คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 567/2538

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์ที่2ซึ่งเป็นบุตรของโจทก์ที่1กับผู้ตายอาศัยอยู่บ้านเดียวกับโจทก์ที่1การที่โจทก์ที่1จ้างม.มาทำงานบ้านทุกอย่างที่ผู้ตายเคยทำอยู่แทนผู้ตายโจทก์ที่2ย่อมได้รับประโยชน์จากการทำงานของม. ด้วยทั้งโจทก์ที่2ก็มิได้จ้างบุคคลอื่นมาช่วยทำงานอีกเมื่อศาลพิพากษาให้จำเลยใช้ค่าเสียหายเป็นค่าขาดแรงงานในครอบครัวของผู้ตายซึ่งเป็นภริยาโจทก์ที่1ซึ่งถึงแก่ความตายเนื่องจากการทำละเมิดของจำเลยแก่โจทก์ที่1แล้วความเสียหายของโจทก์ที่2ในส่วนนี้ย่อมหมดไปโจทก์ที่2ไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายในส่วนนี้อีก

ย่อยาว

คดีนี้ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษารวมกันกับคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 10256/2532 ระหว่าง นายประศาสน์ ประสิทธิ์กุศลโจทก์ นายสามารถ โพธิ์ขาวกับพวกรวม 3 คน จำเลยบริษัทนิวแฮมพ์เชอร์ อินชัวรันส์ จำกัด จำเลยร่วมและคดีหมายเลขแดงที่ 10258/2532 ระหว่าง นางสาวกัญญาประสิทธิ์กุศล โจทก์ นายสามารถ โพธิ์ขาวกับพวกรวม 3 คนจำเลย บริษัทนิวแฮมพ์เชอร์ อินชัวรันส์ จำกัด จำเลยร่วมแต่คดีดังกล่าวถึงที่สุดแล้ว คงขึ้นสู่การพิจารณาของศาลฎีกาเฉพาะคดีนี้ เพื่อความสะดวกให้เรียก นายประศาสน์ ประสิทธิ์กุศลว่าโจทก์ที่ 1 นางสาวรวงพร ประสิทธิ์กุศล ว่าโจทก์ที่ 2นางสาวกัญญา ประสิทธิ์กุศล ว่าโจทก์ที่ 3 ส่วนจำเลยทั้งสามและจำเลยร่วมทั้งสามสำนวนให้เรียกตามเดิม
โจทก์ที่ 2 ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 12 สิงหาคม 2528 จำเลยที่ 1ลูกจ้างหรือตัวแทนของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งขณะปฏิบัติหน้าที่ในทางการที่จ้างหรือปฏิบัติหน้าที่ไปในทางธุรกิจให้จำเลยที่ 2และที่ 3 ได้ขับรถโดยสารปรับอากาศหมายเลขทะเบียน 10-0148กรุงเทพมหานคร จากจังหวัดนครศรีธรรมราชมาตามถนนเพชรเกษมมุ่งหน้าไปยังกรุงเทพมหานคร พลิกคว่ำไปตามไหล่เขาด้านขวามือของรถโดยสาร นางจำเนียร ประสิทธิ์กุศล มารดาของโจทก์ที่ 2ถึงแก่ความตาย โจทก์ที่ 2 ได้จัดการเกี่ยวกับศพนางจำเนียรประสิทธิ์กุศล โดยเสียค่าจ้างรถบรรทุกศพ ค่าโลงศพ ค่าธูปเทียนเป็นเงิน 8,765 บาท ค่าโทรศัพท์ทางไกลเกี่ยวกับการรับศพเป็นเงิน550 บาท ค่าจ้างรถติดต่อเกี่ยวกับศพจากกรุงเทพมหานครกับจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ไปและกลับเป็นเงิน 3,000 บาท ค่าจ้างโกดังเก็บศพ 3,430 บาท ค่าจัดเลี้ยงรับรองแขกที่มาในงานศพ 36,680 บาทค่าทำบุญ 7 วัน 7,800 บาท ค่าทำบุญ 100 วัน เป็นเงิน 9,200 บาทค่าทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้ตายต้องใช้เงิน 70,000 บาทโจทก์ที่ 2 ต้องขาดแรงงานในครัวเรือนปีละ 12,000 บาท ขอคิดเป็นเวลา 7 ปี เป็นเงิน 87,000 บาท รวม 9 รายการ เป็นเงิน 223,425บาท ขอคิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันละเมิดจนถึงวันฟ้องเป็นดอกเบี้ย 15,360 บาท รวมเป็นเงิน 238,785 บาทขอให้จำเลยทั้งสามร่วมกันหรือแทนกันชำระเงินแก่โจทก์ที่ 2จำนวน 238,785 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลย ที่ 1 ขาดนัด ยื่นคำให้การ และ ขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 ให้การว่า ค่าเสียหายของโจทก์ที่ 2 เกินความจริง
จำเลยที่ 3 ให้การว่า ค่าเสียหายของโจทก์ที่ 2เกินความเป็นจริง
จำเลยที่ 2 ขอให้ศาลชั้นต้นหมายเรียกบริษัทนิวแฮมพ์เชอร์อินชัวรันส์ จำกัด เข้ามาเป็นจำเลยร่วม ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาต
