คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7284/2538

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ถูกก.กับพวกฟ้องให้เปิดทางจำเป็นเพราะที่ดินของก.กับพวกตกอยู่ในที่ดินแปลงอื่นจนออกสู่ถนนสาธารณะไม่ได้นับแต่ศาลพิพากษาให้โจทก์เปิดทางจำเป็นแล้วปรากฏว่าบุคคลทั่วไปได้ใช้ทางพิพาทเป็นทางออกซอยพหลโยธิน28 ไปสู่ถนนพหลโยธินร่วมกันโดยโจทก์มิได้หวงห้ามมานานนับ10ปีแล้วถือได้ว่าโจทก์ได้อุทิศที่พิพาทเป็นทางสาธารณะโดยปริยายแล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 17374ตำบลลาดยาว อำเภอบางเขน จังหวัดพระนคร เมื่อปี 2503โจทก์ถูกฟ้องให้เปิดที่ดินส่วนหนึ่งเป็นทางจำเป็น ศาลฎีกาพิพากษาคดีถึงที่สุดให้โจทก์เปิดทางจำเป็น โจทก์จึงขอแบ่งแยกโฉนดที่ดินให้ส่วนที่เป็นทางจำเป็นออกจากโฉนดเดิมเป็นโฉนดเลขที่ 64742ตำบลลาดยาว อำเภอบางเขน จังหวัดพระนคร เนื้อที่ 32 ตารางวาต่อมาปี 2522 ทางราชการตัดถนนรัชดาภิเษก ทำให้ทางจำเป็นหมดสภาพเป็นทางจำเป็นอีกต่อไป โจทก์จึงฟ้องขอเพิกถอนทางจำเป็นศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาตามคดีหมายเลขแดงที่ 12959/2523 ให้เพิกถอนทางจำเป็นได้ โจทก์จึงปักเสาคอนกรีตและติดป้ายว่าเป็นที่ดินส่วนบุคคล แต่ถูกรื้อถอนไป โจทก์ประสงค์จะทำประโยชน์ในที่ดินดังกล่าวจึงดำเนินการปักเสารั้วคอนกรีต แต่จำเลยอ้างว่าที่ดินของโจทก์เป็นที่สาธารณะซึ่งไม่เป็นความจริง จำเลยใช้สิทธิโดยไม่สุจริตทำให้โจทก์เสียหาย ขาดประโยชน์เป็นเงิน 100,000 บาทและค่าเสียหายอีกเดือนละ 2,000 บาท นับแต่เดือนสิงหาคม 2529เป็นต้นมากับค่าก่อสร้างรั้ว 20,000 บาท ขอให้มีคำพิพากษาแสดงว่า ที่ดินโฉนดเลขที่ 64742 ตำบลลาดยาว อำเภอบางเขนจังหวัดพระนคร เป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ ไม่ได้ตกเป็นที่สาธารณะให้จำเลยทั้งสองอนุญาตให้โจทก์สร้างรั้วคอนกรีตเสริมเหล็กในแนวเขตที่ดินโฉนดดังกล่าว ให้จำเลยทั้งสองชำระเงิน 240,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และชำระค่าเสียหายอีกเดือนละ 2,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยจะอนุญาตให้โจทก์สร้างรั้ว
