แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
คดีอาญาเรื่องนี้ครบกำหนดฎีกาในวันที่ 12 มิถุนายน 2542 แต่ในวันที่ 9 มิถุนายน 2542 ทนายจำเลยได้ยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นขอขยายระยะเวลาฎีกาออกไปอีก 30 วัน นับแต่วันที่ครบกำหนดยื่นฎีกา ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตตามขอระยะเวลาที่ขอขยายออกไปจึงให้เริ่มนับแต่วันที่ครบกำหนดฎีกาคือวันที่ 12 มิถุนายน 2542 โดยเริ่มนับ 1 ตั้งแต่วันที่ 13 มิถุนายน 2542 แม้ว่าวันดังกล่าวจะเป็นวันหยุดราชการก็ตาม ดังนั้น จำเลยจึงมีอำนาจฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ได้ภายในวันที่ 12 กรกฎาคม 2542 แต่ปรากฏว่าจำเลยเพิ่งมายื่นคำร้องขอให้รับรองฎีกาและยื่นฎีกาต่อศาลชั้นต้นเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2542 ซึ่งเป็นเวลาภายหลังจากที่พ้นกำหนดระยะเวลาฎีกาแล้ว แม้ศาลชั้นต้นจะสั่งรับฎีกาของจำเลยไว้ ก็เป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264, 265, 266, 268, 341, 342 ริบเอกสารปลอมของกลาง
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 265, 268 การใช้เอกสารปลอมเกิดจากการปลอมเอกสาร ลงโทษข้อหาใช้เอกสารปลอมแต่เพียงกระทงเดียว ตามมาตรา 268 วรรคท้าย กับมีความผิดฐานฉ้อโกงตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 342 เป็นกรรมเดียวกันผิดกฎหมายหลายบท ลงโทษตามมาตรา 268 วรรคท้าย ประกอบด้วยมาตรา 265 ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามมาตรา 90 จำคุก 3 ปี จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมและสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 2 ปี ริบเอกสารปลอมของกลางยกฟ้องจำเลยที่ 2
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน
จำเลยที่ 1 ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้ศาลชั้นต้นได้อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3ให้โจทก์และจำเลยที่ 1 ฟังเมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2542 คู่ความย่อมมีอำนาจฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 ได้ภายในหนึ่งเดือน นับแต่วันอ่านคำพิพากษาดังกล่าวให้คู่ความฟัง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 216ซึ่งจะครบกำหนดฎีกาในวันที่ 12 มิถุนายน 2542 ต่อมาวันที่ 9 มิถุนายน 2542 ทนายจำเลยที่ 1 ได้ยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นขอขยายระยะเวลาฎีกาออกไปอีก 30 วัน นับแต่วันที่ครบกำหนดยื่นฎีกา ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตตามขอ ระยะเวลาที่ขอขยายออกไปจึงให้เริ่มนับแต่วันที่ครบกำหนดฎีกาคือวันที่ 12 มิถุนายน 2542 โดยเริ่มนับ 1 ตั้งแต่วันที่ 13 มิถุนายน 2542 แม้ว่าวันดังกล่าวจะเป็นวันหยุดราชการ ดังนั้น จำเลยที่ 1 จึงมีอำนาจฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 ได้ภายในวันที่ 12 กรกฎาคม 2542 แต่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 เพิ่งมายื่นคำร้องขอให้รับรองฎีกาและยื่นฎีกาต่อศาลชั้นต้นเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2542 ซึ่งเป็นเวลาภายหลังจากที่พ้นกำหนดระยะเวลาฎีกาแล้ว แม้ศาลชั้นต้นจะสั่งรับฎีกาของจำเลยที่ 1 ไว้ ก็เป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
พิพากษายกฎีกาของจำเลยที่ 1