คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3396/2529

แหล่งที่มา : สำนักงาน ส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยที่3เป็นพนักงานสอบสวนได้รับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชาให้ทำการสอบสวนกรณีมีผู้ร้องทุกข์ว่ารถยนต์คันพิพาทถูกยักยอกจำเลยที่3จึงมีหน้าที่ตามกฎหมายในการแสวงหาข้อเท็จจริงรวบรวมหลักฐานและดำเนินการทั้งหลายเกี่ยวกับความผิดเพื่อทราบข้อเท็จจริงพิสูจน์ความผิดและเอาตัวผู้กระทำผิดมาฟ้องลงโทษการที่จำเลยที่3สืบสวนทราบว่ารถยนต์คันพิพาทอยู่ในความครอบครองของโจทก์แล้วจำเลยที่3ยึดรถยนต์ดังกล่าวจากโจทก์ไปเพื่อประโยชน์ในการดำเนินคดีจึงเป็นการกระทำตามอำนาจหน้าที่โดยชอบด้วยกฎหมายจำเลยที่3จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ซื้อรถยนต์ใช้แล้วยี่ห้อ บี.เอ็ม.ดับบลิว.หมายเลขทะเบียน 4 ก-5030 กรุงเทพมหานคร โดยเปิดเผยและโดยสุจริตจากจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นพ่อค้าขายรถยนต์ที่ตลาดนัดรถยนต์สามแยกไฟฉายอ็นเป็นท้องตลาดที่พ่อค้าเสนอขายรถยนต์ และเพื่อความสะดวกในการรับชำระเงินค่ารถยนต์จากโจทก์ จำเลยที่ 1 ติต่อสมยอมกับจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นนิติบุคคลจัดการโอนรถดังกล่าวเป็นของจำเลยที่ 2 แล้วจำเลยที่ 2 ทำสัญญาให้โจทก์เช่าซื้อ โจทก์ชำระค่าเช่าซื้อถึงงวดที่ 16 จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นพนักงานสอบสวนสังกัดกรมตำรวจซึ่งเป็นจำเลยที่ 4 ได้ยึดรถคันดังกล่าวไป โดยปราศจากเหตุผลเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันส่งมอบรถยนต์หมายเลขทะเบียน 4 ก-5030 หรือใช้ราคาเป็นเงิน 192,120 บาท และใช้ค่าเสียหาย 29,600 บาท กับค่าเสียหายนับจากวันถัดจากวันฟ้องเป็นเงินวันละ 200 บาทจนกว่าจะส่งมอบรถยนต์หรือใช้ราคาแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ที่ 2 ให้การปฏิเสธ
จำเลยที่ 3 ที่ 4 ให้การว่าจำเลยที่ 3 ยึดรถยนต์ดังกล่าวไปเพื่อใช้เป็นหลักฐานในการดำเนินคดี จำเลยที่ 3 ปฏิบัติหน้าที่โดยชอบด้วยกฎหมายและโดยสุจริต จำเลยที่ 3 ที่ 4 จึงไม่ต้องรับผิด
จำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นเรียกนางบุญมี ม่วงสกุลและนายสิทธิชัย ตันติสันติสุข เข้ามาเป็นจำเลยร่วม ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้เรียกนางบุญมี ม่วงสกุล เป็นจำเลยที่ 5 เรียกนายสิทธิชัย ตันติสันติสุข เป็นจำเลยที่ 6
จำเลยที่ 5 ให้การปฏิเสธ
จำเลยที่ 6 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ดจำเลยที่ 2 ที่ 5 และ 6 ร่วมกันชำระเงิน120,419.51 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยที่ 2 ที่ 5 และที่ 6 ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์เฉพาะค่าขึ้นศาลเท่าจำนวนที่โจทก์ชนะคดี โดยกำหนดค่าทนายความ2,000 บาท คำขออื่นให้ยก และให้ยกฟ้องคดีสำหรับจำเลยที่ 1 ที่ 3และที่ 4
โจทก์อุทธรณ์ขอให้จำเลยทั้งหกรับผิดตามฟ้อง
จำเลยที่ 2 ที่ 5 อุทธรณ์ขอให้ยกฟ้อง