จำเลยทั้งสองให้การว่า ที่ดินของโจทก์ตกเป็นที่สาธารณะแล้วจำเลยปฏิบัติราชการโดยสุจริตเพื่อคุ้มครองประโยชน์สาธารณะของประชาชน จำเลยทั้งสองมิได้กระทำละเมิดต่อโจทก์ โจทก์เสียหายไม่เกิน 10,000 บาท และค่าเช่าไม่เกินเดือนละ 200 บาทค่าใช้จ่ายในการทำรั้วไม่เกิน 5,000 บาท ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ที่ดินโฉนดเลขที่ 64742ตำบลลาดยาว อำเภอบางเขน จังหวัดพระนคร ของโจทก์ไม่ตกเป็นที่สาธารณะให้โจทก์สร้างรั้วคอนกรีตเสริมเหล็กในแนวเขตที่ดินโฉนดดังกล่าวได้ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่าโจทก์เป็นผู้มีชื่อเป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 64742 ตำบลลาดยาวอำเภอบางเขน จังหวัดพระนคร ซึ่งเป็นที่พิพาทในคดีนี้ปรากฏตามสำเนาโฉนดเอกสารหมาย จ.4 เมื่อปี 2503โจทก์ถูกนายเกษม ทิพย์จันทร์ กับพวกรวม 3 คน ฟ้องให้เปิดทางจำเป็นตรงที่พิพาทโดยที่ดินของนายเกษมกับพวกตกอยู่ในที่ล้อมของที่ดินแปลงอื่นออกสู่ถนนสาธารณะไม่ได้ โจทก์เป็นฝ่ายแพ้คดีโดยศาลฎีกาพิพากษาให้โจทก์เปิดที่พิพาทเป็นทางจำเป็นเข้าออกสู่ทางสาธารณะเรื่อยมา ในปี 2518 โจทก์ยอมให้พลตำรวจตรีเดชขัตพันธ์ และนายสุวัฒน์ รัตนสาร ปรับปรุงที่พิพาทเป็นถนนลาดยางต่อมาปี 2522 ทางราชการตัดถนนรัชดาภิเษกติดกับที่พิพาทโจทก์จึงฟ้องนายเกษมกับพวกให้ยกเลิกทางจำเป็นตรงที่พิพาทศาลชั้นต้นพิพากษาให้ตามขอปรากฏตามสำเนาคำพิพากษาเอกสารหมาย จ.5ปี 2529 โจทก์ได้ยื่นคำร้องต่อผู้อำนวยการเขตบางเขนกรุงเทพมหานคร ขออนุญาตสร้างรั้วคอนกรีตเสริมเหล็ก ในแนวเขตที่พิพาทของโจทก์ แต่จำเลยไม่อนุญาตอ้างว่าที่พิพาทเป็นที่สาธารณะคดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยทั้งสองว่าที่พิพาทเป็นที่สาธารณะหรือไม่ โจทก์อ้างตนเองเป็นพยานเบิกความว่าเมื่อศาลฎีกาพิพากษาให้โจทก์เปิดทางจำเป็นแล้วในปี 2505โจทก์ได้ปักป้ายในที่พิพาทว่าเป็นที่ดินส่วนบุคคลสงวนสิทธิเป็นป้ายขนาดกว้าง 1 ฟุต ยาว 2 ฟุต พื้นสีขาว ตัวอักษรสีแดงสูงจากพื้นดิน 2 เมตรเศษ ปลายปี 2522 หลังจากศาลแพ่งมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ยกเลิกทางจำเป็นแล้ว โจทก์ได้ให้ นายปาล อภิบาลนำเสาคอนกรีตเสริมเหล็กไปปักไว้ที่หัวท้ายของที่พิพาทด้านละ 4 ต้น เพื่อมิให้คนเข้าออกและปักป้ายว่าที่ดินส่วนบุคคลสงวนสิทธิเหมือนที่เคยปักไว้ครั้งแรก แต่มีคนมารื้อถอนเสาและป้ายโจทก์นำไปปักใหม่ แต่มีผู้รื้อถอนอีก หลังจากนั้น 4 ปีเจ้าหน้าที่เขตบางเขนขอทำทางคอนกรีตเสริมเหล็กในที่พิพาทโจทก์ไม่อนุญาต ปี 2528 โจทก์จะให้นายทวี เทเพนทร์ เช่าที่พิพาททำตลาดแผงลอยได้ขอสอบเขตที่พิพาทต่อสำนักงานที่ดินเขตบางเขนจำเลยส่งเจ้าหน้าที่มาระวังแนวเขตด้วย