 228 ลงวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2515 ข้อ 15, 16พระราชกฤษฎีกาขยายเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ป่าห้วยขาแข้งในท้องที่ตำบลระบำ ตำบลป่าอ้อ อำเภอลานสัก ตำบลทองหลางกิ่งอำเภอห้วยคต อำเภอบ้านไร่ และตำบลแก่นมะกรูดอำเภอบ้านไร่ จังหวัดอุทัยธานี พ.ศ. 2529 ลงวันที่21 พฤษภาคม 2529 พระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 มาตรา 4, 29,29 ทวิ, 71 ทวิ พระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2494มาตรา 11 พระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2518 มาตรา 5พระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2518 มาตรา 5พระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2522 มาตรา 5, 9 ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 116 ลงวันที่ 10 เมษายน 2515 ข้อ 2ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 ลงโทษฐานเข้าไปในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า โดยไม่ได้รับอนุญาต ปรับคนละ 1,000 บาท ฐานเผาทำลายต้นไม้ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2503 มาตรา 24, 44 ซึ่งเป็นบทหนัก จำคุกคนละ 1 ปี ปรับคนละ 15,000 บาท และฐานมีของป่าหวงห้ามเกินปริมาณที่รัฐมนตรีกำหนดไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตจำคุกคนละ6 เดือน ปรับคนละ 4,000 บาท รวม 3 กระทง จำคุกจำเลยคนละ1 ปี 6 เดือน ปรับคนละ 20,000 บาท จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมมีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามคงจำคุกคนละ1 ปี ปรับคนละ 15,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด2 ปี จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์ในความผิดฐานทำลายต้นไม้ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าและเก็บหาของป่าหวงห้ามในป่าโดยไม่ได้รับอนุญาต คงลงโทษฐานเข้าไปในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าโดยไม่ได้รับอนุญาตปรับคนละ1,000 บาท ฐานมีของป่าหวงห้ามเกินปริมาณที่รัฐมนตรีกำหนดโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุกคนละ 6 เดือน ปรับคนละ 4,000 บาท รวม2 กระทง จำคุกคนละ 6 เดือน ปรับคนละ 5,000 บาท ลดโทษให้หนึ่งในสาม คงจำคุกคนละ 4 เดือน ปรับคนละ 3,333.34 บาท นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว โจทก์มีนายทม พุ่มทองและนายพนม ดุลพักขิม พนักงานพิทักษ์ป่า ผู้จับจำเลยทั้งสองและนายเชวงศักดิ์ เกรียงไกรสุข กับพวก จำเลยในคดีอาญาหมายเลขจ.ที่ 277/2530 ของศาลชั้นต้นเป็นพยาน แต่ได้ความว่านายทมและนายพนมพยานโจทก์มิได้เห็นจำเลยทั้งสองตลอดจนนายเชวงศักดิ์และพวกของนายเชวงศักดิ์คนหนึ่งคนใดทำการเผาต้นยางในป่าที่เกิดเหตุนายทมและนายพนมได้แต่ไปพบและเห็นจำเลยทั้งสองขณะใช้ช้างลากเลื่อนบรรทุกน้ำมันยางของกลาง และพบนายเชวงศักดิ์กับพวกอยู่ในปางพักในป่าที่เกิดเหตุเท่านั้นพยานหลักฐานของโจทก์ที่ว่าจำเลยทั้งสองร่วมทำการเผาต้นยางในป่าที่เกิดเหตุจึงมีแต่คำรับสารภาพในชั้นจับกุมของจำเลยทั้งสองตามเอกสารหมาย จ.1 กับบันทึกคำให้การชั้นสอบสวนของนายเชวงศักดิ์กับพวก ตามเอกสารหมาย จ.8 ถึง จ.14 ที่ให้การพาดพิงว่าจำเลยทั้งสองร่วมทำการเผาต้นยางในป่าที่เกิดเหตุกับพวกตนซึ่งมีน้ำหนักน้อยเพราะเป็นคำซัดทอดของผู้ต้องหาว่ากระทำความผิดด้วยกัน ดังนั้น ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า พยานหลักฐานของโจทก์ฟังไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสองร่วมเผาต้นยางในป่าที่เกิดเหตุจึงชอบแล้วส่วนข้อหาความผิดฐานเก็บหาน้ำมันยางของป่าหวงห้ามโดยไม่ได้รับอนุญาตนั้น ศาลฎีกาเห็นว่าแม้จำเลยทั้งสองจะเป็นแต่เพียงผู้รับจ้างขนน้ำมันยางของกลางก็ตาม แต่เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าเจ้าพนักงานตรวจพบและจับจำเลยทั้งสองได้ขณะทำการขนน้ำมันยางในป่าที่เกิดเหตุ ทั้งบริเวณที่จำเลยทั้งสองถูกจับก็อยู่ติดกับบริเวณที่เจ้าพนักงานตรวจพบว่ามีการเก็บหาน้ำมันยาง คือบริเวณที่มีการเจาะและใช้ไฟสุมเผาต้นยางเพื่อทำน้ำมันยางเช่นนี้ ย่อมถือได้ว่าการกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นการร่วมเก็บหาน้ำมันยางของป่าหวงห้ามในป่าที่เกิดเหตุโดยไม่ได้รับอนุญาตที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์ในความผิดข้อหาเก็บหาของป่าหวงห้ามโดยไม่ได้รับอนุญาตไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา”
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดฐานเก็บหาของป่าหวงห้ามโดยไม่ได้รับอนุญาต ตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484มาตรา 29, 71 ทวิ พระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2494มาตรา 11 พระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2518 มาตรา 5พระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2522 มาตรา 5 อีกกระทงหนึ่งจำคุกคนละ 6 เดือน ปรับคนละ 6,000 บาท ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แล้ว คงจำคุกคนละ 4 เดือน ปรับคนละ 4,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนดคนละ 2 ปีนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share