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป้นว่า ให้จำเลยที่ 1 และที่ 6 ร่วมกันชำระเงิน 154,544 บาทแก่โจทก์และให้ร่วมกันใช้ค่าเสียหายวันละ100 บาท นับจากวันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ยกฟ้องที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 2 และที่ 5 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ดจำเลยที่ 1 และที่ 6 ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาล เฉพาะค่าขึ้นศาลเท่าที่โจทก์ชนะคดี โดยกำหนดค่าทนายความ1,500 บาทแทนโจทก์ ให้โจทก์ใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์แทนจำเลยที่ 3และที่ 4, 800 บาท และให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลยที่ 2และที่ 5 ทั้งสองศาลโดยกำหนดค่าทนายความให้รวมคนละ 2,000 บาท
โจทก์และจำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าเมื่อประมาณเดือนตุลาคม 2521 โจทก์ซื้อรถยนต์ยี่ห้อ บี.เอ็ม.ดับบลิว. หมายเลขทะเบียน4 ก-5030 กรุงเทพมหานคร ราคา 160,000 บาท จากผู้ค้ารถยนต์ที่ตลาดนัดรถยนต์สามแยกไฟฉาย โจทก์ได้มอบรถยนต์ของโจทก์ยี่ห้อดัทสันราคา 50,000 บาท เงินสดจำนวน 30,000 บาท รวมเป็นเงิน 80,000 บาทชำระราคาแก่ผู้ขาย และผู้ขายได้มอบรถยนต์ที่โจทก์ซื้อแก่โจทก์แล้วส่วนราคาที่เหลืออีกเป็นเงิน 80,000 บาท เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2521ผู้ขายติดต่อให้โจทก์ทำสัญญาซื้อรถยนต์ดังกล่าวจากจำเลยที่ 2ในราคาค่าเช่าซื้อทั้งสิ้นเป็นเงิน 112,020 บาท โดยให้โจทก์ชำระค่าเช่าซื้อเดือนละงวด รวม 30 งวดเป็นเงินเดือนละ 3,734 บาทปรากฎตามเอกสารหมาย จ.3 โจทก์ชำระค่าเช่าซื้อแก่จำเลยที่ 2 แล้วรวม 16 งวดปรากฎตามเอกสารหมาย จ.5 ถึง จ.13 ต่อมาวันที่ 30มิถุนายน 2523 จำเลยที่ 3 พนักงานสอบสวนแผนก 2 กองกำกับการ 1กองปราบปราม ซึ่งสังกัดกรมตำรวจ จำเลยที่ 4 ได้ยึดรถยนต์ดังกล่าวไปจากโจทก์
…ฯลฯ…
ส่วนข้อที่โจทก์ฎีกาว่า จำเลยที่ 3 รู้อยู่แล้ว่าโจทก์ซื้อรถยนต์ตามฟ้องโดยสุจริตได้รับความคุ้มครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1332 จำเลยที่ 3 ไม่มีอำนาจหน้าที่ยึดรถยนต์ดังกล่าว การที่จำเลยที่ 3 ยึดรถยนต์ดังกล่าวเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบ จำเลยที่ 3 อยู่ในสังกัดของกรมตำรวจจำเลยที่ 4 จำเลยที่ 3 ที่ 4 ต้องร่วมกันรับผิดตามฟ้องต่อโจทก์ด้วยนั้น เห็นว่า เนื่องจากนายชัยวัฒน์ร้องทุกข์ต่อกองปราบปรามกรมตำรวจ ว่านายสิทธิชัยยักยอกรถยนต์ตามฟ้องซึ่งเป็นของนายชัยวัฒน์ไป ปรากฎตามเอกสารหมาย ล.8 พันตำรวจเอกสรศรี สุธีศร ผู้บังคับบัญชาของจำเลยที่ 3 สั่งให้จำเลยที่ 3 พนักงานสอบสวนทำการสืบสวนสอบสวน จำเลยที่ 3 จึงมีหน้าที่ตามกฎหมายในการแสวงหาข้อเท็จจริงรวบรวมหลักฐานและดำเนินการทั้งหลายเกี่ยวกับความผิดเพื่อทราบข้อเท็จจริง พิสูจน์ความผิดและเอาตัวผู้กระทำผิดมาฟ้องลงโทษการที่จำเลยที่ 3 สืบสวนทราบว่ารถยนต์ดังกล่าวซึ่งเป็นของนายชัยวัฒน์อยู่ในความครอบครองของโจทก์ จำเลยที่ 3 ยึดรถยนต์ดังกล่าวไปเพื่อประโยชน์ในการดำเนินคดีจึงเป็นการกระทำตามอำนาจหน้าที่โดยชอบด้วยกฎหมาย จำเลยที่ 3 ที่ 4 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์…”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ที่ 6 ชำระค่าเสียหายที่โจทก์ขาดประโยชน์จากการใช้รถยนต์ทั้งสิ้นเป็นเงิน 14,800 บาทแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาของคู่ความทุกฝ่ายให้เป็นพับ.

Share