แต่ไม่ได้คัดค้านว่าเป็นที่สาธารณะหรือรุกล้ำที่สาธารณะ ปี 2529 โจทก์ยื่นขอทำรั้วคอนกรีต เจ้าหน้าที่เขตบางเขน รับคำขอและเรียกโจทก์ไปให้ถ้อยคำ หลังจากนั้นโจทก์เอาหินทรายไปกองไว้ที่พิพาทและปักเสาคอนกรีต แต่มีคนมารื้อทำลายอีก ต่อมาเขตบางเขนไม่อนุญาตให้โจทก์ทำรั้วคอนกรีต อ้างว่าที่พิพาทเป็นที่สาธารณะแล้วซึ่งไม่เป็นความจริง เพราะโจทก์ไม่เคยอุทิศที่พิพาทเป็นที่สาธารณะและได้ติดป้ายแสดงสงวนสิทธิ์ตั้งแต่ศาลพิพากษาให้เป็นทางจำเป็น ไม่เคยอนุญาตให้ผู้อื่นใช้ทางจำเป็น นอกจากนี้ยังติดป้ายแสดงสงวนสิทธิตั้งแต่ศาลสั่งให้เปิดทางจำเป็นไม่เคยอนุญาตให้ผู้อื่นใช้และเสียภาษีที่ดินทุกปี โดยมีนายปาล อภิบาล เป็นพยานเบิกความสนับสนุนส่วนจำเลยมีนายสมปอง จันทร์กวีกูล นางเนาวรัตน์ ตั้นสกุลนางศรีฟอง โสภาชื่นนางมัณทนา วนาสุขพันธ์ นางจิตรา ศิริรัตน์และนายสำเนา เปล่งศรีงาม เป็นพยานเบิกความสนับสนุนในทำนองเดียวกันว่า ในที่พิพาทไม่มีป้ายปักหวงห้ามหรือแสดงสงวนสิทธิ พิเคราะห์คำเบิกความของโจทก์แล้วได้ความว่านับแต่ศาลฎีกามีคำพิพากษาให้โจทก์เปิดทางจำเป็นจนถึงวันที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาให้ยกเลิกทางจำเป็นเมื่อปี 2523 ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงเลยว่าโจทก์ได้กีดกันมิให้คนอื่นร่วมใช้ทางจำเป็นโดยสงวนสิทธิให้ใช้เฉพาะนายเกษมกับพวกซึ่งฟ้องคดีให้โจทก์เปิดทางจำเป็นเท่านั้น แสดงว่า โจทก์ได้ปล่อยให้บุคคลทั่วไปใช้ทางจำเป็นนี้ได้ด้วยโดยเสรีไม่หวงห้ามดังจะเห็นได้จากคำเบิกความของโจทก์ว่าเมื่อพลตำรวจตรีเดชกับนายสุวัฒน์ซึ่งมีบ้านอยู่ใกล้กับบ้านนายเกษมกับพวก ได้มาขอโจทก์ปรับปรุงทางจำเป็นทำถนนลาดยางเพื่อประโยชน์ของบุคคลทั้งสอง โจทก์ก็ยินยอม โดยโจทก์ยินยอมให้เทศบาลกรุงเทพเข้าไปทำการปรับปรุงผิวจราจรในที่พิพาทด้วยตามสำเนาบันทึกเอกสารหมาย ล.2 นายสำเนา เปล่งศรีงามข้าราชการสังกัดงานโยธา เขตบางเขน พยานจำเลยผู้บันทึกเอกสารดังกล่าวเบิกความว่า ได้อ่านบันทึกให้โจทก์ฟัง หากมีข้อความใดผิดโจทก์จะขอแก้ไขและลงชื่อไว้ และนอกจากจะปรากฏตามคำเบิกความของนายสมปอง นางเนาวรัตน์ นางมัณทนา และนางจิตราพยานจำเลยว่า ที่พิพาทไม่มีป้ายหวงห้าม ไม่มีการปิดกั้นผู้คนและรถยนต์สามารถผ่านได้ แล้วยังปรากฏตามคำเบิกความของนายกฤษณรัตน์ พุ่มทอง พยานจำเลยซึ่งเป็นข้าราชการสังกัดงานโยธาเขตบางเขนว่า