แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การที่โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยออกเช็คพิพาทมอบให้แก่โจทก์เพื่อชำระหนี้ค่าอิฐแดงย่อมพอฟังข้อเท็จจริงได้ว่าจำเลยออกเช็คพิพาทเพื่อชำระหนี้ค่าซื้ออิฐแดงแก่โจทก์นั่นเองอันเป็นหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมายอยู่ในตัวเข้าองค์ประกอบความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คพ.ศ.2534มาตรา4แล้วโจทก์หาจำต้องบรรยายฟ้องให้ปรากฏข้อความว่า”จำเลยออกเช็คเพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมาย”อันเป็นถ้อยคำตามตัวบทกฎหมายดังที่จำเลยยกขึ้นอ้างในฎีกาไม่และปัญหาตามที่จำเลยยกขึ้นฎีกานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยแม้จำเลยจะไม่ได้ยกขึ้นในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์จำเลยก็ยกขึ้นฎีกาในชั้นฎีกาได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา195วรรคสองประกอบด้วยมาตรา225
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยออกเช็คธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)สาขาวังสะพุง สั่งจ่ายเงินจำนวน 78,000 บาทมอบให้แก่โจทก์เพื่อเป็นการชำระหนี้ค่าอิฐแดง เมื่อเช็คดังกล่าวถึงกำหนดชำระเงินโจทก์ได้นำไปขอรับเงินจากธนาคารตามเช็ค ปรากฎว่าธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2537 โดยให้เหตุผลว่า”โปรดติดต่อผู้สั่งจ่าย” โจทก์ติดตามทวงถามจำเลยให้ชำระเงินตามเช็คแล้วหลายครั้งจำเลยเพิกเฉย ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายทั้งนี้จำเลยมีเจตนาออกเช็คโดยไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็คเหตุเกิดที่ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สาขาวังสะพุงตำบลวังสะพุง อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
จำเลย ให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4 ให้จำคุก 6 เดือน จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณานับเป็นเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 คงจำคุก 3 เดือน
จำเลยอุทธรณ์ขอให้ลงโทษสถานเบาและรอการลงโทษ
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษจำคุกจำเลย 2 เดือน ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78แล้วคงจำคุก 1 เดือน นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกาขอให้รอการลงโทษ โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้น อนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่จำเลยฎีกาในข้อแรกว่า คำฟ้องของโจทก์เพียงบรรยายว่า จำเลยออกเช็คให้โจทก์เพื่อชำระหนี้ค่าอิฐแดง แต่ตามกฎหมายที่โจทก์ขอให้ลงโทษ บัญญัติว่า “ผู้ใดออกเช็คเพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริง และบังคับได้ตามกฎหมายโดยมีลักษณะหรือมีการกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ ผู้ออกเช็คมีความผิด” เมื่อโจทก์ไม่บรรยายฟ้องว่า จำเลยอกเช็คเพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมายแล้ว การกระทำตามที่ฟ้องจึงไม่ผิดกฎหมายไม่ชอบที่จะลงโทษจำเลยตามคำฟ้องได้นั้น ศาลฎีกาเห็นว่าการที่โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยออกเช็คพิพาทมอบให้แก่โจทก์เพื่อชำระหนี้ค่าอิฐแดง ย่อมพอฟังข้อเท็จจริงได้ว่าจำเลยออกเช็คพิพาทเพื่อชำระหนี้ค่าซื้ออิฐแดงแก่โจทก์นั่นเองอันเป็นหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมายอยู่ในตัวเข้าองค์ประกอบความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คพ.ศ. 2534 มาตรา 4 ที่ว่า ผู้ใดออกเช็คเพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมายนั้นแล้ว ส่วนองค์ประกอบความผิดตามกฎหมายที่โจทก์ขอให้ลงโทษในองค์ประกอบข้ออื่น นอกไปจากนี้นั้นจำเลยมิได้ยกขึ้นเป็นข้อโต้เถียง ดังนั้นการกระทำของจำเลยตามคำฟ้องจึงครบองค์ประกอบความผิดตามกฎหมายที่โจทก์ขอให้ลงโทษแล้ว จึงเป็นความผิดตามที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษมา ปัญหาตามที่จำเลยยกขึ้นฎีกานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยจะไม่ได้ยกขึ้นในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 1จำเลยก็ยกขึ้นฎีกาในชั้นฎีกาได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 195 วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 225
ส่วนที่จำเลยฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงโดยขอให้ศาลฎีกาใช้ดุลพินิจรอการลงโทษแก่จำเลยนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า จำเลยออกเช็คพิพาทสั่งจ่ายเงินจำนวน 78,000 บาท เพื่อชำระหนี้ค่าซื้ออิฐแดงแก่โจทก์ เมื่อธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินในวันที่ 3 มิถุนายน 2537แล้วจำเลยมิได้ชำระเงินให้แก่โจทก์เพื่อบรรเทาความเสียหายแก่โจทก์เลยจนเวลาล่วงเลยมากว่า 2 ปี แล้ว นับได้ว่าจำเลยก่อความเสียหายแก่โจทก์มิใช่น้อย ดังนั้นที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ใช้ดุลพินิจลงโทษและลดโทษแก่จำเลยแล้ว เหลือเพียงโทษจำคุก 1 เดือนโดยไม่รอการลงโทษจำคุกแก่จำเลย จึงเหมาะสมกับสภาพความผิดแล้วไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาจะเปลี่ยนแปลงแก้ไข
พิพากษายืน