คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5470/2538

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา224ที่แก้ไขใหม่โดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง(ฉบับที่12)พ.ศ.2534ได้บัญญัติไว้ในมาตรา2ว่าให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด60วันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไปซึ่งพระราชบัญญัติดังกล่าวประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่27สิงหาคม2534ดังนั้นจึงมีผลบังคับตั้งแต่วันที่27ตุลาคม2534เป็นต้นไปการยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นตั้งแต่วันที่27ตุลาคม2534เป็นต้นไปจึงต้องอยู่ภายใช้บังคับของมาตรา224ที่แก้ไขใหม่ด้วยแม้การยื่นฟ้องในศาลชั้นต้นจะได้ยื่นก่อนที่กฎหมายใหม่จะมีผลบังคับก็หาใช่สาระสำคัญไม่ทั้งการนำกฎหมายวิธีพิจารณาความมาใช้บังคับไม่ใช่กรณีลงโทษทางอาญาจึงไม่ต้องนำหลักกฎหมายไม่มีผลบังคับย้อนหลังมาใช้ โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมซื้อขายที่ดินพิพาทเพื่อให้จำเลยที่2โอนที่ดินพิพาทคืนแก่จำเลยที่1หรือโจทก์ถือได้ว่าเป็นการฟ้องเรียกเอาที่ดินพิพาทมาเป็นของโจทก์ด้วยนั่นเองซึ่งถ้าศาลพิพากษาให้โจทก์ชนะคดีโจทก์ย่อมได้ที่ดินพิพาทจึงเป็นคดีฟ้องขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ทั้งกรณีตามคำฟ้องโจทก์ก็ไม่ได้พิพาทกันเกี่ยวกับสิทธิในครอบครัวแต่อย่างใดคดีโจทก์จึงต้องห้ามอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์และจำเลยที่ 1 เป็นสามีภริยากันได้ร่วมกันเข้าครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินจนได้รับสิทธิในที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 341เล่ม 4 ก. หน้า 41 ตั้งอยู่ตำบลเกาะลันตาใหญ่ อำเภอเกาะลันตาจังหวัดกระบี่ เนื้อที่ 13 ไร่ 1 งาน 25 ตารางวา เมื่อวันที่19 เมษายน 2520 ซึ่งถือเป็นสินสมรส ต่อมาวันที่12 ตุลาคม 2530 จำเลยที่ 1 ได้นำที่ดินดังกล่าวไปจดทะเบียนนิติกรรมขายให้แก่จำเลยที่ 2 ในราคา 25,000 บาท โดยโจทก์ไม่ยินยอมและจำเลยที่ 2 ทราบอยู่แล้วแต่ได้นำไปจดทะเบียนจำนองแก่ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร เป็นเงิน600,000 บาท ขอให้เพิกถอนนิติกรรมสัญญาขายที่ดินระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ให้จำเลยที่ 2 โอนที่ดินดังกล่าวคืนให้จำเลยที่ 1 หรือโจทก์โดยปราศจากภาระผูกพันถ้าจำเลยที่ 2 ไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยที่ 2
ระหว่างพิจารณา โจทก์ขอถอนฟ้องจำเลยที่ 1 ศาลชั้นต้นอนุญาต
จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 2 ซื้อที่ดินพิพาทจากจำเลยที่ 1 สามีของโจทก์โดยสุจริต เสียค่าตอบแทนและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่โดยชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ทราบและไม่คัดค้านประการใด ที่ดินพิพาทจำเลยที่ 1 ได้รับมรดกมาจากบิดามารดาและครอบครองมา 35 ปี จำเลยที่ 1 เพิ่งจดทะเบียนสมรสกับโจทก์เมื่อปี 2518 ที่ดินพิพาทจึงไม่ใช่สินสมรส แต่เป็นสินส่วนตัวของจำเลยที่ 1 ปี 2523 จำเลยที่ 1ได้นำที่ดินพิพาทไปจดทะเบียนจำนองประกันเงินกู้ประมาณ10,000 บาท แก่สหกรณ์การเกษตรเกาะลันตา จำกัด แล้วไม่ชำระเงินต้นและดอกเบี้ย จำเลยที่ 1 กับโจทก์ได้ขอร้องให้จำเลยที่ 