แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การที่โจทก์ทั้งสามฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยกับผู้มีชื่อเป็นการฟ้องเรียกให้ได้ที่ดินกลับคืนมาเป็นทรัพย์มรดกเพื่อประโยชน์แก่โจทก์ทั้งสามคดีของโจทก์ทั้งสามจึงเป็นคดีที่มีคำขอปลดเปลื้องทุกข์อันอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้เป็นคดีมีทุนทรัพย์ตามจำนวนราคาที่ดินพิพาทนั้นปรากฎว่าจำเลยขายที่ดินพิพาทให้แก่ผู้มีชื่อไปแล้วโจทก์ทั้งสามขอให้บังคับจำเลยชำระเงินค่าที่ดินที่โจทก์ทั้งสามมีสิทธิได้รับคนละ190,000บาทจึงเป็นหนี้อันอาจแบ่งแยกได้ต้องถือทุนทรัพย์แยกกันตามรายตัวโจทก์เมื่อจำเลยหนี้ตามสิทธิของโจทก์แต่ละคนไม่เกิน200,000บาทจึงต้องห้ามฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา248วรรคหนึ่งศาลอุทธรณ์พิพากษาว่าที่ดินพิพาทมิใช่ทรัพย์มรดกแต่เป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยการที่โจทก์ทั้งสามฎีกาว่าพยานหลักฐานของโจทก์ทั้งสามฟังได้ว่าที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์มรดกของมารดาโจทก์ทั้งสามและจำเลยต้องแบ่งเงินที่ขายที่ดินพิพาทกันตามส่วนและศาลล่างวินิจฉัยข้อเท็จจริงคลาดเคลื่อนจากพยานหลักฐานในสำนวนเพราะในส.ค.1เอกสารหมายจ.4จำเลยระบุไว้ว่าได้ที่ดินพิพาทมาโดยบิดามารดายกให้แต่ในสัญญาซื้อขายเอกสารหมายจ.6จำเลยระบุว่าได้ที่ดินพิพาทมาโดยการครอบครองเกิน10ปีแตกต่างกันแต่ศาลอุทธรณ์หาได้วินิจฉัยในปัญหานี้ไม่ล้วนแต่เป็นฎีกาโต้แย้งดุลพินิจการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์ทั้งสิ้นอันเป็นฎีกาในข้อเท็จจริงต้องห้ามตามบทกฎหมายดังกล่าว
ย่อยาว
คดีสองสำนวนนี้ศาลชั้นต้นรวมพิจารณาพิพากษา โดยเรียกโจทก์สำนวนแรกว่า โจทก์ที่ 1 และโจทก์สำนวนหลังว่า โจทก์ที่ 2 และที่ 3 ตามลำดับ
โจทก์ทั้งสองสำนวนฟ้องและแก้ไขคำฟ้องโดยโจทก์สำนวนแรกได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถาเป็นใจความว่าโจทก์ทั้งสาม จำเลยและนายเล็ก หมื่นหาญ เป็นบุตรนายอบ หมื่นหาย กับนางแก่น หมื่นหาญ ก่อนที่ นางแก่น จะอยู่กินฉันสามีภรรยากับนายอบนั้น นางแก่นมีที่ดิน 1 แปลง ต่อมาเมื่อปี 2483นางแก่นถึงแก่กรรม ที่ดินดังกล่าวเป็นมรดกตกทอดแต่ทายาท ทายาททุกคนจึงมอบให้จำเลยเป็นผู้ดูแลครอบครองที่ดินแทน แต่จำเลยไม่เคยเข้าทำประโยชน์ในที่ดิน จนกระทั่งปี 2498 จำเลยไปดำเนินการขอให้ทางราชการออกแบบแจ้งการครอบครองที่ดินนั้นเป็นชื่อจำเลยโดยอ้างว่าบิดามารดายกให้ ซึ่งไม่เป็นความจริง ต่อมาเมื่อปี 2517จำเลยเอาที่ดินนั้นไปขอออกโฉนดที่ดินเป็นโฉนดเลขที่ 1559 เนื้อที่7 