แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
แม้คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยแต่งตั้งขึ้นจะได้กำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินให้โจทก์โดยถือเอาบัญชีราคาประเมินทุนทรัพย์ในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมกรุงเทพมหานครพ.ศ.2531ถึง2534ของกรมที่ดินซึ่งเป็นช่วงเดียวกับที่พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนฯพ.ศ.2531ใช้บังคับตั้งแต่วันที่23พฤษภาคม2531เนื่องจากมีราคาสูงกว่าราคาของอสังหาริมทรัพย์ที่มีการตีราคาไว้เพื่อประโยชน์แก่การเสียภาษีบำรุงท้องที่ตามที่ได้บัญญัติไว้ในมาตรา9วรรคสี่พ.ศ.2530ซึ่งคณะกรรมการกำหนดราคาต้องถือปฏิบัติตามในขณะนั้นก็ตามแต่เมื่อโจทก์ฟ้องคดีนี้แล้วได้มีประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติฉบับที่44ข้อ1ยกเลิกความในมาตรา9วรรคสี่โดยให้การกำหนดเงินค่าทดแทนต้องคำนึงถึงราคาที่ซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดของอสังหาริมทรัพย์ที่จะต้องเวนคืนตามที่เป็นอยู่ในวันใช้บังคับพระราชกฤษฎีกาที่ออกตามมาตรา6สภาพและที่ตั้งของอสังหาริมทรัพย์นั้นเหตุและวัตถุประสงค์ของการเวนคืนดังที่ได้บัญญัติไว้ในมาตรา21(1)(4)และ(5)และในข้อ5แห่งประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติดังกล่าวก็ได้บัญญัติให้มีผลใช้บังคับแก่การฟ้องคดียังไม่เสร็จเด็ดขาดในวันที่ประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติฉบับนี้ใช้บังคับด้วยดังนั้นเมื่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยไม่วินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์หรือมีคำสั่งให้คณะกรรมการกำหนดราคาพิจารณาเงินค่าทดแทนใหม่ตามหลักเกณฑ์ของคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติดังกล่าวศาลย่อมมีอำนาจกำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินให้แก่โจทก์เพื่อความเป็นธรรมได้ พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนฯพ.ศ.2531กำหนดให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบบริหารงานของกระทรวงมหาดไทยจำเลยที่2เป็นผู้รักษาการตามพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวโดยมีอำนาจในการแต่งตั้งคณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นของอสังหาริมทรัพย์และมีอำนาจวินิจฉัยอุทธรณ์ของผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนในกรณีใดกรณีหนึ่งตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์พ.ศ.2530อันเป็นหน้าที่ต้องดำเนินการให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนฯพ.ศ.2531ย่อมมีความหมายว่าการดำเนินการให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวได้กระทำในฐานะของจำเลยที่2โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่2
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่197944 แขวงหนองบอน (พระโขนงฝั่งใต้) เขตพระโขนง กรุงเทพมหานครเนื้อที่ 2 ไร่ 1 งาน 42 ตารางวา จำเลยทั้งสองมีฐานะเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายเมื่อประมาณ พ.ศ. 2531 มีการออกพระราชกฤษฎีกา กำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่แขวงหนองบอน เขตพระโขนงกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2531 เพื่อประโยชน์สาธารณะในการป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมพื้นที่บริเวณด้านทิศตะวันออกของกรุงเทพมหานครปรากฎว่าที่ดินของโจทก์ถูกเวนคืนทั้งหมด จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าหน้าที่เวนคืนตามพระราชกฤษฎีกาได้กำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินของโจทก์ตารางวาละ 500 บาท เป็นเงิน 471,000 บาท การกำหนดเงินค่าทดแทนดังกล่าวไม่เหมาะสมและไม่เป็นธรรมแก่โจทก์ เพราะราคาซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดตารางวาละ 5,000 บาท ถึง 20,000 บาทและเป็นราคาที่ต่ำกว่าราคาที่ประเมินไว้เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมและค่าภาษีในการจดทะเบียนซื้อขายหรือทำนิติกรรมด้วย โดยกรมที่ดินประเมินราคาที่ดินของโจทก์ไว้เป็นเงินจำนวน 1,312,000 บาทวันที่ 25 มีนาคม 2534 โจทก์อุทธรณ์คัดค้านการกำหนดเงินค่าทดแทนของจำเลยที่ 1 ต่อรัฐมนตรีว่าการของจำเลยที่ 