แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ในสำนวนคดีหลัง จำเลยที่ 1 ฟ้องขับไล่โจทก์ออกจากทรัพย์ที่เช่าซึ่งขณะยื่นคำฟ้องมีค่าเช่าเดือนละหนึ่งหมื่นบาท จึงต้องห้ามฎีกาในข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.พ.มาตรา 248 วรรคสอง โจทก์ฎีกาโต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐาน จึงเป็นฎีกาในข้อเท็จจริง ต้องห้ามตามบทบัญญัติดังกล่าว ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัยข้อฎีกาของโจทก์ดังกล่าวในสำนวนหลัง
ค่าใช้จ่ายปรับปรุงซ่อมแซมทรัพย์สินอันเป็นกิจการพิพาทเพื่อประโยชน์ของโจทก์จะใช้สอยและเรียกเก็บค่าบริการ หาใช่เป็นการใช้จ่ายช่วยค่าก่อสร้างกิจการพิพาท จึงมิใช่ค่าใช้จ่ายที่จะถือว่าโจทก์จ่ายค่าตอบแทนให้จำเลยที่ 1เป็นพิเศษยิ่งกว่าการใช้จ่ายเช่ากิจการพิพาทตามสัญญาเช่าธรรมดา
สัญญาเช่าระหว่างโจทก์จำเลยที่ 1 เป็นสัญญาเช่าธรรมดาและโจทก์จำเลยที่ 1 มิได้ตกลงระยะเวลาการเช่าต่อกันไว้ โจทก์จำเลยที่ 1 ย่อมใช้สิทธิเลิกสัญญาต่อกันเมื่อใดก็ได้ ตามคำฟ้องโจทก์บรรยายว่า โจทก์จำเลยที่ 1 ตกลงชำระค่าเช่ากันเป็นรายเดือน การบอกเลิกสัญญาเช่าจึงต้องบอกเลิกสัญญาเช่าในขณะเมื่อสิ้นสุดระยะเวลาอันเป็นกำหนดชำระค่าเช่าได้ทุกระยะ แต่ต้องแจ้งให้คู่สัญญารู้ตัวก่อนชั่วกำหนดระยะเวลาชำระค่าเช่าระยะหนึ่งเป็นอย่างน้อย แต่ไม่จำต้องบอกกล่าวล่วงหน้ากว่าสองเดือน ตาม ป.พ.พ.มาตรา 566 จำเลยที่ 1 แจ้งบอกเลิกการเช่าต่อโจทก์ประมาณกลางเดือนกุมภาพันธ์ 2533 และจำเลยที่ 1 ยื่นคำฟ้องขับไล่โจทก์วันที่ 17 เมษายน 2533 เกินกำหนดระยะเวลาชำระค่าเช่าระยะหนึ่งแล้ว ดังนี้การอยู่ดำเนินกิจการพิพาทของโจทก์ภายหลังจากนั้นเป็นการไม่ชอบ เป็นการกระทำละเมิดต่อจำเลยที่ 1 โจทก์ต้องรับผิดในความเสียหายที่จำเลยที่ 1 พึงได้รับในระหว่างที่โจทก์อยู่ในกิจการพิพาท ไม่ส่งมอบกิจการพิพาทคืนให้จำเลยที่ 1 เมื่อครบกำหนดระยะเวลาชำระค่าเช่าในเดือนต่อมาหลังจากโจทก์รับทราบการบอกเลิกการเช่า
สำนวนแรกเป็นคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ แต่ศาลอุทธรณ์กำหนดค่าทนายความในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์เป็นเงินรวม 15,000 บาท นั้นเกินกว่าอัตราที่กำหนดไว้ตามตาราง 6 ท้ายป.วิ.พ.แม้โจทก์จะมิได้ฎีกาในปัญหาข้อนี้ ศาลฎีกาย่อมกำหนดใหม่ให้ถูกต้องได้