คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1936/2522

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยปลูกบ้านอยู่ในที่ดินของรัฐซึ่งอยู่ในความดูแลของสุขาภิบาล สุขาภิบาลแจ้งให้จำเลยรื้อถอนออกไป จำเลยทราบแล้วไม่ยอมรื้อและไม่ยอมออกไป จำเลยมีเจตนาทุจริตที่จะบุกรุกที่ดินของรัฐ เป็นความผิดตั้งแต่นั้นต่อเนื่องกันตลอดไปตราบเท่าที่จำเลยยังคงอยู่ในที่ดินรวมทั้งเวลากลางคืนตามมาตรา 365 (3) ด้วย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขเพิ่มเติมฟ้องว่า เมื่อระหว่างวันที่ ๒๔ มกราคม ๒๕๑๘ ถึงวันที่ ๒๒ กันยายน ๒๕๑๙ เวลากลางวันและกลางคืนติดต่อกัน จำเลยบังอาจบุกรุกเข้าไปปลูกสร้างอาคารร้านค้าและที่อยู่อาศัยในที่ดินของรัฐในความครอบครองดูแลรักษาของสุขาภิบาลปาดังเบซาร์ ทั้งนี้เพื่อถือการครอบครองที่ดินซึ่งเป็นอสังหาริมทรัพย์อันเป็นการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของสุขาภิบาลปาดังเบซาร์โดยปกติสุข ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๖๒, ๓๖๕ (๓)
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับเป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๓๖๕ (๓) ปรากฏว่าบ้านของจำเลยใช้วัสดุก่อสร้างไม่ถาวรและมีเนื้อที่เล็กน้อยเห็นควรลงโทษสถานเบา ลงโทษปรับ ๒,๐๐๐ บาท หากไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๙, ๓๐
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาพิจารณาแล้ว ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าบ้านจำเลยอาศัยปลูกอยู่ในที่ดินของรัฐ ซึ่งอยู่ในความดูแลของสุขาภิบาลปาดังเบซาร์ สุขาภิบาลปาดังเบซาร์ได้แจ้งให้จำเลยรื้อถอนบ้านออกไปแล้ว แต่จำเลยยังไม่ยอมรื้อ มีปัญหาว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดทางอาญาฐานบุกรุกดังฟ้องหรือไม่ ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า การที่จำเลยเข้าไปอยู่ในที่พิพาทนั้น ไม่ปรากฏว่าจำเลยได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ จำเลยเองก็ว่าไม่ทราบว่าเป็นที่ดินของใคร เพิ่งมาทราบภายหลังว่าที่ดินเป็นของรัฐ การที่จำเลยเข้าไปอยู่ในที่พิพาทนั้น เห็นได้ว่า เพื่อถือการครอบครองอสังหาริมทรัพย์คือที่พิพาทและเป็นการรบกวนการครอบครองที่พิพาทของรัฐ บัดนี้รัฐผู้เป็นเจ้าของต้องการจะใช้ที่ดินพิพาท กล่าวคือ ประเทศไทยกับประเทศมาเลเซียต้องการจะบักบันเขตแดนกัน เมื่อจำเลยยังคงอยู่ในที่พิพาทก็ไม่สามารถจะบักบันเขตแดนกันได้สุขาภิบาลปาดังเบซาร์ได้แจ้งให้จำเลยรื้อถอนอาคารออกไป จำเลยไม่ยอมรื้อและไม่ยอมออกไป ทั้ง ๆ ที่จำเลยก็ได้ทราบแล้ว นับแต่นั้นจำเลยก็มีเจตนาทุจริตที่จะบุกรุกที่ดินของรัฐ ความผิดเกิดขึ้นในตอนนี้และเป็นความผิดต่อเนื่องกันตลอดไปตราบเท่าที่จำเลยยังคงอยู่ในที่พิพาท การอยู่ของจำเลยก็อยู่ในเวลากลางคืนด้วย จึงต้องด้วยมาตรา ๓๖๕ (๓) อันเป็นความผิดอาญาแผ่นดินการที่มีการเก็บค่าขยะมูลฝอยและมีการเก็บค่าไฟฟ้านั้นก็ไม่เป็นการลบล้างความผิดของจำเลย กล่าวคือ เมื่อจำเลยมีขยะมูลฝอยให้เจ้าหน้าที่เก็บเพื่อรักษาความสะอาดเรียบร้อยของบ้านเมือง เจ้าหน้าที่ก็ต้องเก็บค่าธรรมเนียมตามระเบียบ และเจ้าหน้าที่ไฟฟ้าก็เก็บค่าไฟฟ้าตามจำนวนที่จำเลยใช้เป็นคนละเรื่องกัน ไม่เป็นการรับรองหรือให้สิทธิที่จำเลยจะอยู่ได้
พิพากษายืน.

Share