คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 229/2529

แหล่งที่มา : ADMIN

ย่อสั้น

การครอบครองที่ดินในฐานะผู้เช่าเป็นการครอบครองแทนผู้ให้เช่าย่อมไม่ได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครอง การฟ้องขับไล่และเรียกค่าเสียหายในกรณีที่การเช่ามิได้มีหลักฐานเป็นหนังสือนั้นมิใช่เป็นการฟ้องบังคับตามสัญญาเช่าแต่เป็นการฟ้องโดยอาศัยอำนาจกรรมสิทธิ์ของเจ้าของทรัพย์.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ที่ 1 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 62 ตำบลแม่สาย อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย เนื้อที่1 งานเศษ เมื่อ 10 ปีก่อนฟ้องจำเลยทั้งสองได้เช่าที่ดินดังกล่าวบางส่วนเพื่อปลูกบ้านอยู่อาศัยโดยไม่มีสัญญาเช่าเป็นหนังสือ ค่าเช่าเดือนละ 100 บาท เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2523 โจทก์ที่ 1 ขายที่ดินดังกล่าวพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้โจทก์ที่ 2 ได้แจ้งให้จำเลยทั้วสองขนย้ายทรัพย์สินออกจากที่เช่า จำเลยทั้งสองเพิกเฉยทำให้โจทก์ที่ 2ขาดประโยชน์ที่ควรได้เดือนละไม่น้อยกว่า 1,000 บาท ข้อให้บังคับจำเลยทั้งสองขนย้ายออกไปจากที่ดินและชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ที่ 2
จำเลยที่ 1 ให้การว่า จตำเลยที่ 1ไม่เคยเช่าที่ดินโจกท์ที่พิพาทเป็นของจำเลยที่ 1 ซึ่งจำเลยที่ 1 เข้าครอบครองที่ว่างเปล่าเนื้อที่ประมาณ 40 ตารางวา และปลูกบ้านขึ้นแล้วจำเลยที่ 1 ได้ครอบครองที่พิพาทโดยความสงบ เปิดเผย ในฐานะเป็นเจ้าของตลอดมาเป็นเวลาประมาณ 17 ปีแล้ว ไม่เคยทราบเรื่องการออกโฉนดของโจทก์ที่ 1 และการโอนที่ดินตามโฉนดให้โจทก์ที่ 2 การออกโฉนดและการโอนที่ดินเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตโจทก์ทั้งสองไม่มีอำนาจฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิพากษาขับไล่จำเลยทั้งสองออกจากที่พิพาท และให้ชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ที่ 2
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อเท็จจริงเชื่อว่าจำเลยที่ 1 เข้าอยู่ในที่พิพาทโดยการเช่า แล้ววินิจฉัยข้อกฎหมายว่า เมื่อจำเลยที่ 1เข้าอยู่ในที่พิพาทโดยการเช่า จึงเป็นการครอบครองที่พิพาทไว้แทนโจทก์ที่ 1 แม้จำเลยที่ 1 จะครอบครองที่พิพาทมาเกิน 10 ปีก็หาได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382ไม่ การฟ้องขับไล่และเรียกค่าเสียหายในกรณีที่การเช่ามิได้มีหลักฐานเป็นหนังสือนั้น มิใช่เป็นการฟ้องบังคับตามสัญญาเช่า แต่เป็นการฟ้องโดยอาศัยอำนาจกรรมสิทธิ์ของเจ้าของทรัพย์ เมื่อโจทก์ทั้งสองไม่ประสงค์ให้จำเลยทั้งสองอยู่ในที่พิพาทต่อไปและบอกกล่าวให้ออกแล้ว จำเลยทั้งสองไม่ยอมออก จึงเป็นการอยู่โดยละเมิด โจทก์มีอำนาจฟ้องขับไล่และโจทก์ที่ 2 มีสิทธิเรียกค่าเสียหายได้ พิพากษายืน

Share