คำสั่งคำร้องที่ 1806/2532

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ความว่า จำเลยฎีกา ศาลชั้นต้นสั่งว่า พิเคราะห์ฎีกาของจำเลยแล้วเป็นฎีกาในข้อเท็จจริงซึ่งศาลชั้นต้นลงโทษจำคุกจำเลยกระทงละไม่เกิน 1 ปี และศาลอุทธรณ์ยังคงลงโทษจำเลยไม่เกินกำหนดดังกล่าวจึงต้องห้ามฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 219ไม่รับฎีกาจำเลย
จำเลยเห็นว่า ฎีกาของจำเลยข้อ 1 และข้อ 2 เป็นปัญหาข้อกฎหมายว่าศาลอุทธรณ์ปรับบทลงโทษจำเลยผิดไปจากบทบัญญัติของกฎหมายโปรดมีคำสั่งให้รับฎีกาของจำเลยในข้อ 1 และข้อ 2 ด้วย
หมายเหตุ โจทก์ได้รับสำเนาคำร้องแล้ว (อันดับ 59)
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 มาตรา 34,41,81 ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 137,264,265,267,268,91,83,33 ฯลฯ การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรม จึงลงโทษจำเลยทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ฐานเป็นคนต่างด้าวอยู่ในราชอาณาจักรโดยไม่รับอนุญาตจำคุก 1 ปี ฐานปลอมและใช้เอกสารราชการปลอมใบแจ้งย้ายที่อยู่ลงโทษฐานใช้เอกสารราชการปลอม จำคุก 1 ปี ฐานปลอมและใช้เอกสารราชการปลอมหนังสือของสำนักงานเขตพญาไท ลงโทษฐานใช้เอกสารราชการปลอมหนังสือฯ จำคุก 1 ปี ฐานแจ้งความเท็จต่อเจ้าพนักงาน จำคุก 6เดือน จำเลยรับสารภาพ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุกฐานเป็นคนต่างด้าวอยู่ในราชอาณาจักรโดยไม่รับอนุญาต จำคุก 6 เดือน ฐานปลอมและใช้เอกสารราชการปลอมใบแจ้งที่อยู่ ลงโทษฐานใช้เอกสารราชการปลอมจำคุก 6 เดือน ฐานปลอมและใช้เอกสารราชการปลอมหนังสือของสำนักงานเขตพญาไท ลงโทษฐานใช้เอกสารราชการปลอมหนังสือฯ จำคุก 6 เดือนฐานแจ้งความเท็จต่อเจ้าพนักงาน จำคุก 3 เดือน เรียงกระทงลงโทษจำเลยแล้ว รวมจำคุก 1 ปี 9 เดือน ริบของกลาง
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ความผิดฐานใช้เอกสารราชการปลอมใบแจ้งย้ายที่อยู่ กับความผิดฐานแจ้งความเท็จต่อเจ้าพนักงานเป็นกรรมเดียวกัน ให้ลงโทษบทหนักฐานใช้เอกสารราชการปลอมบทเดียวรวมโทษจำคุกทุกกระทงหลังจากลดโทษเพราะรับสารภาพแล้ว คงจำคุก1 ปี 6 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา ศาลชั้นต้นมีคำสั่งดังกล่าว (อันดับ 55)
จำเลยจึงยื่นคำร้องนี้ (อันดับ 59)

คำสั่ง
พิเคราะห์แล้ว ฎีกาจำเลยที่ว่าการปลอมและใช้เอกสารราชการปลอมใบแจ้งที่อยู่กับการปลอมและใช้เอกสารราชการปลอมหนังสือของสำนักงานเขตพญาไทเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท นั้น เป็นปัญหาข้อกฎหมายแต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ จึงเป็นฎีกาที่ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 และไม่มีเหตุสมควรจะวินิจฉัย ที่ศาลชั้นต้นสั่งไม่รับฎีกาจำเลยชอบแล้ว ยกคำร้อง

Share