คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7759/2544

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

เจ้าพนักงานตำรวจจับกุมจำเลยตามที่ อ. บอกแก่เจ้าพนักงานตำรวจว่า จำเลยเป็นผู้มอบเมทแอมเฟตามีนให้ อ. จำหน่าย ในส่วนคำซัดทอดของ อ. นั้น ปรากฏว่า อ. ให้การต่อพนักงานสอบสวนในคดีอาญาอื่นที่ถูกฟ้องว่าจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน กับให้ถ้อยคำต่อพนักงานคุมประพฤติผู้สืบเสาะข้อเท็จจริงแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงแสดงให้เห็นถึงการไม่อยู่กับร่องกับรอยของ อ. คำซัดทอดของอ. จึงไม่มีน้ำหนัก เมื่อโจทก์มีเพียงคำซัดทอดของ อ. เท่านั้นว่าจำเลยเป็นผู้มอบเมทแอมเฟตามีนให้ อ. จำหน่าย และโจทก์ก็ไม่ได้นำ อ. มาเบิกความต่อศาล เพื่อจำเลยจะได้มีโอกาสซักค้านและนำสืบหักล้างเพื่อศาลจะได้พิจารณาคำเบิกความของ อ. ว่าน่าเชื่อถือหรือพอจะรับฟังได้หรือไม่พยานหลักฐานโจทก์จึงยังไม่มีน้ำหนักที่จะฟังว่าจำเลยมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองร่วมกับ อ. เพื่อจำหน่าย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 66, 102ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 83, 91 ริบเมทแอมเฟตามีนและกระดาษตะกั่วของกลาง

จำเลยให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง, 66 วรรคหนึ่งประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้เรียงกระทงลงโทษฐานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมายจำคุก 6 ปี ฐานร่วมกันจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน จำคุก 5 ปี รวมจำคุก 11 ปี ริบเมทแอมเฟตามีนและกระดาษตะกั่วของกลาง