ไร่ 2 งาน 40 ตารางวา ตั้งอยู่ที่บ้านเขาเต่า ตำบลหนองแกอำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ โจทก์ทั้งสามและทายาทอื่นไม่เคยทราบเรื่อง ต่อมานายอบถึงแก่กรรมโจทก์ทั้งสามและทายาทอื่นจึงแจ้งให้จำเลยจัดการแบ่งแยกที่ดินตามส่วนที่โจทก์ทั้งสามและทายาทอื่นจะได้รับ จำเลยบ่ายเบี่ยงจนกระทั่งเมื่อประมาณกลางปี 2532โจทก์ทั้งสามทราบว่าจำเลยกำลังจะโอนขายที่ดินนั้นให้ผู้อื่น จึงให้ทนายความมีหนังสืออายัดที่ดินดังกล่าวไปยังเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ สาขาหัวหินโดยจำเลยได้รับสำเนาหนังสือนั้นแล้ว ต่อมาเมื่อนายมนตรี เอี่ยมสะอาด ทนายความของโจทก์ทั้งสามนำโจทก์ทั้งสามและทายาทไปติดต่อเจ้าพนักงานที่ดิน ก็พบว่าจำเลยได้ขายที่ดินไปให้ผู้อื่นในราคา 950,000 บาท ตั้งแต่วันที่ 19กันยายน 2532 ซึ่งเป็นวันเดียวกันกับที่ทนายความของโจทก์ทั้งสามมีหนังสือแจ้งอายัดไป โจทก์ทั้งสามติดตามทวงถามจำเลยแล้ว แต่จำเลยหลบหนี โจทก์ทั้งสามได้รับความยินยอมจากสามีให้ฟ้องคดีนี้ ขอให้มีคำสั่งเพิกถอนสัญญาซื้อขายที่ดินโฉนดเลขที่ 1559 ฉบับลงวันที่ 19กันยายน 2532 และให้จำเลยนำที่ดินนั้นมาแบ่งให้แก่ทายาท หากจำเลยไม่สามารถดำเนินการได้ให้จำเลยชำระเงินค่าที่ดินที่โจทก์ทั้งสามมีสิทธิได้รับคนละ 190,000 บาท
จำเลยทั้งสองสำนวนให้การเป็นใจความว่า ที่ดินโฉนดเลขที่ 1559นั้นไม่ใช่ทรัพย์มรดกอันจะตกทอดแก่โจทก์ทั้งสาม แต่จำเลยเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์และเข้าครอบครองดูแลที่ดินนั้นอย่างเป็นเจ้าของตลอดมาไม่เคยได้รับมอบหมายหรือดูแลที่ดินนั้นแทนผู้ใด โจทก์ทั้งสามและจำเลยเสียภาษีที่ดินนั้นมาโดยตลอด ตามคำขอท้ายฟ้องของโจทก์ที่ศาลสั่งเพิกถอนสัญญาซื้อขายนั้นไม่อาจบังคับได้อันเป็นผลให้คำขอท้ายฟ้องของโจทก์ที่ขอให้แบ่งเงินค่าที่ดินสิ้นผลบังคับไปด้วยเดิมที่ดินนั้นเป็นที่ดินไม่มีหลักฐานและไม่มีราคา บุพการียกที่ดินนั้นให้จำเลยเมื่อประมาณ 40 ปีมาแล้ว จำเลยจึงเข้าครอบครองยึดถือเป็นเจ้าของทำกินในที่ดินนั้นตลอดมาจนกระทั่งปี 2498 จำเลยไปแจ้งการครอบครองตามหลักฐานแบบแจ้งการครอบครอง ส.ค.1เลขที่ 374 เนื้อที่ 4 ไร่ 3 งาน 20 ตารางวา ต่อมาจำเลยเข้าครอบครองทำกินและได้จับจองที่ดินรกร้างว่างเปล่าข้างเคียงและทำไร่ขยายที่ดินออกไปอีกเป็นเนื้อที่ประมาณ 3 ไร่ โดยมีอาณาเขตแน่นอนจนบัดนี้ต่อมาเมื่อปี 2508 จำเลยยื่นคำขอให้ทางราชการรังวัดที่ดิน เพื่อออกโฉนดที่ดิน ทางราชการได้ออกทำการรังวัดซึ่งบุคคลในท้องที่ที่ดินพิพาทและโจทก์ทั้งสามก็ทราบดี แต่ไม่คัดค้านทางราชการจึงได้ออกเป็นโฉนดแบบรวงข้าวให้โจทก์ แล้วต่อมาเมื่อปี 2517 ทางราชการได้เรียกเปลี่ยนโฉนดแบบรวงข้าวเป็นโฉนดที่ดินให้จำเลย คดีโจทก์ทั้งสามขาดอายุความ ที่โจทก์โอนขายที่ดินให้บุคคลอื่นนั้นก็เป็นไปโดยไม่สุจริต โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ตามหนังสือสัญญาซื้อขายฉบับลงวันที่19 กันยายน 2532 ที่โจทก์มาขออายัดที่ดินและฟ้องคดีนี้เป็นการใช้สิทธิไม่สุจริตเพราะที่ดินดังกล่าวนั้นเป็นของจำเลย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ยกฟ้อง
โจทก์ทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ทั้งสามฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า การที่โจทก์ทั้งสามฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยกับผู้มีชื่อเป็นการฟ้องเรียกให้ได้ที่ดินกลับคืนมาเป็นทรัพย์มรดกเพื่อประโยชน์แก่โจทก์ทั้งสาม คดีของโจทก์ทั้งสามจึงเป็นคดีที่มีคำขอปลดเปลื้องทุกข์อันอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ เป็นคดีมีทุนทรัพย์ตามจำนวนราคาที่ดินพิพาทนั้น ปรากฎว่าจำเลยขายที่ดินพิพาทให้แก่ผู้มีชื่อไปแล้วโจทก์ทั้งสามขอให้บังคับจำเลยชำระเงินค่าที่ดินที่โจทก์ทั้งสามได้รับคนละ 190,000 บาท จึงเป็นหนี้อันอาจแบ่งแยกได้ ต้องถือทุนทรัพย์แยกกันตามรายตัวโจทก์ เมื่อจำนวนหนี้ตามสิทธิของโจทก์แต่ละคนไม่เกิน 200,000 บาท จึงต้องห้ามฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคหนึ่ง ศาลอุทธรณ์พิพากษาว่าที่ดินพิพาทมิใช่ทรัพย์มรดก แต่เป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยการที่โจทก์ทั้งสามฎีกาว่า พยานหลักฐานของโจทก์ทั้งสามฟังได้ว่าที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์มรดกของมารดาโจทก์ทั้งสามและจำเลย ต้องแบ่งเงินที่ขายที่ดินพิพาทกันตามส่วน และศาลล่างวินิจฉัยข้อเท็จจริงตลาดเคลื่อนจากพยานหลักฐานในสำนวนเพราะใน ส.ค.1 เอกสารหมาย จ.4จำเลยระบุไว้ว่า ได้ที่ดินพิพาทมาโดยบิดามารดายกให้ แต่ในสัญญาซื้อขายเอกสารหมาย จ.6 จำเลยระบุว่า ได้ที่ดินพิพาทมาโดยการครอบครองเกิน 10 ปี แตกต่างกัน แต่ศาลอุทธรณ์หาได้วินิจฉัยในปัญหานี้ไม่ ล้วนแต่เป็นฎีกาโต้แย้งดุลพินิจการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์ทั้งสิ้น อันเป็นฎีกาในข้อเท็จจริงต้องห้ามตามบทกฎหมายดังกล่าว ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
พิพากษายกฎีกาโจทก์ทั้งสาม คืนค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาทั้งหมดแก่โจทก์ที่ 2 และที่ 3 ส่วนโจทก์ที่ 1 ได้รับอนุญาตให้ฎีกาอย่างคนอนาถา จึงไม่มีค่าขึ้นศาลจะคืนให้ ค่าทนายความชั้นฎีกาให้เป็นพับ