คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3742/2538

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ผู้ร้องแต่ละคนและผู้คัดค้านต่างใช้สิทธิเฉพาะตัวยื่นคำร้องขอแสดงกรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์ในที่ดินการพิจารณาทุนทรัพย์ของคดีสำหรับผู้ร้องแต่ละคนและผู้คัดค้านต้องพิจารณาแต่ละคนแยกกันเมื่อราคาทรัพย์สินที่ผู้ร้องแต่ละคนและผู้คัดค้านเรียกร้องในชั้นฎีกาซึ่งเป็นทุนทรัพย์ที่พิพาทกันชั้นฎีกาไม่เกิน200,000บาทผู้ร้องแต่ละคนและผู้คัดค้านจึงต้องห้ามมิให้ฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา248วรรคหนึ่ง เมื่อศาลเห็นว่าเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมเป็นการจำเป็นที่จะต้องนำพยานหลักฐานอันเกี่ยวกับประเด็นในคดีมาสืบเพิ่มเติมศาลจะเรียกอะไรมาเป็นพยานหลักฐานเพื่อประกอบคดีอีกก็ได้แม้เป็นพยานหลักฐานของคู่ความฝ่ายที่มีหน้าที่นำสืบก่อนซึ่งศาลสั่งงดสืบพยานไปแล้วก็อยู่ในอำนาจที่จะกระทำได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา86 ฎีกาผู้คัดค้านเพียงแต่ขอให้เพิกถอนคำสั่งศาลชั้นต้นที่อนุญาตให้เดินเผชิญสืบและที่อนุญาตให้ผู้ร้องยื่นบัญชีพยานเพิ่มเติมกับให้ผู้ร้องสืบพยานหลังจากสืบพยานผู้คัดค้านเสร็จมิได้ขอให้ศาลฎีกาพิพากษาแก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ให้ผู้คัดค้านชนะคดีมากกว่าคำพิพากษาศาลอุทธรณ์เป็นฎีกาที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ซึ่งต้องเสียค่าขึ้นศาลชั้นฎีกา200บาทตามตาราง1ข้อ2(ข)ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

ย่อยาว

ผู้ร้องทั้งห้ายื่นคำร้องขอว่า นางน่วม พุ่มเพ็ชรผู้เป็นมารดาเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมที่ดินโฉนดที่ 1847 โดยนางน่วมครอบครองเป็นเนื้อที่ประมาณ 8 ไร่ นางน่วมถึงแก่กรรมเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2520 ผู้ร้องทั้งห้าได้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินส่วนที่นางน่วมครอบครองดังกล่าวต่อมาโดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของติดต่อกันเกินกว่า 10 ปี จึงได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์ ขอให้มีคำสั่งว่า ที่ดินโฉนดเลขที่ 1847ตำบลหัวขนอน (บ้านกร่าง) อำเภอศรีประจันต์ จังหวัดสุพรรณบุรีจำนวนเนื้อที่ประมาณ 8 ไร่ เฉพาะส่วนของนางน่วม พุ่มเพ็ชรซึ่งผู้ร้องครอบครองเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ร้องทั้งห้า
ผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 ยื่นคำคัดค้านว่า ผู้คัดค้านที่ 1และที่ 2 เป็นบุตรนางน่วม พุ่มเพ็ชร ที่ดินโฉนดเลขที่ 1847มีเจ้าของถือกรรมสิทธิ์รวม 3 คน คือ ผู้คัดค้านที่ 3 นายดีพุ่มเพ็ชร และนางน่วม พุ่มเพ็ชร ที่ดินดังกล่าวทางด้านทิศเหนือทายาทของนายดีได้ครอบครองเป็นสัดส่วนแล้ว คงเหลือด้านทิศใต้เนื้อที่ประมาณ 12 ไร่เศษ ผู้ร้องที่ 2 ที่ 4 ที่ 5 และผู้คัดค้านทั้งสาม ซึ่งเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมได้ร่วมกันครอบครองโดยยังมิได้แบ่งแยกเป็นสัดส่วน นางน่วมไม่ได้ครอบครองที่ดินเนื้อที่ 8 ไร่ ดังคำร้องขอ แต่ได้ครอบครองร่วมกับผู้คัดค้านที่ 1 ทางด้านทิศใต้ โดยยังมิได้แบ่งแยกเป็นสัดส่วน หลังจากนางน่วมถึงแก่กรรม ผู้คัดค้านที่ 1 ที่ 2 และผู้ร้องที่ 2ที่ 4 ที่ 5 ได้ร่วมกันครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินส่วนของนางน่วมต่อมาโดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของติดต่อกันเป็นเวลาเกินกว่า 10 ปี ดังนั้นผู้คัดค้านที่ 1 ที่ 2และผู้ร้องที่ 2 ที่ 4 ที่ 5 จึงได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินเฉพาะส่วนของนางน่วมโดยการครอบครองปรปักษ์ ส่วนผู้ร้องที่ 1 และที่ 3ไม่ได้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินโฉนดเลขที่ 1847 ดังคำร้องขอแต่ต่างคนต่างมีครอบครัว และย้ายภูมิลำเนาออกไปจากที่ดินดังกล่าวนานประมาณ 30-40 ปีแล้ว โดยไม่เคยเข้ามาเกี่ยวกับที่ดินดังกล่าวอีกเลย ขอให้มีคำสั่งว่า ผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดเลขที่ 1847 ตำบลหัวขนอน (บ้านกร่าง)อำเภอศรีประจันต์ จังหวัดสุพรรณบุรี เฉพาะส่วนของนางน่วมพุ่มเพ็ชร ร่วมกับผู้ร้องที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 โดยการครอบครองปรปักษ์และยกคำร้องขอของผู้ร้องที่ 1 และที่ 3
ผู้คัดค้านที่ 3 ยื่นคำร้องว่า ผู้คัดค้านที่ 3 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินโฉนดเลขที่ 1847 ทางด้านทิศใต้เนื้อที่ประมาณ 12 ไร่เศษ ซึ่งผู้ร้องที่ 2 ที่ 4 ที่ 5 และผู้คัดค้านทั้งสามได้ร่วมกันครอบครองโดยยังมิได้แบ่งแยกเป็นสัดส่วนนางน่วม พุ่มเพ็ชร ไม่ได้ครอบครองที่ดินโฉนดเลขที่ 1847มีเนื้อที่ประมาณ 8 ไร่ ดังคำร้องขอ แต่ได้ครอบครองที่ดินแปลงดังกล่าวทางด้านทิศใต้ร่วมกับผู้คัดค้านที่ 1 โดยยังมิได้แบ่งแยกเป็นสัดส่วน นางน่วมและผู้คัดค้านที่ 1 จึงมีกรรมสิทธิ์ร่วมกันในที่ดินดังกล่าวทางด้านทิศใต้คนละครึ่ง ต่อมาเมื่อปี 2524ซึ่งเป็นเวลาหลังจากที่นางน่วมถึงแก่กรรมแล้ว ผู้คัดค้านที่ 1ได้โอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินแปลงดังกล่าว เฉพาะส่วนของตนให้แก่ผู้คัดค้านที่ 3 ผู้คัดค้านที่ 3 จึงมีกรรมสิทธิ์รวมร่วมกับทายาทของนางน่วมซึ่งครอบครองปรปักษ์ที่ดินดังกล่าวฝ่ายละครึ่งสำหรับผู้ร้องที่ 1 และที่ 3 ไม่ได้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินโฉนดที่ 1847 ดังคำร้องขอเนื่องจากต่างได้ย้ายภูมิลำเนาออกไปจากที่ดินแปลงดังกล่าวนานประมาณ 30-40 ปีแล้ว และไม่เคยเข้ามาเกี่ยวข้องกับที่ดินแปลงดังกล่าว ขอให้ยกคำร้องขอของผู้ร้องทั้งห้า