2 แต่รัฐมนตรีว่าการของจำเลยที่ 2 มิได้แจ้งผลการวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์แต่อย่างใดที่ดินโจทก์ราคาซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดตารางวาละ11,000 บาท คิดเป็นเงิน 10,362,000 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้เงินจำนวน 10,362,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองเพราะจำเลยทั้งสองไม่ใช่เจ้าหน้าที่เวนคืนอสังหาริมทรัพย์ ไม่มีอำนาจหน้าที่ในการเวนคืนที่ดินพิพาท เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2531ได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่แขวงหนองบอน เขตพระโขนง กรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2531 เพื่อประโยชน์สาธารณะในการป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมพื้นที่บริเวณด้านทิศตะวันออกของกรุงเทพมหานคร ต่อมาจำเลยที่ 2 ได้แต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อทำหน้าที่กำหนดราคาเบื้องต้นและจำนวนเงินค่าทดแทนอสังหาริมทรัพย์ที่จะเวนคืนให้แก่ผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทน และคณะกรรมการได้กำหนดค่าทดแทนโดยใช้บัญชีราคาประเมินทุนทรัพย์ในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม กรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2531ถึง 2534 ของกรมที่ดินและตามตำแหน่งที่ตั้งของที่ดินเป็นรายแปลงที่ดินของโจทก์อยู่ในโซน 48-เอ็น ราคาตารางวาละ 500 บาทการที่จำเลยกำหนดค่าทดแทนที่ดินให้โจทก์เป็นเงิน 471,000 บาทจึงชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรมแก่โจทก์และสังคมแล้ว โจทก์ฟ้องคดีเกิน1 ปี นับแต่วันพ้นกำหนด 60 วัน นับแต่วันได้อุทธรณ์ ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้น พิพากษายก ฟ้อง
โจทก์ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้เงินแก่โจทก์เพิ่มขึ้นอีก 1,413,000 บาท
จำเลย ทั้ง สอง ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรบฟังได้ว่า ที่ดินตามฟ้องโจทก์โฉนดเลขที่ 197944 แขวงหนองบอน (พระโขนงฝั่งใต้)เขตพระโขนง กรุงเทพมหานคร เนื้อที่ 2 ไร่ 1 งาน 42 ตารางวาได้ถูกเวนคืนทั้งหมดตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จำเวนคืนในท้องที่แขวงหนองบอน เขตพระโขนง กรุงเทพมหานครพ.ศ. 2531 เพื่อประโยชน์สาธารณะในการป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมพื้นที่บริเวณด้านทิศตะวันออกของกรุงเทพมหานคร จำเลยที่ 1ได้จ่ายเงินค่าทดแทนที่ดินดังกล่าวให้โจทก์ตารางวาละ 500 บาทรวมเป็นเงินทั้งสิ้น 471,000 บาท โดยอาศัยบัญชีราคาประเมินทุนทรัพย์ในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม กรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2531ถึง 2534 ของกรมที่ดิน และจำเลยที่ 1 ได้นำเงินค่าทดแทนดังกล่าวไปฝากไว้กับธนาคารออมสิน โจทก์ไม่ยอมรับเงินค่าทดแทนนั้นและได้ใช้สิทธิอุทธรณ์ แต่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยมิได้วินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ให้เสร็จสิ้นภายในหกสิบวัน โจทก์จึงฟ้องคดีนี้ภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองว่า เงินค่าทดแทนที่ดินที่จำเลยทั้งสองจ่ายให้แก่โจทก์ชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรมแก่โจทก์หรือไม่เห็นว่า แม้คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยแต่งตั้งขึ้นจะได้กำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินให้โจทก์โดยถือเอาบัญชีราคาประเมินทุนทรัพย์ในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม กรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2531 ถึง2534 ของกรมที่ดินซึ่งเป็นช่วงเดียวกับที่พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนฯ พ.