2 ช่วยซื้อที่ดินพิพาทไว้ จำเลยที่ 2 จึงซื้อที่ดินพิพาทไว้ในราคา 25,000 บาท และครอบครองทำประโยชน์ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2528 โจทก์ทราบดี แต่ไม่คัดค้านต่อมาปี 2530 จำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทแก่จำเลยที่ 2 อีกครั้งหนึ่งโดยทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนกันต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ โจทก์ก็ทราบการซื้อขายดังกล่าวด้วยโจทก์ฟ้องคดีวันที่ 17 พฤษภาคม 2532 เป็นเวลาเกินกว่า1 ปี ฟ้องโจทก์ขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้น พิพากษายก ฟ้อง
โจทก์ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ ภาค 3 พิพากษายก อุทธรณ์ โจทก์
โจทก์ ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 224 ที่แก้ไขใหม่ เป็นบทบัญญัติเกี่ยวกับหลักเกณฑ์ว่าคดีประเภทใดบ้างที่คู่ความสามารถอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงได้ซึ่งตามพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ 12) พ.ศ. 2534ที่แก้ไข มาตรา 224 ดังกล่าว ได้บัญญัติไว้ในมาตรา 2 ว่า ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด 60 วัน นับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป ซึ่งพระราชบัญญัติดังกล่าวได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2534 ดังนั้นจึงมีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 27 ตุลาคม 2534 เป็นต้นไป การยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นตั้งแต่วันที่ 27 ตุลาคม 2534 เป็นต้นไปจึงต้องอยู่ภายใต้บังคับของมาตรา 224 ที่แก้ไขใหม่ด้วย แม้การยื่นฟ้องในศาลชั้นต้นจะได้ยื่นก่อนที่กฎหมายใหม่จะมีผลบังคับก็หาใช่สาระสำคัญไม่ ทั้งการนำกฎหมายวิธีพิจารณาความมาใช้บังคับไม่ใช่กรณีลงโทษทางอาญา จึงไม่ต้องนำหลักกฎหมายไม่มีผลบังคับย้อนหลังมาใช้ดังที่โจทก์เข้าใจ สำหรับกรณีของโจทก์ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์ยื่นอุทธรณ์วันที่ 25 พฤศจิกายน 2534จึงต้องอยู่ภายใต้บังคับของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 224 ที่แก้ไขใหม่ตามพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ 12) พ.ศ. 2534 ดังกล่าว เมื่อโจทก์ฟ้องคดีกำหนดราคาที่ดินพิพาทไว้เพียง 38,437 บาท จึงเป็นคดีที่ราคาทรัพย์สินหรือจำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์ไม่เกิน 50,000 บาทจึงเข้าหลักเกณฑ์ต้องห้ามอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 224 วรรคหนึ่งดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยและคดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมซื้อขายที่ดินพิพาทเพื่อให้จำเลยที่ 2 โอนที่ดินพิพาทคืนแก่จำเลยที่ 1 หรือโจทก์ ถือได้ว่าเป็นการฟ้องเรียกเอาที่ดินพิพาทมาเป็นของโจทก์ด้วยนั่นเองซึ่งถ้าศาลพิพากษาให้โจทก์ชนะคดี โจทก์ย่อมได้ที่ดินพิพาท จึงเป็นคดีฟ้องขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ ทั้งกรณีตามคำฟ้องโจทก์ก็ไม่ได้พิพาทกันเกี่ยวกับสิทธิในครอบครัวตามที่โจทก์ฎีกาแต่อย่างใด อุทธรณ์โจทก์จึงต้องห้ามอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายกอุทธรณ์โจทก์นั้น ชอบแล้ว
พิพากษายืน

Share