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าที่ดินพิพาทคือที่ดินส่วนทิศใต้ของที่ดินโฉนดเลขที่ 1847 ตำบลหัวขนอน (บ้านกร่าง) อำเภอศรีประจันต์จังหวัดสุพรรณบุรี ซึ่งมีเนื้อที่ประมาณ 9 ไร่ 1 งาน 4 ตารางวานั้น ครึ่งหนึ่งเฉพาะส่วนของนางน่วม พุ่มเพ็ชรหรือพุ่มเพ็ชร์ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ร้องที่ 2 ที่ 4 ที่ 5 และผู้คัดค้านที่ 1ที่ 2 ร่วมกันโดยการครอบครองปรปักษ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1382 ส่วนอีกครึ่งหนึ่งคงเป็นของผู้คัดค้านที่ 3 ทั้งนี้โดยผู้ร้องที่ 2 ที่ 4 ที่ 5 และผู้คัดค้านทั้งสามยังคงครอบครองร่วมกันยังมิได้แบ่งแยกการครอบครองเป็นสัดส่วน คำร้องขอของผู้ร้องที่ 1 ที่ 3 และคำขออื่นนอกจากนี้ให้ยกเสียทั้งสิ้น
ผู้ร้อง ทั้ง ห้า อุทธรณ์
ผู้คัดค้านทั้งสามอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่อนุญาตให้เดินเผชิญสืบตามคำร้องของผู้ร้องทั้งห้า รับบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมของผู้ร้องทั้งห้าและอนุญาตให้ผู้ร้องทั้งห้านำพยานเข้าสืบหลังจากสืบพยานผู้คัดค้านทั้งสามเสร็จเรียบร้อยแล้ว
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำคัดค้านของผู้คัดค้านที่ 1 นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำสั่งศาลชั้นต้น
ผู้ร้องทั้งห้าและผู้คัดค้านทั้งสามฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ผู้ร้องทั้งห้าฎีกาขอให้พิพากษาว่าที่ดินพิพาทซึ่งอยู่ทางทิศใต้ของที่ดินโฉนดที่ 1847 เนื้อที่ 9 ไร่1 งาน 4 ตารางวา ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ร้องทั้งห้าตามแนวเขตที่ระบุในแผนที่วิวาทโดยการครอบครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1382 ปรากฏว่าแนวเขตที่ดินที่ระบุในแผนที่วิวาทที่ผู้ร้องที่ 1 นำชี้ว่าเป็นของผู้ร้องที่ 1 ซึ่งครอบครองเป็นสัดส่วนเนื้อที่ 2 ไร่ 2 งาน 15 ตารางวา ผู้ร้องที่ 2 นำชี้ว่าเป็นของผู้ร้องที่ 2 ซึ่งครอบครองเป็นสัดส่วนเนื้อที่ 1 ไร่3 งาน 6 ตารางวา ผู้ร้องที่ 3 นำชี้ว่าเป็นของผู้ร้องที่ 3ซึ่งครอบครองเป็นสัดส่วนเนื้อที่ 2 งาน 76 ตารางวา ผู้ร้องที่ 4นำชี้ว่าเป็นของผู้ร้องที่ 4 ซึ่งครอบครองเป็นสัดส่วนเนื้อที่1 ไร่ 2 งาน 22 ตารางวา ผู้ร้องที่ 5 นำชี้ว่าเป็นของผู้ร้องที่ 5 ซึ่งครอบครองเป็นสัดส่วนเนื้อที่ 1 ไร่ 50 ตารางวา ส่วนผู้คัดค้านที่ 1 ฎีกาว่า เดิมที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์รวมระหว่างผู้คัดค้านที่ 3 โดยมิได้แบ่งแยกกรรมสิทธิ์การครอบครองเป็นสัดส่วน นางน่วม พุ่มเพ็ชร เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทกึ่งหนึ่ง ผู้คัดค้านที่ 1 ได้กรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทเฉพาะส่วนของนางน่วมโดยการครอบครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1382 ร่วมกับผู้ร้องที่ 2 ที่ 4 ที่ 5 และผู้คัดค้านที่ 2ผู้คัดค้านที่ 1 ขอให้พิพากษาว่าผู้คัดค้านที่ 1 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ 1 ใน 5 ส่วนของที่ดินเฉพาะส่วนของนางน่วมซึ่งเท่ากับเนื้อที่ 3 งาน 70 4/10 ตารางวา ในชั้นพิจารณาของศาลชั้นต้น คู่ความแถลงรับกันสรุปได้ว่าที่ดินพิพาทราคาไร่ละ 50,000 บาท ดังนั้น ที่ดินที่ผู้ร้องแต่ละคนและผู้คัดค้านที่ 1 เรียกร้องว่าเป็นของตนนั้นมีราคาไม่เกิน 200,000 บาทคดีนี้เป็นคดีที่ผู้ร้องแต่ละคนและผู้คัดค้านที่ 1 ต่างใช้สิทธิเฉพาะตัวตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55 การพิจารณาทุนทรัพย์ของคดีสำหรับผู้ร้องแต่ละคนและผู้คัดค้านที่ 1ต้องพิจารณาแต่ละคนแยกกัน เมื่อปรากฏว่าราคาทรัพย์สินที่ผู้ร้องแต่ละคนและผู้คัดค้านที่ 1 เรียกร้องในชั้นฎีกาซึ่งเป็นทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาไม่เกิน 200,000 บาท ผู้ร้องแต่ละคนและผู้คัดค้านที่ 1 จึงฎีกาในข้อเท็จจริงไม่ได้ เพราะต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคหนึ่ง ฎีกาของผู้ร้องทั้งห้าและผู้คัดค้านที่ 1 ดังกล่าวข้างต้นเป็นฎีกาในข้อเท็จจริง จึงต้องห้ามตามบทกฎหมายดังกล่าว ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
คงมีปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้คัดค้านทั้งสามว่า การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้เดินเผชิญสืบตามคำร้องของผู้ร้องทั้งห้า รับบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมของผู้ร้องทั้งห้า และให้ผู้ร้องทั้งห้าสืบพยานภายหลังที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้งดสืบพยานผู้ร้องทั้งห้าไปแล้ว และหลังจากสืบพยานผู้คัดค้านทั้งสามเสร็จเรียบร้อยแล้วเป็นการชอบหรือไม่ ผู้คัดค้านทั้งสามฎีกาว่า ในชั้นชี้สองสถานศาลชั้นต้นกำหนดให้ผู้ร้องทั้งห้ามีหน้าที่นำสืบก่อน แล้วต่อมามีคำสั่งไม่อนุญาตให้ผู้ร้องทั้งห้าเลื่อนคดีและให้งดสืบพยานผู้ร้องทั้งห้าเสียกับให้นัดสืบพยานผู้คัดค้านทั้งสามต่อไป ครั้นระหว่างสืบพยานผู้คัดค้านและนัดเดินเผชิญสืบของฝ่ายผู้คัดค้าน ผู้ร้องทั้งห้ายื่นคำร้องขอระบุพยานเพิ่มเติมและขออนุญาตนำพยานเข้าสืบกับขอเดินเผชิญสืบด้วย ศาลชั้นต้นกลับมีคำสั่งอนุญาตซึ่งเป็นการไม่ชอบเพราะมีผลเท่ากับว่าศาลชั้นต้นอนุญาตให้ผู้ร้องทั้งห้าเลื่อนคดี และเป็นการเปลี่ยนหน้าที่นำสืบโดยผู้คัดค้านทั้งสามไม่ยินยอม ผู้คัดค้านทั้งสามไม่สามารถถามค้านพยานผู้ร้องทั้งห้าได้เพราะจะเป็นการให้สัตยาบันแก่การพิจารณาที่ผิดระเบียบนั้นเห็นว่า ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 86 วรรคท้ายในกรณีเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม เมื่อศาลเห็นว่าเป็นการจำเป็นที่จะต้องนำพยานหลักฐานอันเกี่ยวกับประเด็นในคดีมาสืบเพิ่มเติม ศาลจะเรียกอะไรมาเป็นพยานหลักฐานเพื่อประกอบคดีอีกก็ได้ แม้จะเป็นพยานหลักฐานของคู่ความฝ่ายที่มีหน้าที่นำสืบก่อนซึ่งศาลสั่งงดสืบพยานไปแล้วก็ตาม ก็อยู่ในอำนาจของศาลที่จะกระทำได้ ซึ่งในคดีนี้ศาลชั้นต้นก็หยิบยกเหตุผลในคำสั่งว่าหากศาลสูงไม่เห็นด้วยกับคำสั่งที่ตัดพยานผู้ร้องก็อาจย้อนสำนวนมาให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาใหม่ทำให้เกิดความเสียหายแก่คู่ความทุกฝ่าย ฝ่ายผู้คัดค้านที่ได้ทำการสืบพยานไปบ้างแล้วก็ได้สืบพยานอย่างเต็มที่ ทั้งผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 ก็ร้องขอครอบครองปรปักษ์อยู่ด้วย ผู้ร้องหรือผู้คัดค้านจะนำพยานเจ้าสืบก่อนหรือหลังก็ไม่ทำให้ได้เปรียบเสียเปรียบกันแต่อย่างใดนอกจากนี้พยานผู้คัดค้านก็ยังสืบไม่เสร็จ ซึ่งผู้คัดค้านมีสิทธินำพยานเข้าสืบได้อีกจนสิ้นกระแสความ ศาลชั้นต้นจึงอนุญาตให้ผู้ร้องทั้งห้านำพยานเข้าสืบได้ภายหลังที่ได้สืบพยานผู้คัดค้านทั้งสามเสร็จสิ้น และปรากฏว่าศาลชั้นต้นได้ให้โอกาสแก่ผู้คัดค้านทั้งสามถามค้านพยานผู้ร้องทั้งห้าแล้ว แต่ผู้คัดค้านทั้งสามไม่ติดใจถามค้านเอง คำสั่งศาลชั้นต้นดังกล่าวเป็นการปฏิบัติไปโดยชอบ ฎีกาของผู้คัดค้านทั้งสามข้อนี้ฟังไม่ขึ้น อนึ่งฎีกาปัญหาข้อกฎหมายของผู้คัดค้านทั้งสามดังกล่าวข้างต้น เพียงขอให้เพิกถอนคำสั่งของศาลชั้นต้นที่อนุญาตให้เดินเผชิญสืบตามคำร้องของผู้ร้องทั้งห้า และคำสั่งของศาลชั้นต้นที่อนุญาตให้ผู้ร้องทั้งห้ายื่นบัญชีพยานเพิ่มเติมและคำสั่งของศาลชั้นต้นที่อนุญาตให้ผู้ร้องทั้งห้าสืบพยานหลังจากสืบพยานผู้คัดค้านทั้งสามเสร็จเรียบร้อยแล้วเท่านั้น มิได้ขอให้ศาลฎีกาพิพากษาแก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ให้ผู้คัดค้านทั้งสามชนะคดีมากกว่าคำพิพากษาศาลอุทธรณ์โดยอาศัยข้ออ้างตามปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าว เป็นฎีกาที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ ผู้คัดค้านแต่ละคนต้องเสียค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาคนละ 200 บาท ตามตาราง 1ข้อ 2(ข) ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง แต่ผู้คัดค้านทั้งสามเสียค่าขึ้นศาลชั้นฎีการวมกันมาอย่างคดีมีทุนทรัพย์จึงต้องคืนค่าขึ้นศาลส่วนที่เกินแก่ผู้คัดค้านทั้งสาม”
พิพากษายืน และยกฎีกาของผู้ร้องทั้งห้า และคืนค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาในส่วนที่เกินจาก 600 บาท ให้แก่ผู้คัดค้านทั้งสาม

Share