ศ. 2531 ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 23พฤษภาคม 2531 เนื่องจากมีราคาสูงกว่าราคาของอสังหาริมทรัพย์ที่มีการตีราคาไว้เพื่อประโยชน์แก่การเสียภาษีบำรุงท้องที่ ตามที่ได้บัญญัติไว้ในมาตรา 9 วรรคสี่ และมาตรา 21(2)(3) แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 ซึ่งคณะกรรมการกำหนดราคาต้องถือปฏิบัติตามในขณะนั้น แต่เมื่อโจทก์ฟ้องคดีนี้แล้วได้มีประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติฉบับที่ 44 ข้อ 1 ยกเลิกความในมาตรา 9 วรรคสี่ โดยให้การกำหนดเงินค่าทดแทนต้องคำนึงถึงราคาที่ซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดของอสังหาริมทรัพย์ที่จะต้องเวนคืนตามที่เป็นอยู่ในวันใช้บังคับพระราชกฤษฎีกาที่ออกตามมาตรา 6 สภาพและที่ตั้งของอสังหาริมทรัพย์นั้นเหตุและวัตถุประสงค์ของการเวนคืน ดังที่ได้บัญญัติไว้ในมาตรา21(1)(4) และ (5) และข้อ 5 ก็ได้บัญญัติให้มีผลใช้บังคับแก่การฟ้องคดียังไม่เสร็จเด็ดขาดในวันที่ประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติฉบับนี้ใช้บังคับด้วย ดังนั้นเมื่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยไม่วินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์หรือมีคำสั่งให้คณะกรรมการกำหนดราคาพิจารณาเงินค่าทดแทนใหม่ตามหลักเกณฑ์ของคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติดังกล่าว ศาลย่อมมีอำนาจกำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินให้แก่โจทก์เพื่อความเป็นธรรมได้ ซึ่งการที่คณะกรรมการกำหนดราคาได้กำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินให้โจทก์ตารางวาละ 500 บาท โดยถือเอาบัญชีราคาประเมินทุนทรัพย์ในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม กรุงเทพมหานครพ.ศ. 2531 ถึง 2534 ของกรมที่ดินนี้ ย่อมมีราคาต่ำกว่าราคาซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดของที่ดินโจทก์ที่ต้องเวนคืนในวันที่พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวรคืนฯ พ.ศ. 2531 ใช้บังคับเพราะราคาประเมินทุนทรัพย์ในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมดังกล่าวเป็นราคาคงที่ไม่เปลี่ยนแปลง ไม่เหมือนกับราคาซื้อขายกันในท้องตลาดซึ่งอาจเปลี่ยนแปลงสูงขึ้นได้ตามภาวะเศรษฐกิจ คดีนี้ได้ความจากโจทก์ว่า ก่อนที่โจทก์จะซื้อที่ดินที่ถูกเวนคืนดังกล่าวจากนายเล็กสกุลพิพัฒน์ ในวันที่ 26 สิงหาคม 2529 นายเล็กได้รับโอนที่ดินนี้ชำระหนี้จำนองจากนางสาวสนิท คชเผือก โดยเจ้าพนักงานได้ประเมินราคาที่ดินเพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมตารางวาละประมาณ 1,392 บาทตามเอกสารหมาย จ.8 จำเลยทั้งสองไม่มีพยานหลักฐานมาสืบหักล้างให้เห็นเป็นอย่างอื่น พยานเอกสารที่โจทก์อ้างอิงมาจึงมีน้ำหนักเชื่อถือได้ เมื่อคำนึงถึงว่าใน พ.ศ. 2529 ที่ดินของโจทก์ที่ถูกเวนคืนมีราคาประเมินทุนทรัพย์ในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมตารางวาละ 1,392 บาท อันเป็นราคาก่อนวันที่พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนฯ พ.ศ. 2531 ใช้บังคับเกือบ 2 ปีเช่นนี้ ราคาซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดระหว่างพ.ศ. 2529 ถึง 2531 ย่อมสูงกว่าราคาประเมินของทางราชการที่คณะกรรมการกำหนดราคาพิจารณามา ที่ศาลอุทธรณ์กำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินของโจทก์ที่ถูกเวนคืนเพิ่มขึ้นตารางวาละ 1,500 บาท รวมทั้งแปลงเป็นเงินรวมทั้งสิ้น 1,413,000 บาท ศาลฎีกาเห็นว่าเป็นราคาใกล้เคียงกับราคาซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดในวันที่พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนฯ พ.ศ. 2531ใช้บังคับจึงเหมาะสมและเป็นธรรมแก่โจทก์แล้ว ส่วนที่จำเลยทั้งสองฎีกาต่อไปว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 เพราะจำเลยที่ 2 ไม่ใช่เจ้าหน้าที่เวนคืนหรือผู้ได้รับมอบหมายจากเจ้าหน้าที่ให้เป็นผู้จ่ายเงินทดแทนนั้น เห็นว่า พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนฯ พ.ศ. 2531 กำหนดให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบบริหารงานของกระทรวงมหาดไทยจำเลยที่ 2เป็นผู้รักษาการตามพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว โดยมีอำนาจในการแต่งตั้งคณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นของอสังหาริมทรัพย์ และมีอำนาจวินิจฉัยอุทธรณ์ของผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนในกรณีใดกรณีหนึ่งตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 อันเป็นหน้าที่ต้องดำเนินการให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนฯ พ.ศ. 2531 ย่อมมีความหมายว่ากระทำในฐานะของจำเลยที่ 2 โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2
พิพากษายืน