คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2330/2538

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยทั้งสองต่างยอมตนเข้าเป็นผู้ค้ำประกันการทำงานของด. ต่อโจทก์ซึ่งเป็นหนี้รายเดียวกันแต่ค้ำประกันต่างวาระและสัญญาคนละฉบับกันก็ต้องอยู่ในบังคับแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา682วรรคสองจำเลยทั้งสองจะต้องรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมกันโจทก์จะอ้างว่าคู่กรณีมีเจตนาต้องการให้จำเลยทั้งสองแยกรับผิดเป็นคนละจำนวนกันซึ่งให้มีผลบังคับเป็นอย่างอื่นจากบทบัญญัติของกฎหมายไม่ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า นายเดชา น้อยยุ่น เป็นลูกจ้างจำเลยตำแหน่งพนักงานการเงิน มีหน้าที่เก็บรวบรวมเงินสดและเช็คซึ่งพนักงานขายมอบในแต่วันเข้าบัญชีเงินฝากของโจทก์ โดยมีจำเลยที่ 2 และที่ 3ทำสัญญาค้ำประกันยอมรับผิดในวงเงินคนละ 50,000 บาท เมื่อวันที่8 เมษายน 2537 นายเดชาร่วมกับนายชาญ น้อยลา พนักงานของโจทก์ยักยอกเงินของโจทก์รวม 413,213 บาท โจทก์ได้ร้องทุกข์ไว้ ต่อมายึดเงินคืนจากนายเดชาได้ 159,000 บาท ปรากฎว่าศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกนายเดชาและนายชาญคนละ 1 ปี6 เดือน กับให้คืนเงินส่วนที่ขาดอีก 253,613 บาท โจทก์ได้มีหนังสือบอกกล่าวทวงถามให้จำเลยทั้งสองในฐานะผู้ค้ำประกันชำระหนี้ในวงเงินค้ำประกัน แต่จำเลยทั้งสองเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองชำระเงินคนละ 51,250 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของต้นเงิน 50,000 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลย ที่ 1 ขาดนัด และ ขาดนัดพิจารณา
จำเลย ที่ 2 ไม่ให้ การ และ ไม่สืบ พยาน
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า กรณีของจำเลยทั้งสองเป็นการค้ำประกันการทำงานของนายเดชาตลอดระยะเวลาทำงานถือเป็นหนี้รายเดียวกัน จึงเป็นกรณีบุคคลหลายคนยอมตนเข้าเป็นผู้ค้ำประกันในหนี้รายเดียวกันจำเลยทั้งสองจึงต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์อย่างลูกหนี้ร่วมในวงเงินที่ค้ำประกันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 682 วรรคสอง โจทก์มีสิทธิเรียกให้จำเลยทั้งสองร่วมรับผิดในวงเงินที่ค้ำประกัน 50,000 บาท มิใช่จำเลยแต่ละคนต้องรับผิดต่อโจทก์ในวงเงิน 50,000 บาท ตามนัยคำพิพากษาศาลฎีกาที่2243/2536 กับจำเลยทั้งสองต้องรับผิดในดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของวงเงินที่ค้ำประกันนับแต่วันผิดนัดจนกว่าจะชำระเสร็จ ซึ่งโจทก์ขอคิดดอกเบี้ยนับแต่วันครบกำหนดตามหนังสือบอกกล่าวทวงถามถึงวันฟ้องเป็นเงิน 1,250 บาท จึงให้เท่าที่โจทก์ขอ พิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 51,250 บาทพร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของต้นเงิน 50,000 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
โจทก์ อุทธรณ์ ต่อ ศาลฎีกา
ศาลแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้เป็นยุติว่านายเดชาเข้าทำงานเป็นลูกจ้างโจทก์มีจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันต่อโจทก์โดยยอมรับผิดชดใช้ค่าเสียหายที่นายเดชาก่อให้เกิดขึ้นในระหว่างที่ทำงานกับโจทก์ในวงเงินคนละไม่เกิน50,000 บาท ตามสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.6 และ จ.7 ระหว่างที่นายเดชาเป็นลูกจ้างโจทก์นั้น เมื่อวันที่ 8 เมษายน 2537นายเดชาร่วมกับนายชาญพนักงานติดรถของโจทก์ยักยอกเงินของโจทก์ที่พนักงานขายนำมามอบให้เพื่อนำเข้าบัญชีของโจทก์จำนวน 413,213 บาทต่อมาโจทก์ยึดเงินคืนได้จากนายเดชาจำนวน 159,000 บาท คงเหลือค่าเสียหายที่ต้องชดใช้คืนแก่โจทก์จำนวน 253,613 บาท มีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 จะต้องรับผิดตามสัญญาค้ำประกันเพียงใด พิเคราะห์แล้ว ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา682 วรรคสอง บัญญัติว่า “ถ้าบุคคลหลายคนยอมตนเข้าเป็นผู้ค้ำประกันในหนี้รายเดียวกันไซร้ ท่านว่าผู้ค้ำประกันเหล่านั้นมีความรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมกัน ถึงแม้มิได้เข้ารับประกันรวมกัน” คดีนี้จำเลยที่ 1 ทำสัญญาค้ำประกันเมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2536 ตามเอกสารหมาย จ.6 ส่วนจำเลยที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกันเมื่อวันที่18 เมษายน 2536 ตามเอกสารหมาย จ.7 โดยต่างยอมตนเข้าเป็นผู้ค้ำประกันการทำงานของนายเดชาต่อโจทก์ซึ่งเป็นหนี้รายเดียวกันแม้การค้ำประกันจะทำขึ้นต่างวาระกันและเป็นคนละฉบับกัน ก็ตกอยู่ในบังคับแห่งบทบัญญัติดังกล่าวที่ผู้ค้ำประกันจะต้องรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมกัน ที่โจทก์ฎีกาอ้างว่าเหตุที่ทำสัญญาค้ำประกันดังกล่าว ก็โดยคู่กรณีมีเจตนาเป็นอย่างอื่นเพื่อต้องการให้ผู้ค้ำประกันแยกรับผิดเป็นคนละจำนวนกัน ไม่อาจปรับได้กับบทบัญญัติดังกล่าวข้างต้นนั้น เห็นว่า เมื่อมีกฎหมายบัญญัติไว้โดยเฉพาะซึ่งอาจปรับได้กับข้อเท็จจริงในคดีนี้แล้ว โจทก์จะอ้างเหตุอื่นเพื่อตีความกฎหมายให้มีผลบังคับเป็นอย่างอื่นหาชอบไม่ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมรับผิดตามสัญญาค้ำประกันในวงเงิน 50,000 บาท ชอบแล้ว”
พิพากษายืน

Share