คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 52/2529

แหล่งที่มา : สำนักงาน ส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ป.วิ.อ.มาตรา13มิได้บังคับว่าในการพิจารณาของศาลทุกครั้งจะต้องแปลภาษาไทยเป็นภาษาต่างประเทศในกรณีที่จำเลยเป็นชาวต่างประเทศการจะให้มีล่ามแปลหรือไม่เป็นดุลพินิจของศาล แม้ในวันสอบคำให้การจำเลยศาลชั้นต้นจะมิได้จัดล่ามแปลคำฟ้องเป็นภาษาอังกฤษให้แก่จำเลยซึ่งเป็นชาวออสเตรเลียฟังแต่จำเลยยังมิได้ให้การในวันนั้นโดยได้แต่งตั้งทนายความและยื่นคำให้การต่อศาลในอีกหนึ่งเดือนต่อมาโดยมีลายมือชื่อของล่ามลงไว้ด้วยแสดงว่าจำเลยเข้าใจคำฟ้องที่ศาลได้อ่านให้ฟังในวันสอบคำให้การจำเลยแล้วทั้งต่อมาก็ปรากฏว่ามีล่ามแปลทุกครั้งที่มีการพิจารณาคดีจึงไม่เป็นเหตุให้เพิกถอนและพิจารณาพิพากษาใหม่.

ย่อยาว

ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ลงโทษจำคุกจำเลยทั้งสองตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 ตามฟ้องโจทก์ จำเลยที่ 2ฎีกาว่า ศาลมิได้ปฏิบัติให้เป็นไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 13 โดยไม่มีล่ามแปลให้จำเลยที่ 2 ในวันชี้สองสถาน กระบวนพิจารณาของศาลทั้งหมดเป็นโมฆะ ขอให้สั่งยกเลิกกระบวนพิจารณาศาลชั้นต้น ทำการพิจารณาและพิพากษาต่อไป
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่าในวันชี้สองสถานของศาลอาญาปรากฏตามรายงานกระบวนพิจารณาลงวันที่ 1 กรกฎาคม 2526 ว่า ในการที่ศาลอ่านคำฟ้องและอธิบายคำฟ้องให้จำเลยทั้งสองฟังนั้น ไม่ปรากฏว่าได้ใช้ล่ามแปลภาษีไทยเป็นภาษาอังกฤษให้จำเลยทั้งสองซึ่งเป็นชาวออสเตรเลียฟัง ในรายงานกระบวนพิจารณามีว่าจำเลยขอต่อสู้คดีและจะให้การในวันนัดพิจารณาคดี และจำเลยทั้งสองจะหาทนายความเอง จึงมีปัญหาตามที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า การที่ศาลชั้นต้นไม่ปฏิบัติให้เป็นไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 13 นั้น จะเป็นเหตุให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาทั้งหมดของศาลชั้นต้นหรือไม่ เห็นว่าในวันชี้สองสถานแม้จะไม่มีล่ามแปลให้จำเลยทั้งสองฟังก็ตาม แต่ต่อมาปรากฏว่าในวันที่ 2 สิงหาคม 2526 จำเลยทั้งสองได้แต่งตั้งทนายความและยื่นคำให้การต่อศาลโดยมีลายมือชื่อของล่ามได้ลงไว้ด้วย จึงแสดงให้เห็นว่าจำเลยทั้งสองต่างเข้าใจคำฟ้องที่ศาลได้อ่านให้ฟังในวันชี้สองสถานแล้วนอกจากนี้ปรากฏตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลภายหลังที่มีการสืบพยานโจทก์และจำเลยทุกครั้งว่ามีล่ามแปลโดยล่ามได้ลงลายมือชื่อไว้ในรายงานกระบวนพิจารณา เมื่อได้พิจารณาประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 13 ซึ่งบัญญัติว่าในการพิจารณาให้ใช้ภาษาไทย แต่ถ้ามีการจำเป็นต้องแปลภาษาไทยเป็นภาษาต่างประเทศก็ให้ใช้ล่ามแปล บทบัญญัติดังกล่าวมิได้บังคับว่าในการพิจารณาของศาลทุกครั้งจะต้องแปลภาษาไทยเป็นภาษาต่างประเทศในกรณีที่จำเลยเป็นชาวต่างประเทศ การจะใช้ล่ามแปลหรือไม่จึงเป็นดุลพินิจของศาล การที่ศาลชั้นต้นมิได้ใช้ล่ามแปลในวันชี้สองสถานดังกล่าวมาแล้ว น่าเชื่อว่าศาลชั้นต้นได้พิจารณาเล็งเห็นว่ายังไม่จำเป็นเมื่อข้อเท็จจริงปรากฏต่อมาว่า การยื่นคำให้การของจำเลยทั้งสอง โดยแต่งทนายความให้ว่าต่างและต่อมามีล่ามแปลทุกครั้งที่มีการพิจารณานั้น ดังนั้นที่ศาลชั้นต้นไม่ได้ใช้ล่ามแปลในวันชี้สองสถานจึงไม่ทำให้กระบวนพิจารณาของศาลเสียไป อันจะเป็นเหตุให้เพิกถอนและพิจารณาพิพากษาใหม่ ฎีกาจำเลยที่ 2 ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน.

Share