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่าจำเลยกระทำความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายหรือไม่ ที่จำเลยฎีกาว่า จำเลยไม่ได้ร่วมกระทำความผิดกับนายอานนท์นั้น โจทก์มีร้อยตำรวจเอกมังตราและจ่าสิบตำรวจแสงอาทิตย์ผู้ร่วมกันจับกุมจำเลยมาเบิกความเป็นพยานในทำนองเดียวกันว่า ในวันเกิดเหตุเมื่อตรวจค้นตัวนายอานนท์พบธนบัตรที่สายลับใช้ล่อซื้อเมทแอมเฟตามีนและธนบัตรอื่นอีกประมาณ200 บาท จากการสอบถามนายอานนท์ บอกว่าเป็นเงินที่ได้มาจากการจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนเมื่อสอบถามนายอานนท์ว่าได้เมทแอมเฟตามีนมาจากไหน นายอานนท์บอกว่ารับเมทแอมเฟตามีนมาจากจำเลย ขณะนั้นจำเลยอยู่ในตู้กระจกชั้นล่างของร้านเหล็กดัด พยานให้นายอานนท์พาเข้าไปในร้านแล้วพยานเรียกจำเลยออกมา นายอานนท์ชี้จำเลยว่าเป็นนายจ้าง และให้เมทแอมเฟตามีนจำหน่ายครั้งละ 11 เม็ด โดยให้จำหน่ายในราคาเม็ดละ 130 บาท เมื่อจำหน่ายได้แล้วต้องเอาเงินมาให้จำเลยเม็ดละ 120 บาท จากนั้นจึงได้จับกุมจำเลยกับนายอานนท์และได้พาจำเลยไปตรวจค้นชั้น 3 ของร้านเหล็กดัด ผลการตรวจค้นห้องพักของจำเลยพบเมทแอมเฟตามีน60 เม็ด โดยแต่ละเม็ดห่อกระดาษตะกั่วบรรจุอยู่ในหลอดกาแฟหลอดละ 10 เม็ด จำนวน 6 หลอด ซุกซ่อนอยู่ในพื้นรองเท้าผู้หญิงโดยงัดพื้นรองเท้าออกแล้วยัดเมทแอมเฟตามีนไว้แต่ปิดในสภาพไม่มิดชิด ในชั้นจับกุมนายอานนท์ให้การรับสารภาพตามบันทึกการจับกุมบันทึกคำรับสารภาพแต่จำเลยให้การปฏิเสธจากคำเบิกความของพยานโจทก์ดังกล่าวเห็นได้ว่าเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมจำเลยตามที่นายอานนท์บอกแก่เจ้าพนักงานตำรวจว่าจำเลยเป็นผู้มอบเมทแอมเฟตามีนให้นายอานนท์จำหน่ายมีปัญหาว่า คำซัดทอดของนายอานนท์ดังกล่าวมีน้ำหนักให้รับฟังได้หรือไม่เพียงใด ปรากฏว่าในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 3330/2542ของศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง นายอานนท์ให้การต่อพนักงานสอบสวนว่าจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนมาประมาณ 1 เดือน โดยรับมาจากชายไทยไม่ทราบชื่อที่มาส่งและลักลอบจำหน่ายให้แก่นายอานนท์ที่วัดกลางซอยลาดพร้าว 136 รับมาในราคา 80 บาทและมาจำหน่ายในราคา 120 บาท แต่เมื่อให้ถ้อยคำต่อพนักงานคุมประพฤติผู้สืบเสาะข้อเท็จจริง นายอานนท์ว่าช่วงพักกลางวันได้ออกไปซื้อเมทแอมเฟตามีนจากชายชื่อนายยิม ไม่ทราบชื่อสกุลแท้จริงที่บ้านพักในซอยลาดพร้าว 134 จำนวน 20 เม็ด ราคาเม็ดละ 60 บาท ได้เก็บเมทแอมเฟตามีนซึ่งบรรจุอยู่ในหลอดยาดมไว้ในกระเป๋ากางเกงที่สวมใส่อยู่แล้วกลับมาทำงานและเสพเมทแอมเฟตามีนที่ห้องน้ำจำนวน 2 เม็ด ระหว่างที่ทำงานมีคนมาติดต่อซื้อเมทแอมเฟตามีนเป็นระยะ จนกระทั่งเวลาประมาณ16 นาฬิกา มีเจ้าพนักงานตำรวจมาจับกุมจะเห็นได้ว่าถ้อยคำที่นายอานนท์ให้การต่อพนักงานสอบสวนและต่อพนักงานคุมประพฤติผู้สืบเสาะข้อเท็จจริงแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงแสดงให้เห็นถึงการไม่อยู่กับร่องกับรอยของนายอานนท์ ทั้งยังปรากฏว่าในวันที่ 10 มิถุนายน 2542 ซึ่งเป็นวันนัดพิจารณาคดีของศาลเยาวชนและครอบครัวกลางในระหว่างที่นายอานนท์ถูกควบคุมอยู่ในห้องควบคุมของศาลนายอานนท์ได้ช็อตไฟฟ้าเพื่อจุดบุหรี่มวนยาตั้งด้วยกระดาษ อันแสดงให้เห็นถึงลักษณะนิสัยของนายอานนท์ว่าเป็นผู้ที่ไม่มีระเบียบวินัย ไม่หวั่นเกรงที่จะกระทำในสิ่งที่ไม่ถูกต้องแม้กระทั่งในห้องควบคุมของศาลพฤติกรรมของนายอานนท์ดังที่กล่าวมาจึงเป็นบุคคลที่ไม่น่าเชื่อถือ ตามบันทึกคำรับสารภาพของนายอานนท์ระบุว่านายอานนท์ได้เมทแอมเฟตามีนจากจำเลยครั้งละ11 เม็ด โดยนำมาจำหน่ายในราคาเม็ดละ 130 บาท เมื่อจำหน่ายหมดแล้วต้องนำเงินไปให้จำเลยในราคาเม็ดละ 120 บาท