คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5058/2531

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ตั้งแต่ก่อนเกิดเหตุคดีนี้จำเลยมีอาการทางประสาท ชอบนั่งคอตก ไม่พูดกับใคร กับงานไม่ได้ ไล่ชกต่อยมารดา เคยจะฟันพี่ชาย อาการดังกล่าวเกิดขึ้นเป็นครั้งคราว คราวละประมาณ30 นาที พูดด้วยไม่รู้เรื่อง บางครั้งก็ต้องใช้โซ่ล่ามจำเลยไว้ วันเกิดเหตุโจทก์ร่วมนอนเล่นอยู่บนบ้าน จำเลยไปที่ใต้ถุนบ้าน โจทก์ร่วมและพูดคนเดียวโดยไม่มีใครรู้สาเหตุว่า “คนแก่อะไร พูดไม่เป็นคำพูด” โจทก์ร่วมได้ยินเสียงจำเลยจึงลุกขึ้นไปที่ประตูถามว่า “เมื่อตะกี้มึงพูดว่าอะไร” จำเลยตอบว่า”เรื่องอะไรเกิดขึ้นไม่สนใจ อย่าใช้เสียงดัง ถ้าส่งเสียงดังจะฆ่าให้ตาย” หลังจากนั้นจำเลยเดินไปใช้ไม้ขีดไฟจุดเผาหลังคายุ้งข้าวของโจทก์ร่วมแล้วหลบหนีไป เช่นนี้จึงไม่อาจรับฟังได้ว่าสาเหตุคดีนี้เกิดขึ้นเพราะโจทก์ร่วมได้ว่ากล่าวจำเลยจนเป็นเหตุให้จำเลยโกรธแค้นขึ้นมาอย่างฉับพลัน กรณีฟังได้ว่าจำเลยซึ่งป่วยเป็นโรคจิตประเภทชนิดเรื้อรังได้กระทำความผิดในขณะที่มีจิตบกพร่องหรือเป็นโรคจิต

