แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์มิได้บรรยายฟ้องมาว่ากรมเจ้าท่าได้เสียค่าใช้จ่ายที่ต้องเสียไปในการแก้ไขสิ่งเป็นพิษเป็นจำนวนเท่าใดมิได้ขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าเสียหายส่วนนี้จำนวนเท่าใดและข้อเท็จจริงก็ไม่ปรากฏว่ากรมเจ้าท่าได้เสียค่าใช้จ่ายในการแก้ไขสิ่งเป็นพิษเป็นจำนวนเท่าใดจึงไม่อาจกำหนดค่าเสียหายส่วนนี้ให้แก่กรมเจ้าท่าได้แม้ปัญหาข้อนี้จำเลยทั้งสองมิได้ฎีกาขึ้นมาก็ตามเนื่องจากเป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันเททิ้ง ปล่อยสิ่งปฏิกูลน้ำมัน เคมีภัณฑ์ และไขมันปนกับน้ำมันลงในแม่น้ำเจ้าพระยาอันเป็นทางสัญจรที่ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกัน เป็นเหตุให้เกิดสกปรกเป็นพิษต่อสิ่งมีชีวิตหรือต่อสิ่งแวดล้อมและเป็นอันตรายต่อการเดินเรือในแม่น้ำ โดยมิได้รับอนุญาตและฝ่าฝืนต่อกฎหมาย เหตุเกิดที่ตำบลปากคลองบางปลากด อำเภอพระสมุทรเจดีย์ จังหวัดสมุทรปราการขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พ.ศ. 2456มาตรา 119, 119 ทวิ, 204 พระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย(ฉบับที่ 14) พ.ศ. 2535 มาตรา 27, 28, 42 ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83, 90
จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พ.ศ. 2456 มาตรา 119,119 ทวิ, 204 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติ ดังกล่าว มาตรา 119 ทวิ อันเป็นบทหนักตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคล ปรับ60,000 บาท จำเลยที่ 2 จำคุก 6 เดือน จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กึ่งหนึ่ง คงลงโทษจำเลยที่ 1ปรับ 30,000 บาท จำเลยที่ 2 จำคุก 3 เดือน เมื่อคำนึงถึงเจตนารมณ์ของบทบัญญัติ มาตรา 119 ทวิ แห่งพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทยดังกล่าว เห็นได้ว่านอกจากจะได้กำหนดบทลงโทษแล้วผู้กระทำผิดตามมาตรานี้ยังจะต้องชดใช้เงินค่าใช้จ่ายที่ต้องเสียไปในการแก้ไขสิ่งเป็นพิษหรือชดใช้ค่าเสียหายเหล่านั้นด้วยเมื่อพิเคราะห์ถึงรายงานการสืบเสาะและพินิจเกี่ยวกับจำเลยทั้งสองของพนักงานคุมประพฤติประกอบแล้ว จึงเห็นสมควรให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายให้แก่กรมเจ้าท่า ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจหน้าที่บังคับการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติดังกล่าวเป็นจำนวนเงิน 1,000,000 บาท ตามพฤติการณ์แห่งคดีการกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นการทำลายระบบนิเวศน์วิทยาซึ่งเป็นสิ่งแวดล้อมที่มีความสำคัญต่อการดำรงชีวิตของประชาชน กรณีจึงไม่มีเหตุสมควรรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยที่ 2 ส่วนจำเลยที่ 1 หากไม่ชำระค่าปรับให้บังคับตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ขอให้ลงโทษและกำหนดค่าเสียหายในสถานเบากับให้รอการลงโทษจำเลยที่ 2
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน
จำเลยทั้งสองฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่า การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าเสียหายให้แก่กรมเจ้าท่าเป็นเงิน 1,000,000 บาท สูงเกินไปจากความเป็นจริงนั้นศาลฎีกาเห็นว่า โจทก์มิได้บรรยายฟ้องมาว่ากรมเจ้าท่าได้เสียค่าใช้จ่ายที่ต้องเสียไปในการแก้ไขสิ่งเป็นพิษเป็นจำนวนเท่าใดอีกทั้งมิได้ขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าเสียหายส่วนนี้จำนวนเท่าใด และข้อเท็จจริงก็ไม่ปรากฏว่ากรมเจ้าท่าได้เสียค่าใช้จ่ายในการแก้ไขสิ่งเป็นพิษเป็นจำนวนเท่าใด จึงไม่อาจกำหนดค่าเสียหายส่วนนี้ให้แก่กรมเจ้าท่าได้ แม้ปัญหาข้อนี้จำเลยทั้งสองจะมิได้ฎีกาขึ้นมาก็ตาม เนื่องจากเป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ปรับจำเลยที่ 2 เป็นเงิน 60,000 บาทอีกสถานหนึ่ง ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78แล้วคงปรับ 30,000 บาท โทษจำคุกจำเลยที่ 2 ให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 และให้ยกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 ในส่วนที่ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายให้แก่กรมเจ้าท่า ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจหน้าที่บังคับการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติดังกล่าวเป็นจำนวนเงิน 1,000,000 บาทนอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2