ได้ทำเช่นนี้เป็นประจำโดยทำมา 3 เดือนแล้ว คดีนี้นายอานนท์ถูกจับเมื่อวันที่ 19มีนาคม 2542 หากย้อนหลังไป 3 เดือนก็ประมาณวันที่ 19 ธันวาคม 2541 ดังนั้น หากข้อความดังกล่าวเป็นความจริง เมื่อนายอานนท์ถูกจับกุมเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2541 เมทแอมเฟตามีนของกลาง ในคดีนั้นก็ต้องเป็นเมทแอมเฟตามีนที่นายอานนท์รับไปจากจำเลยเช่นเดียวกัน แต่ในคดีดังกล่าวนายอานนท์กลับไปซื้อมาจากบุคคลอื่นดังกล่าวมาข้างต้นแล้ว และที่ว่าจำเลยมอบเมทแอมเฟตามีนให้ครั้งละ11 เม็ด จำหน่ายหมดแล้วจึงนำเงินไปให้จำเลย ถ้าเป็นเช่นนั้นขณะนายอานนท์ถูกจับกุมและตรวจค้นในตัวของนายอานนท์ก็จะต้องมีเงินไปน้อยกว่า 1,430 บาท เพราะไม่มีเมทแอมเฟตามีนอยู่ในตัวนายอานนท์แล้ว แสดงว่านายอานนท์จำหน่ายเมทแอมเฟตามีนจำนวน 11 เม็ดหมดแล้ว แต่กลับปรากฏว่าในตัวนายอานนท์มีเงินเพียง 330 บาท เท่านั้น นอกจากนี้เมทแอมเฟตามีนที่ตรวจค้นได้อีกจำนวน 60 เม็ด บรรจุอยู่ในหลอดกาแฟปิดหัวท้ายหลอดละ10 เม็ด จึงไม่น่าจะมีเหตุผลอะไรที่ผู้มอบเมทแอมเฟตามีนให้นายอานนท์ไปจำหน่ายจะมอบให้จำนวน 1 หลอด ซึ่งมีจำนวน10 เม็ด และไปแกะหลอดอื่นออกมาอีก 1 เม็ด จากเหตุผลที่กล่าวมาเห็นว่าคำซัดทอดของนายอานนท์ไม่มีน้ำหนัก นอกจากนี้จ่าสิบตำรวจแสงอาทิตย์เบิกความว่า เมื่อนายอานนท์ชี้ตัวจำเลยว่าเป็นผู้มอบเมทแอมเฟตามีนให้นายอานนท์จำหน่าย จำเลยลุกขึ้นยืนแล้วบอกว่าไม่รู้เรื่องอะไร ชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนจำเลยก็ให้การปฏิเสธ เมทแอมเฟตามีนจำนวน 60 เม็ดที่เจ้าพนักงานตำรวจตรวจค้นได้ในห้องชั้น 3 ของอาคารที่จำเลยอาศัยอยู่จำเลยก็ยืนยันว่าเป็นห้องพักของนายอานนท์ซึ่งโจทก์ก็ไม่มีพยานหลักฐานอะไรนอกจากคำเบิกความของพยานโจทก์ทั้งสองมายืนยันว่าห้องดังกล่าวเป็นห้องพักของจำเลยเช่น ภาพถ่าย ซึ่งจะเห็นสภาพภายในห้องว่าเป็นอย่างไร น่าจะเป็นห้องของจำเลย เพราะสภาพสิ่งของต่าง ๆ ภายในห้องระหว่างห้องจำเลยซึ่งเป็นนายจ้างกับห้องพักของนายอานนท์ซึ่งเป็นลูกจ้างย่อมจะแตกต่างกันอย่างแน่นอน คดีนี้โจทก์มีเพียงคำซัดทอดของนายอานนท์เท่านั้นว่าจำเลยเป็นผู้มอบเมทแอมเฟตามีนให้นายอานนท์จำหน่าย ทั้งได้วินิจฉัยดังกล่าวข้างต้นแล้วว่า พฤติกรรมของนายอานนท์ไม่อยู่กับร่องกับรอยไม่ควรแก่การเชื่อถือและโจทก์ก็ไม่ได้นำนายอานนท์มาเบิกความต่อศาล เพื่อจำเลยจะได้มีโอกาสซักค้านและนำสืบหักล้างได้ เพื่อศาลจะได้พิจารณาคำเบิกความของนายอานนท์ว่าน่าเชื่อถือหรือพอจะรับฟังได้หรือไม่ ศาลฎีกาจึงเห็นว่าพยานหลักฐานโจทก์ยังไม่มีน้ำหนักที่จะฟังว่าจำเลยมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองร่วมกับนายอานนท์เพื่อจำหน่าย ที่ศาลล่างพิพากษาลงโทษจำเลยในข้อหานี้ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาจำเลยฟังขึ้น

ส่วนข้อหาที่ว่า จำเลยร่วมกับนายอานนท์จำหน่ายเมทแอมเฟตามีนนั้น แม้ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นและลงโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคหนึ่งก็ตาม แต่เมื่อข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่าจำเลยได้ร่วมกับนายอานนท์มีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ดังนั้น เมทแอมเฟตามีนจำนวน 1 เม็ด ที่นายอานนท์จำหน่ายให้แก่สายลับก็ฟังไม่ได้ว่าจำเลยเป็นผู้มอบให้นายอานนท์ จำเลยย่อมไม่ได้กระทำความผิดฐานร่วมกับนายอานนท์จำหน่ายเมทแอมเฟตามีนด้วย ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจพิพากษายกฟ้องจำเลยในข้อหานี้ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 185 วรรคหนึ่ง ประกอบด้วยมาตรา 215 และมาตรา 225”

พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง แต่ให้ริบเมทแอมเฟตามีนและกระดาษตะกั่วของกลาง

Share