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 218
ครั้งแรกจำเลยให้การปฎิเสธ ต่อมาจำเลยขอถอนคำให้การปฎิเสธเดิมเป็นให้การรับสารภาพ ระหว่างการพิจารณาจำเลยอ้างว่าเป็นผู้วิกลจริตและไม่สามารถต่อสู้คดีได้ ศาลชั้นต้นส่งตัวจำเลยไปให้แพทย์ตรวจอาการของจำเลยแล้วเห็นว่า จำเลยเป็นผู้วิกลจริตและไม่สามารถต่อสู้คดีได้ จึงให้จำหน่ายคดีชั่วคราวต่อมาแพทย์ได้รายงานว่าจำเลยสามารถต่อสู้คดีได้ ศาลชั้นต้นจึงให้ยกคดีนี้ขึ้นพิจารณาต่อไป
นายเที่ยว สมศักดิ์ ผู้เสียหาย ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 218 เมื่อพิเคราะห์ถึงสภาพจิตของจำเลยแล้ว เห็นสมควรลงโทษจำคุกตลอดชีวิตจำเลยให้การรับสารภาพมีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 25 ปี
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า จำเลยกระทำผิดในขณะมีจิตบกพร่องโรคจิตหรือจิตฟั่นเฟือน แต่ยังสามารถรู้ผิดอยู่อย่าง พิพากษาแก้เป็นลงโทษจำคุก 2 ปี รับสารภาพลดโทษกึ่งหนึ่งคงจำคุก 1 ปี
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ในระหว่างพิจารณาคดีนี้เมื่อศาลสืบพยานโจทก์ไปแล้ว 1 ปาก ทนายจำเลยซึ่งเป็นทนายความที่ศาลขอแรงให้ช่วยว่าความยื่นคำร้องต่อศาลว่า ทนายได้สอบถามข้อเท็จจริงจากจำเลยหลายครั้งแล้ว แต่จำเลยพูดจาไม่รู้เรื่องได้แต่ยิ้มกับพยักหน้า เมื่อสอบถามญาติของจำเลยจึงทราบว่าจำเลยวิกลจริต เคยไปรักษาที่โรงพยาบาลสวนสราญรมย์ จังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งเป็นโรงพยาบาลรักษาผู้ป่วยเป็นโรคจิตเมื่อวันที่ 7 มกราคม 2524 ตามใบรับรองแพทย์ของโรงพยาบาลสวนสราญรมย์ฉบับลงวันที่ 11 มิถุนายน 2525 จึงขอให้ศาลส่งตัวจำเลยไปรับการรักษาก่อน ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ส่งตัวจำเลยไปให้โรงพยาบาลดังกล่าวตรวจดูอาการของจำเลย ต่อมาโรงพยาบาลสวนสราญรมย์ส่งรายงานการวินิจฉัยโรคต่อศาล โดยนายแพทย์ธำรง ทัศนาญชลีแพทย์ผู้ตรวจมีความเห็นว่า จำเลยป่วยเป็นโรคจิตไม่สามารถต่อสู้คดีได้ ปรากฎตามหนังสือของโรงพยาบาลสวนสราญรมย์ ฉบับลงวันที่ 27 กันยายน 2525 และนายแพทย์ธำรงแพทย์ผู้ตรวจจำเลยก็ได้มาให้ถ้อยคำต่อศาลชั้นต้นว่า จำเลยมีอาการป่วยทางจิตชนิดจิตเภทเรื้อรังและไม่สามารถต่อสู้คดีได้ปรากฎตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาล ลงวันที่ 1 ธันวาคม 2525 ศาลชั้นต้นจึงมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีนี้ชั่วคราว และให้ส่งตัวจำเลยไปรับการบำบัดรักษาหลังจากนั้นเป็นเวลา 3 ปีเศษ เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2529โรงพยาบาลสวนสราญรมย์ มีหนังสือแจ้งว่า อาการของจำเลยทุเลาลงและสามารถต่อสู้คดีได้แล้ว ปรากฎตามหนังสือของโรงพยาบาลสราญรมย์ ฉบับลงวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2529 ศาลชั้นต้นจึงมีคำสั่งให้ยกคดีขึ้นพิจารณาใหม่และดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่า จำเลยป่วยเป็นโรคจิตชนิดจิตเภทเรื้อรัง ปัญหาต่อไปมีว่า จำเลยกระทำความผิดคดีนี้ขณะมีจิตบกพร่องหรือเป็นโรคจิตหรือไม่ ได้ความจากโจทก์ร่วมและนางสาววิมล สมศักดิ์ บุตรสาวโจทก์ร่วม ซึ่งเป็นพยานโจทก์ว่า พยานทั้งสองรู้จักจำเลยมาตั้งแต่จำเลยยังเล็ก ๆ และไม่เคยมีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลย นอกจากนี้ขณะเกิดเหตุก็ไม่ปรากฎว่าโจทก์ร่วมกับจำเลยทะเลาะโต้เถียงกันแต่อย่างใด การกระทำของจำเลยจึงเป็นเรื่องผิดปกติจะกระทำเช่นนั้นได้ที่โจทก์ฎีกาว่าวันเกิดเหตุจำเลยเดินไปที่บ้านโจทก์ร่วมและถูกโจทก์ร่วมดังกล่าวเป็นเหตุให้จำเลยเกิดความโกรธแค้นโจทก์ร่วมโดยฉับพลันและขาดความยั้งคิด จึงกระทำความผิดขึ้น จะถือว่าจำเลยวิกลจริตไม่ได้นั้น ได้ความจากโจทก์ร่วมและนางสาววิมล พยานโจทก์เพียงว่าวันเกิดเหตุโจทก์ร่วมนอนเล่นอยู่บนบ้าน จำเลยไปที่ใต้ถุนบ้านโจทก์ร่วม และพูดคนเดียวโดยไม่มีใครรู้สาเหตุว่า “คนแก่อะไรพูดไม่เป็นคำพูด” โจทก์ร่วมได้ยินเสียงจำเลยดังกล่าวจึงลุกขึ้นไปที่ประตู ถามจำเลยว่า “เมื่อตะกี้มึงพูดว่าอะไร” จำเลยตอบว่า “เรื่องอะไรเกิดขึ้นไม่สนใจ อย่าใช้เสียงดัง ถ้าส่งเสียงดังจะฆ่าให้ตาย” หลังจากนั้นจำเลยเดินไปใช้ไม้ขีดไฟจุดเผาหลังคายุ้งข้าวของโจทก์ร่วมแล้วหลบหนีไป เช่นนี้จึงไม่อาจรับฟังได้ว่า สาเหตุคดีนี้เกิดขึ้นเพราะโจทก์ร่วมได้ว่ากล่าวจำเลยจนเป็นเหตุให้จำเลยโกรธแค้นขึ้นมาอย่างฉับพลันดังฎีกาของโจทก์ นอกจากนี้ นายชาญยุทธ์ คเชนทร์ภักดี พยานจำเลย ซึ่งเป็นพี่ชายของจำเลยก็มาเบิกความว่า จำเลยมีอาการทางประสาทมาตั้งแต่ก่อนเกิดเหตุคดีนี้แล้ว คือชอบนั่งคอตกไม่พูดกับใครทำงานไม่ได้ ไล่ชกต่อยมารดา เคยจะฟันพยานด้วย อาการดังกล่าวเกิดขึ้นเป็นครั้งคราว คราวละประมาณ 30 นาที พูดด้วยไม่รู้เรื่องบางครั้งก็ต้องใช้โซ่ล่ามจำเลยไว้ ข้อเท็จจริงในคดีนี้จึงรับฟังได้ว่า จำเลยซึ่งป่วยเป็นโรคจิตเภทชนิดเรื้อรัง ได้กระทำความผิดในขณะที่มีจิตบกพร่องหรือเป็นโรคจิต แต่จำเลยยังสามารถรู้ผิดชอบหรือยังสามารถบังคับตนเองได้บ้าง ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 65 วรรคสอง”
พิพากษายืน

Share