เมื่อโจทก์ทำเรื่องขอความเป็นธรรมในกรณีที่สำนักงานเขตบางเขนไม่อนุญาตให้ก่อรั้วคอนกรีตเสริมเหล็กในที่พิพาท ทางศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ของกรุงเทพมหานครได้ส่งเรื่องให้สำนักงานเขตพิจารณาข้อเท็จจริง พยานได้ส่งเจ้าหน้าที่ไปสอบปากคำผู้อาศัยในละแวกนั้นได้ความว่าทางพิพาทเปิดใช้มานานกว่า 10 ปี โดยไม่มีการปิดกั้นปรากฏตามสำเนาบันทึกคำให้การ 5 ฉบับตามเอกสารหมาย ล.6 กับได้ถ่ายภาพที่พิพาทไว้ด้วย ปรากฏตามภาพถ่ายหมาย ล.1 และ ล.3 เห็นว่าพยานหลักฐานโจทก์แม้จะฟังได้ว่าโจทก์เคยปิดป้ายแสดงการสงวนสิทธิที่พิพาทว่าเป็นที่ดินส่วนบุคคลไว้ในระยะแรกที่ศาลมีคำพิพากษาให้เปิดทางจำเป็น เมื่อปี 2505 ดังโจทก์เบิกความก็ตามแต่เมื่อมีผู้อื่นมารื้อถอนก็ไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้กระทำการหวงห้ามหรือแสดงการสงวนสิทธิอย่างจริงจังอย่างไรต่อไป จนเมื่อศาลชั้นต้นมีคำพิพากษายกเลิกทางจำเป็นเมื่อปี 2523 โจทก์จึงได้นำเสาคอนกรีตเสริมเหล็กไปปักไว้ที่หัวท้ายที่พิพาทและปักป้ายมีข้อความว่าที่ดินส่วนบุคคลสงวนสิทธิอีกครั้ง แต่ก็มีผู้รื้อถอนออกไปอีก และไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้ดำเนินการอย่างไร จนเมื่อปี 2528 ถึง 2529 โจทก์จะทำรั้วคอนกรีตถาวรในที่พิพาทได้เอาหินทรายมากอง ไว้กลางที่พิพาท ปักป้ายและเสาคอนกรีตเสริมเหล็กแต่มีคนมารื้อถอนทำลาย และปรากฏตามคำเบิกความของพยานจำเลยว่าหลังจากเอาสิ่งกีดกั้นออกแล้ว ประชาชนและรถยนต์ก็สามารถเข้าออกได้เหมือนเดิม อีกทั้งตามภาพถ่ายหมายเลข ล.1 และ ล.3 และตามรายงานการเดินเผชิญสืบที่พิพาทของศาลชั้นต้นเมื่อวันที่2 ธันวาคม 2535 ก็ปรากฏว่าที่พิพาทเป็นส่วนหนึ่งของซอยพหลโยธิน 28ในช่วงแนวตรงห่างจากปากซอยประมาณ 150 เมตร บริเวณที่พิพาทเป็นถนนลาดยาง ส่วนอื่นเป็นถนนคอนกรีตมีประชาชนสัญจรผ่านซอยพหลโยธิน 28 รวมทั้งที่พิพาทตลอดเวลา และมีรถยนต์จอดริมซอยรวมทั้งส่วนที่เป็นที่พิพาทด้วย ไม่ปรากฏว่ามีป้ายห้ามผ่านหรือสงวนสิทธิปักบนที่พิพาท ดังนี้ พยานหลักฐานจำเลยที่นำสืบมาจึงมีน้ำหนักรับฟังได้ดีกว่าพยานหลักฐานของโจทก์ ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าบุคคลทั่วไปได้ใช้ทางพิพาทเป็นทางออกซอยพหลโยธิน 28ไปสู่ถนนพหลโยธินร่วมกันโดยโจทก์มิได้หวงห้ามมานานนับ 10 ปีแล้วถือได้ว่าโจทก์ได้อุทิศที่พิพาทเป็นทางสาธารณะโดยปริยายแล้วที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์

Share