จำเลยร่วมให้การว่า จำเลยร่วมเป็นผู้ออกกรมธรรม์ประกันภัยให้แก่จำเลยที่ 2 แต่ออกกรมธรรม์หลังเกิดเหตุแล้ว ข้อตกลงตามกรมธรรม์ประกันภัยเป็นโมฆะ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า ให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ร่วมกันชำระเงินให้โจทก์ที่ 1 จำนวน 170,485 บาท ให้โจทก์ที่ 2จำนวน 154,825 บาท ให้โจทก์ที่ 3 จำนวน 243,123 บาทพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี ในต้นเงินแต่ละจำนวนนับแต่วันละเมิดจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยร่วมรับผิดต่อโจทก์ที่ 1 และที่ 3 จำนวนคนละ 10,000 บาท และรับผิดต่อโจทก์ที่ 2 จำนวน 100,000 บาท
จำเลย ที่ 2 และ จำเลยร่วม อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3ร่วมกันชำระเงินให้โจทก์ที่ 2 จำนวน 104,425 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ ที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “สำหรับฎีกาของโจทก์ที่ 2 ในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยอื่นนั้น ข้อเท็จจริงที่ยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ฟังได้ว่า โจทก์ที่ 1 เป็นสามีของนางจำเนียร ประสิทธิ์กุศลโจทก์ที่ 2 และที่ 3 เป็นบุตรของโจทก์ที่ 1 กับนางจำเนียรเมื่อวันที่ 12 สิงหาคม 2528 จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ขับรถยนต์โดยสารหมายเลขทะเบียน 10-0148กรุงเทพมหานคร ในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 และที่ 3รับผู้โดยสารจากจังหวัดนครศรีธรรมราชมากรุงเทพมหานครมีโจทก์ที่ 1 และที่ 3 กับนางจำเนียรโดยสารมาด้วย เมื่อรถยนต์แล่นมาถึงตำบลทรายทอง อำเภอบางสะพานน้อย จังหวัดประจวบคีรีขันธ์จำเลยที่ 1 ขับรถด้วยความประมาทเป็นเหตุให้รถยนต์คันดังกล่าวพลิกคว่ำ ทำให้โจทก์ที่ 1 และที่ 3 ได้รับอันตรายสาหัสนางจำเนียรถึงแก่ความตาย
พิเคราะห์แล้ว โจทก์ที่ 2 ฎีกาว่า โจทก์ที่ 2 ฟ้องเรียกค่าขาดแรงงานในครอบครัวที่มารดาโจทก์ที่ 2 ถึงแก่ความตายเนื่องจากการทำละเมิดของจำเลยทั้งสาม ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาว่าโจทก์ไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายส่วนนี้เพราะไม่มีสิทธิที่จะได้รับค่าอุปการะเลี้ยงดูย่อมไม่ถูกต้องเนื่องจากเป็นคนละเรื่องกันนั้นโจทก์ที่ 2 เบิกความว่า ในระหว่างที่นางจำเนียรมีชีวิตอยู่มีหน้าที่ปฏิบัติหน้าที่ในครัวเรือน โดยดูแลบ้านและทำกับข้าวโจทก์ที่ 1 เบิกความและตอบทนายจำเลยที่ 2 ถามค้านว่า หลังจากนางจำเนียรถึงแก่ความตายแล้วโจทก์ที่ 1 ได้ว่าจ้างนางมณีรัตน์มาดูแลทำความสะอาดบ้าน ประกอบอาหารและซักเสื้อผ้าให้บุตรด้วยปรากฏตามคำฟ้องว่าโจทก์ที่ 1 และที่ 2 อาศัยอยู่บ้านเดียวกันและโจทก์ที่ 2 ตอบทนายจำเลยที่ 2 ถามค้านว่า โจทก์ที่ 1ได้ว่าจ้างบุคคลอื่นมาทำงานแทนนางจำเนียร โจทก์ที่ 1 ได้ฟ้องเรียกเงินส่วนนี้แล้ว ส่วนโจทก์ที่ 2 ไม่ได้ว่าจ้างส่วนนี้อีกเห็นว่า เมื่อโจทก์ที่ 1 และที่ 2 อาศัยอยู่บ้านเดียวกัน การที่โจทก์ที่ 1 ได้ว่าจ้างนางมณีรัตน์มาทำงานบ้านทุกอย่างที่นางจำเนียรเคยทำอยู่แทนนางจำเนียรแล้ว โจทก์ที่ 2ย่อมได้รับผลประโยชน์จากการทำงานของนางมณีรัตน์ด้วย และโจทก์ที่ 2 ก็ไม่ได้ว่าจ้างให้บุคคลอื่นมาช่วยทำงานอีก ดังนั้นแม้โจทก์ที่ 2 จะมีสิทธิได้รับความเสียหายในส่วนนี้ แต่ก็เป็นค่าเสียหายในเรื่องเดียวกันกับที่โจทก์ที่ 1 ฟ้องเรียกมาและศาลล่างทั้งสองก็ได้พิพากษาให้จำเลยทั้งสามใช้ค่าเสียหายส่วนนี้ให้แก่โจทก์ที่ 1 แล้ว ความเสียหายของโจทก์ที่ 2ในส่วนนี้ย่อมหมดไป โจทก์ที่ 2 จึงไม่มีสิทธิที่จะเรียกค่าเสียหายส่วนนี้อีก ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาไม่ให้ค่าเสียหายส่วนนี้แก่โจทก์ที่ 2 ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล”
พิพากษายืน

Share